“พีระพันธุ์” ส่อขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เหตุขัด รธน. ม.187
ข้อมูลชี้ชัด “พีระพันธุ์” ขัด รธน. ม.187 ไม่ลาออกกรรมการบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่ ขาดคุณสมบัติและขัดรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ครั้งที่นายเศรษฐา ทวีสิน ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้มีบทบัญญัติสำหรับนักการเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์เชิงนโยบาย โดยเฉพาะกฎหมายมาตรา 187 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” จะต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือต้องไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ
..หากยังถือหุ้นอยู่ให้มีการโอนหุ้นให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น โดยห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการหุ้นหรือบริษัทนั้นๆตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง
กฎหมายมาตรานี้ถือเป็นข้อพื้นฐานที่บรรดาคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ใน ครม.ต้องมีการจัดการหุ้น และตำแหน่งของตนเองให้เรียบร้อยก่อนที่จะเข้ามาเป็น ครม.
ดังนั้นเราจึงเห็นคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีการขาย หรือโอน หุ้น และลาออกจากบริษัทต่างๆก่อนที่จะมารับตำแหน่งใน ครม. หรือหากไม่ขายหุ้นก็ต้องมีการโอนหุ้นให้นิติบุคคลจัดการทรัพย์สินให้เป็นที่เรียบร้อย
เพราะหากยังมีการถือหุ้นในบริษัทเอกชนต่อไปก็เท่ากับว่ากระทำผิดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากถูกตรวจสอบพบก็จะทำให้ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี และอาจต้องถูกตรวจสอบตามกระบวนการทางกฎหมายทั้งจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรืออาจจะมีเรื่องร้องเรียนไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้
รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ไม่น่าเชื่อว่าจะมีรัฐมนตรีบางคนที่ส่อขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี
เพราะทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 187 เพราะนอกจากถือหุ้นในบริษัทเอกชนแล้วก็ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนโดยยังไม่ยอมลาออกมาจนถึงปัจจุบัน
จากการตรวจสอบพบว่า รัฐมนตรีที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติก็คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลระบุชัดเจนว่ามีการถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอกชนหลายบริษัท และหลายบริษัทปรากฏชื่อของ พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในปัจจุบันเป็นผู้มีอำนาจลงนาม หรือเป็นกรรมการบริษัท โดยในส่วนของนายพีระพันธุ์นั้นได้มีการถือหุ้นใน 4 บริษัท ตามเอกสารที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สิน ที่ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูล ได้แก่
1.บริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด ที่นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 588,500 หุ้น (คิดเป็น 73.58%) บริษัทนี้ มีกรรมการ 3 คน ได้แก่ พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด นายสยาม บางกุลธรรม และร้อยเอกพีระภัฎ บุญเจริญ
2. บริษัท พี แอนด์ เอส แลนด์ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 46,500 หุ้น (คิดเป็น 93%) มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ น.ส.กนกวรรม ลิ้มสุวรรรณ และพล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด
3.บริษัท รพีโสภาค จำกัด บริษัทนี้ นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 22,000 หุ้น (คิดเป็น 73.33%) บริษัทนี้มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค และนางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค
และ 4.บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 1,000 หุ้น (คิดเป็น 10%) โดยบริษัทนี้มีกรรมการ 1 คน ได้แก่ น.ส.ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค
แม้ว่าตามกฎหมายนั้นกำหนดให้การถือหุ้นของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นสามารถโอนหุ้นไปให้บริษัทดูแลบริหารจัดการแทนได้ โดยกรณีของนายพีระพันธุ์ได้โอนหุ้นทั้งหมดไปให้ บมจ.เอ็มเอฟซี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา
แต่เมื่อตรวจสอบกับพบว่าในปัจจุบันนายพีระพันธุ์ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามอยู่ในบริษัท รพีโสภาค จำกัด ที่ตนเอง (เคย) ถือหุ้นอยู่กว่า 73.33%
จากข้อมูลทะเบียนนิติบุคคลของบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุชัดเจนว่านายพีระพันธุ์เป็นกรรมการบริษัทมาตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.2556 จนถึงปัจจุบัน โดยแม้เป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีการลาออกแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้นายพีระพันธุ์ยังเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทที่ตนเองถือหุ้นอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทวีพี แอโร่เทค จำกัด บริษัท โสภา คอนเล็คชั่น ก่อนที่จะลาออกไปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567
เป็นที่น่าสังเกตว่านายพีระพันธุ์เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2566 หรือประมาณ 1 ปีก่อนที่จะมีการแจ้งลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัททั้ง 2 แห่ง
นั่นหมายความว่าการเข้าสู่ตำแหน่งและดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานของนายพีระพันธุ์เข้าข่ายขาดคุณสมบัติและขัดรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ครั้งที่นายเศรษฐา ทวีสิน ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายพีระพันธุ์ เข้าข่ายขาดคุณสมบัติเนื่องจากกระทำผิด กฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ที่ห้ามไม่ให้ บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทที่โอนหุ้นไปให้ให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินไปบริหารแล้ว และห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการหุ้นหรือบริษัทนั้นๆตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง
แต่การที่ นายพีระพันธุ์ ยังคงเป็นกรรมการใน บริษัท รพีโสภาค ที่ตนเองถือหุ้นใหญ่มาถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ลาออก จึงน่าสงสัยในพฤติกรรมและเจตนาของ นายพีระพันธุ์ ว่าเหตุใดจึงต้องนั่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัทนี้ซึ่งเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ชัดเจน
แน่นอนว่าการที่รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งมีพฤติกรรมที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแบบนี้ย่อมไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวของรัฐมนตรีเท่านั้น แต่จะกระทบไปถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆด้วย หากไม่ถอนชนวนระเบิดในเรื่องนี้ออกไปก็จะเป็นระเบิดเวลาที่นับถอยหลังมาทำลายรัฐบาลเสียเอง