posttoday

พิชัย แจงเลื่อนถกภาษีสหรัฐ ขอดูท่าทีโลกก่อน ต้องได้ผลแบบ Win-Win

22 เมษายน 2568

พิชัย เผยเลื่อนแผนเจรจาภาษีสหรัฐ เพื่อดูจังหวะประเทศคู่ค้า ชี้เร่งเกินไปไม่ดี แต่ช้ากว่าใครก็เสียเปรียบ พร้อมเตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้า

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาการค้าไทย–สหรัฐฯ เปิดเผยถึงสาเหตุการเลื่อนการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ ว่า เกิดจากการปรับกำหนดเวลา เพื่อให้การหารือครั้งนี้มีความชัดเจนในทุกมิติ แม้การหารือระดับสูงจะถูกขยับออกไป แต่การทำงานในระดับปฏิบัติการยังเดินหน้าควบคู่กัน โดยมีทั้งทีมงานในประเทศและต่างประเทศร่วมกันรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดไป โดยย้ำว่า ผลลัพธ์ต้องเป็นแบบ “Win-Win” ทั้งไทยและสหรัฐฯ

ทันทีที่ดูผลการเปลี่ยนแปลง จาก 90 วัน ตอนนี้เหลือแค่ 70 กว่าวันแล้ว ตอนนี้มันก็มีข้อมูลเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนจะไปเมื่อไหร่ ผมนั่งฟังทุกวัน มีเงื่อนไขอะไรเพิ่ม ซึ่งคงจะต้องดูประเทศที่มีขนาดของการค้าที่ใหญ่กว่าไทย โดยตอนนี้ให้เจ้าหน้าที่ที่ไปนัดอีกครั้ง โดยยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงวันนี้ตอบยาก ทำให้ไม่มั่นใจว่า สหรัฐต้องการอะไร

เขาเสริมว่า ความไม่แน่นอนในบริบทโลกตอนนี้ ไม่ได้เกิดกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นภาพรวมที่ทุกชาติสัมผัสได้ การชะลอการเดินทางไปสหรัฐฯ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้มีการหารือและปรับแนวทางให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ ประเทศที่มีการเจรจาอย่างเป็นรูปธรรมมีเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งล้วนมีขนาดทางการค้าที่เหนือกว่าไทย

การนัดวันเพื่อเจรจาเรื่องนี้ขออย่าให้เร็วกว่าคนอื่น และอย่าช้ากว่าคนอื่น เร็วไปก็ไม่ดี แล้วถ้าช้ากว่าคนอื่นก็ไม่ดี ซึ่งเหมาะสมที่สุดคือ หัวขบวนเขาโดนอะไรบ้าง กลางขบวนโดนอะไรบ้าง เราอยู่กลาง ๆ เกือบท้ายเราจะได้รู้ว่า ควรจะทำอย่างไร จริง ๆ ซึ่งสหรัฐฯ อยากให้ทุกคนหารืออยู่แล้ว เพียงแต่จะจัดคิวอย่างไร

 

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รัฐบาลจึงได้เตรียมแผนรับมือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเตรียมมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง

 

โดยเฉพาะกรณีที่ส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งจะลามไปถึงภาคการผลิตและการจ้างงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สศช. จึงได้รับมอบหมายให้นำ “โจทย์” ดังกล่าวไปหามาตรการรองรับ

 

ในประเด็นค่าเงิน สหรัฐฯ ยังคงจับตาการแทรกแซงค่าเงินของแต่ละประเทศ แต่ยังไม่ได้มองว่าไทยมีการแทรกแซง ทั้งนี้สหรัฐฯ เองก็ต้องการให้ค่าเงินของแต่ละประเทศอ่อนลงอย่างเป็นธรรม เพื่อความสามารถในการแข่งขัน
 

เราก็คงคิดว่าสหรัฐฯ อยากส่งออกมากขึ้น เหมือนทุกประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ ก็อยากเห็นค่าเงินอ่อนบ้าง เนื่องจากเสียเปรียบดุลการค้าเยอะ เพราะฉะนั้นประเทศไหนเมื่ออ่อนทุกประเทศก็ควรจะแข่งขัน ก็เดาว่าสหรัฐฯ ไม่อยากให้แทรกแซงค่าเงินต้องให้อ่อนตามปกติตามธรรมชาติ หากทำให้อ่อนแล้วได้เปรียบอย่างนี้ไม่ได้ ซึ่งสหรัฐก็มีวิธีที่จะดูว่าประเทศไหนแทรกแซงหรือไม่

ส่วนกรณีการกู้เงินเพื่อขยายเพดานหนี้สาธารณะให้เกิน 70% นั้น เขาย้ำว่ายังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ แต่หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็ต้องมีการเตรียมเครื่องมือ ทั้งในด้านการลงทุน การจ้างงาน และแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ขนาดเศรษฐกิจเติบโตและทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลดลงในอนาคต