posttoday

จับตา ประชุมบอร์ดกสทช.วันนี้ เคาะประมูลคลื่นมือถือ 29 มิ.ย.

21 เมษายน 2568

เปิดไทม์ไลน์ใหม่ประมูลคลื่นมือถือ จับตาประชุมกสทช. 21 เม.ย. เลือก 29 มิ.ย. เคาะราคา 6 ความถี่ มูลค่า 1.2 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)  กสทช. วันนี้ (21 เม.ย.) สำนักงาน กสทช.จะต้องได้ข้อสรุปกรอบระยะเวลาดำเนินการ (ไทม์ไลน์) และกรอบงบประมาณ ในการจัดสรรคลื่นสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 

หลังจากได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เผยแพร่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล จำนวน 6 คลื่นความถี่ ประกอบด้วย คลื่น 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26GHz ไปแล้ว 2 รอบ คือในวันที่ 6 ก.พ. และวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับไทม์ไลน์ที่มีการนำเสนอบอร์ดตั้งแต่การประชุมวันที่ 18 เม.ย. 2568 สำนักงานกสทช.กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ประชุมยังถกเถียงกันเรื่องราคาเริ่มต้นประมูลว่าควรจะใช้ราคาไหน ดังนั้นจึงมีการนัดประชุมเพื่อลงมติในวันที่ 21 เม.ย. 2568 แทน คาดว่าที่ประชุมจะสามารถลงมติได้ เพื่อให้ทันกับกำหนดการประมูลที่เสนอไว้คือวันที่ 29 มิ.ย.2568

ทั้งนี้หลังจากบอร์ดกสทช.มีมติเห็นชอบ สำนักงานกสทช.จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลระหว่างวันที่ 28 เม.ย. - 28 พ.ค. 2568 และให้ยื่นคำขอเข้าร่วมภายในวันที่ 29 พ.ค.2568 จากนั้น จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 5 มิ.ย. 2568 ก่อนเสนอผลต่อคณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาและแจ้งผลในช่วงวันที่ 6 - 13 มิ.ย. 2568 โดยอุทธรณ์ผลการพิจารณาได้ในวันที่ 16,17 และ 18 มิ.ย. 2568

กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 19 มิ.ย. 2568 พร้อมจัดการประมูลจำลอง (Mock Auction) เพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ 23 มิ.ย. 2568 ก่อนเข้าสู่การประมูลจริงในวันที่ 29 มิ.ย.2568 

จับตา ประชุมบอร์ดกสทช.วันนี้ เคาะประมูลคลื่นมือถือ 29 มิ.ย.

ไทม์ไลน์ประมูลคลื่นมือถือล่าสุด

ส่วนกรอบงบประมาณในการจัดประมูล ได้กำหนดไว้ที่ 70 ล้านบาท แบ่งเป็น 

1.ค่าใช้จ่ายสถานที่จัดการประมูล ค่าระบบคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างผู้บริการจัดการงานประมูลและค่าใช้จ่ายสำรองอื่นๆ , ค่าจ้างเหมาบริการเพื่อจัดงานด้านสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก 12 ล้านบาท ,ค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบกล้องวงจรปิด 3 ล้านบาท 

2.ค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ , ค่าจ้างผู้รับตรวจคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 5 ล้านบาท , ค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 20 ล้านบาท 

3.ค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั้งทั้งก่อนและหลังการประมูล 30 ล้านบาท ,ค่าจ้างผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประมูล ,ค่าจ้างผลิตและเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์คลิปประชาสัมพันธ์ข้อมูล ,ค่าจ้างผลิตและเผยแพร่ภาพยนต์สั้นรูปแบบไวรัล ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการประมูลคลื่นความถี่