ทีมไทยแลนด์ เตรียมข้อเสนอ นำเข้า LNG - อีเทน สหรัฐแลกลดภาษี
“พิชัย ชุณหวชิร” ถก ปตท. เตรียม 3 แผนพลังงาน เสนอแลกลดภาษีสหรัฐ ทำสัญญา 15 ปีนำเข้า LNG ปีละ 1 ล้านตัน 500 ล้านเหรียญ - เล็งคุยแผน 5 ปีนำเข้าอีเทน 100 ล้านเหรียญ
ที่ประชุมร่วมคณะเจรจาการค้าสหรัฐอเมริกา ระหว่างรัฐบาลและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อวางแผนดำเนินการรับมือนโยบายกำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหาร ปตท. เข้าร่วมหารือ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมฯ เป็นการหารือเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินนโยบายการเจรจาใน “Sector พลังงาน” เบื้องต้นมีข้อสรุปว่า ไทยจะเตรียม 3 แผนพลังงานเจรจาสหรัฐ ได้แก่
1. แผนพลังงาน นำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG ของ ปตท. 1 ล้านตัน มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2569 โดยล็อตแรกจะเซ็นสัญญาสัมปทานระยะเวลา 15 ปี ส่วนราคาซื้อขายจะต้องไปเจรจาต่อรองเพิ่มเติม
โดยราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG รวมค่าขนส่งแล้ว พร้อมย้ำว่าราคาจะต้องคุ้มทุนด้วย โดยแผนดังกล่าวเป็นเดิมของ ปตท. อยู่แล้ว แต่นายพิชัยจะไปย้ำเตือนกับสหรัฐอีกครั้ง
2. แผนพลังงานในอีก 5 ปีข้างหน้า เตรียมทำสัญญาซื้อขายปิโตรเคมี (อีเทน) จำนวน 400,000 ตัน มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจาก ปตท. วิเคราะห์ว่า ปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณลดลง
ในอนาคตอาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ จึงจะใช้โอกาสนี้เข้าเจรจาสหรัฐ หากสำเร็จจะให้ ปตท. เข้าดำเนินการเจรจาขั้นตอนต่อไปทันที
3. แผนในอนาคตเล็งให้ ปตท. เป็นผู้ซื้อและผู้ขายก๊าซ LNG ที่นำเข้าสหรัฐ เพื่อต้องการเป็นฮับรายใหญ่ในภูมิภาค ส่วนรายละเอียดทั้งเงื่อนไขสัญญาจะต้องเจรจากันอีกครั้ง ยืนยันว่า หากราคาแพงเกินตลาดอื่นๆ หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะไม่ซื้อขาย ต้องคำนึงถึงจุดคุ้มทุน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายพิชัย ยอมรับว่า แผนการเจรจาใน Sector พลังงานทั้งหมดนี้ เป็นกลยุทธ์ Win-Win ที่ประเทศไทยและสหรัฐได้ประโยชน์ทั้งคู่ อีกทั้งเป็นแผนที่จำเป็นกับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว หากเป็นไปตามแผนดังกล่าวจะทำให้สหรัฐได้ดุลการค้าไทยเพิ่ม 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แผนใน Sector พลังงานอาจไม่เพียงพอกับการปรับดุลการค้าไทย-สหรัฐ จึงจะต้องดำเนินแผนใน Sector อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น นำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อแปรรูปอาหารสัตว์และส่งออก
“ที่ผ่านมาไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ ราว 40,000 ล้านบาท เมื่อเอา 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หารด้วย 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยขนาดเศรษฐกิจไทย 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ 72% ดังนั้น หากทำให้ดุลการค้าลดลงมี 2 วิธี คือ 1. ไทยจึงต้องนำเข้าเพิ่ม 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 36% 2. ไทยต้องนำเข้ามาและขายออกด้วย จะส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่ขึ้น และทำให้ดุลการค้าลดลง อาจจะเกินดุลการค้าแค่ 17% ตามสมการที่พูด”