IMF แสดงความกังวลหนี้สาธารณะไทยสูงเกินค่าเฉลี่ยอาเซียน

24 เมษายน 2568

IMF ส่งสัญญาณเตือนเรื่องหนี้สาธารณะไทยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียน แนะรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ ท่ามกลางแนวโน้มหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น

ในงานแถลงข่าว "Fiscal Monitoring" ระหว่างการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  IMF-World Bank Spring Meeting อีรา ดาบลา-นอร์ริส รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการการคลังของ IMF เปิดเผยว่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ของประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แต่ประเทศไทยกลับมีระดับหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค โดยอยู่ที่ระดับสูงกว่า 60% ของ GDP

 

"ในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ระดับหนี้มีมูลค่าสูงกว่าเล็กน้อย โดยอยู่ที่กว่า 60% ของจีดีพี" ดาบลา-นอร์ริสกล่าว

 

ภาพรวมหนี้สาธารณะโลกน่าวิตก

 

เมาริซิโอ โซโต ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังสาธารณะจาก IMF ตอบคำถามจากผู้สื่อข่าวจาก "กรุงเทพธุรกิจ" แสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะโลกที่จะเพิ่มสูงขึ้นเกิน 95% ของ GDP ในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าและขยายตัวเร็วกว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 และมีแนวโน้มจะพุ่งเข้าใกล้ 100% ของ GDP ภายในสิ้นทศวรรษนี้

 

"ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้ นโยบายการคลังต้องเป็นจุดยึดสำหรับความเชื่อมั่นและเสถียรภาพ" โซโตกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐมนตรีการคลังต้องสร้างความไว้วางใจด้วยการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด และมองการณ์ไกล

IMF แสดงความกังวลหนี้สาธารณะไทยสูงเกินค่าเฉลี่ยอาเซียน

IMF หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงเหลือ 1.8%

 

นอกจากประเด็นหนี้สาธารณะแล้ว IMF ยังได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเหลือเพียง 1.8% ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับ 2.9% ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนมกราคม ที่น่าสังเกตคือ ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ถูกปรับลดการเติบโตลงต่ำกว่า 2%

 

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ถูกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจาก 2.8% เหลือ 1.8% อันเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และจีนถูกปรับลดเหลือ 4.0% จากผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรที่สูงถึง 145% ที่ถูกเรียกเก็บโดยสหรัฐ

 

ด้านเวียดนาม แม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีอย่างมาก แต่ยังคงมีการเติบโตที่แข็งแกร่งที่ 5.2% ลดลงจาก 6.1% ตามประมาณการเดิม

IMF แสดงความกังวลหนี้สาธารณะไทยสูงเกินค่าเฉลี่ยอาเซียน

 

เตือนผลกระทบจากสงครามการค้า

 

IMF ยังเตือนว่าสงครามการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน โดยความต้องการถือครองเงินดอลลาร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยเฉพาะในระยะกลาง ในช่วงที่สหรัฐยังคงมีผลิตภาพต่ำท่ามกลางมาตรการภาษีที่สูงขึ้น

 

ท้ายที่สุด IMF เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูนโยบายการค้าที่มีเสถียรภาพผ่านความร่วมมือระดับนานาชาติ พร้อมแนะนำให้ปรับปรุงมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีที่มีการประกาศใช้อย่างแพร่หลายในช่วงนี้ ให้สอดรับกับนโยบายการค้าเสรีมากขึ้น

IMF แสดงความกังวลหนี้สาธารณะไทยสูงเกินค่าเฉลี่ยอาเซียน

Thailand Web Stat