posttoday

คลัง จ่อถกธปท. ออกซอฟท์โลนรับมือภาษีสหรัฐ ยังไม่ขยายเพดานหนี้

24 เมษายน 2568

คลัง-ธปท. เล็งหารือออกซอฟท์โลน ช่วยภาคธุรกิจรับมือผลกระทบภาษีทรัมป์ พร้อมทบทวนจีดีพีปี68 ย้ำยังไม่ขยายเพดานหนี้ นายกกำชับใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาแนวทางรับมือมาตรการภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเบื้องต้นจะจัดเตรียมออกวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ “ซอฟท์โลน” เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษี โดยเฉพาะในภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

นอกจากนี้ การหารือครั้งนี้จะครอบคลุมหลายมิติ ทั้งผลกระทบต่อตลาดทุน ตลาดพันธบัตร และสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเตรียมมาตรการเชิงรุกเพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจทำให้การค้าโลกผันผวนอย่างรุนแรงอีกครั้ง

เรื่องซอฟท์โลนเป็นประเด็นสำคัญ เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วเอกชนจะต้องได้รับผลกระทบบางส่วนแน่นอน หากไม่มีมาตรการรองรับ อาจทำให้ธุรกิจสะดุดซ้ำรอยโควิด เราจึงต้องเตรียมวงเงินไว้ล่วงหน้า และเรียนรู้จากบทเรียนเดิมที่ซอฟท์โลนช่วงโควิดเข้าถึงยาก ทำให้เงินไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

จากสถานการณ์ในขณะนี้ รัฐจึงมีแนวคิดที่จะออกแบบซอฟท์โลนให้เข้าถึงง่ายขึ้น ผ่อนปรนเงื่อนไขในการขอสินเชื่อ และลดขั้นตอนการพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงผู้ประกอบการได้จริงในเวลาที่จำเป็น

 

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบของมาตรการภาษีจากฝั่งสหรัฐฯ อย่างชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ออกมา แต่รัฐบาลเตรียมข้อมูลและแนวทางเจรจาไว้แล้ว ซึ่งต้องนำไปพูดคุยกัน จึงสามารถนำมารายละเอียดมาใส่ในสมการเพื่อประเมินตัวเลขผลกระทบอีกครั้ง โดยอยากให้มั่นในว่ารัฐบาลจะยึดการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย ผู้ประกอบการ และเกษตรกรเป็นหลัก

แม้การเจรจาจะสำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยจะไม่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อีกต่อไป เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบที่สมดุลขึ้น เช่น อาจต้องผ่อนคลายในบางอุตสาหกรรม แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันบ้าง ส่วนที่ไทยชะลอการเจรจา ก็เพราะต้องดูผลกระทบจากประเทศที่เจรจาก่อนหน้า ซึ่งบางรายเจอปัญหาหนัก โดยเฉพาะเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า ไทยจึงต้องวางกลยุทธ์ให้รอบคอบ เพื่อหาทางออกที่เป็น win-win ทั้งสองฝ่าย รัฐบาลยังเชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้มีโอกาสพลิกกลับได้ ขอเพียงใช้ประโยชน์จากช่องว่างที่มี และผ่อนเบาเท่าที่จะทำได้
 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยอมรับว่าอาจต้องทบทวนประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2568 ใหม่ทั้งหมด แม้หลายสำนักจะเริ่มปรับคาดการณ์ลงแล้ว แต่ยังมีตัวแปรที่ปัจจัยความไม่แน่นอนยังสูง เช่น ทิศทางเศรษฐกิจโลก การเมืองในประเทศคู่ค้า และผลการเจรจาทางการค้า โดยตามข้อเท็จจริงแล้วต้องเข้าใจว่าหากผลการเจรจากับสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว จะต้องมีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ และได้รับผลกระทบเชิงลบ ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาพิจารณาว่าจะใช้กลไกอะไรในการเข้าไปช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บ้าง


สำหรับประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะ รมช.คลัง ย้ำว่ายังไม่มีข้อสรุปใด ๆ หรือพูดคุยกันในรายละเอียด และยังไม่ใช่แนวทางที่รัฐบาลเลือกเป็นอันดับแรก โดยชี้ว่าไทยยังสามารถบริหารจัดการงบประมาณในกรอบที่มีอยู่ได้ เพียงแต่ต้องใช้เม็ดเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐ รัดเข็มขัด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หมุนงบประมาณบางส่วนไปใช้ในกิจกรรมหรือโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยตรง เช่น การลงทุน การส่งเสริมภาคเอกชน และการสร้างงาน

นายกฯ กำชับให้ส่วนราชการใช้งบที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ลดสิ่งไม่จำเป็น ประหยัดเท่าที่ทำได้ และหมุนงบไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มากขึ้น ตรงนี้คือตั้งเป็นโจทย์แรก ไม่ใช่เริ่มจากการขยายเพดานหนี้ รัฐบาลไม่ได้มีวิธีคิดแบบนั้น