นักวิชาการ ชี้ "กู้เงินAIIB" เน้นสร้างสมดุล ไม่ใช่เกมเลือกข้าง

25 เมษายน 2568

ดร.สมชาย ชี้ รัฐบาลไทย กู้ AIIB กว่า 1 หมื่นล้าน สร้างรันเวย์อู่ตะเภา ไม่ใช่การเลือกข้างการเมือง แต่เป็นการกระจายความเสี่ยง ลดพึ่งแหล่งทุนเดิมในยุคโลกาภิวัตน์

เมื่อวันที่  22 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีที่ริเริ่มโดยประเทศจีน โดยวงเงินกู้ครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 13,210 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการก่อสร้าง “ทางวิ่งและทางขับที่ 2” ของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Aviation City) 


การตัดสินใจเลือกกู้เงินจาก AIIB ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยไทยเริ่มต้นการกู้เงินครั้งแรกในปี 2565 โดยวงเงินกู้รวมประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 (รันเวย์) สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินจากธนาคารที่มีจีนเป็นผู้ริเริ่ม เกิดข้อกังวลว่าอาจสะท้อนถึงการแสดงจุดยืนหรือท่าทีที่โน้มเอียงไปทางจีนหรือไม่ ซึ่งอาจกระทบต่อดุลยภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะโลกกำลังถูกบีบให้เลือกข้าง

 

นักวิชาการ มอง“เป็นเรื่องเทคนิค "ไม่ใช่การเมือง”
ในฝากฝั่งนักวิชาการ อย่าง ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ กับสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า การตัดสินใจกู้เงินจาก AIIB ควรมองเป็นการดำเนินงานเชิงเทคนิค ไม่ใช่การส่งสัญญาณทางการเมืองว่าไทยเลือกข้างใดข้างหนึ่ง 

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เราไม่สามารถพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากแค่ประเทศเดียวได้อีกต่อไป การกระจายความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม ประเทศไทยไม่เคยกู้จาก AIIB มาก่อน และการตัดสินใจกู้ในครั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น อัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการกู้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอคติหรือมิตรภาพทางการเมือง

จีนมีบทบาทสูงขึ้น แต่ไทยยังต้องรักษาดุลยภาพ
ดร.สมชายยอมรับว่า ปัจจุบันจีนมีบทบาททางเศรษฐกิจสูงขึ้นในภูมิภาค โดยไทยมีความเชื่อมโยงกับจีนทั้งในกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ ในระดับสูง และรัฐบาลควรดำเนินนโยบายแบบสมดุล ไม่เอนเอียงฝ่ายใดมากเกินไป

สิ่งสำคัญคือ เราไม่ควรกลายเป็นกระสอบทรายให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รัฐบาลควรมีฝีมือในการรักษาดุลยภาพ และแสดงให้เห็นว่าไทยมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

การเงินโลกเปลี่ยน “ดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่มั่นคงเท่าเดิม”
อีกปัจจัยที่ควรพิจารณา คือสถานการณ์การเงินโลก ปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีความผันผวนเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ รวมถึงการใช้กลไกทางการเงินเป็นเครื่องมือกดดันประเทศอื่นๆ ในทางการเมือง ทำให้หลายประเทศเริ่มกระจายความเสี่ยง ไม่ผูกติดกับแหล่งเงินทุนจากฝั่งตะวันตกเพียงอย่างเดียว

ไม่แปลกใจที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทย เริ่มหันไปหาทางเลือกใหม่ ๆ เช่น AIIB เพราะหนึ่งในนั้นคงหนี้ไม่พ้นจีน เพราะเป็นประเทศใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งอาจเสนออัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ และไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองผูกพันโดยตรง ขณะที่ดอลล่ารห์เองก็มีความผันผวน ขณะที่ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรก็ลดลง เพราะนโยบายของสหรัฐฯ

ย้อนรอยการกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศของไทยในช่วง (พ.ศ. 2558–2568)  


1.ปี 2563 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 48,000 ล้านบาท) วัตถุประสงค์  เพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

 

2.ปี 2565 ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) วงเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 15,000 ล้านบาท)

 

3. ธนาคารโลก (World Bank) วงเงินรวม ประมาณ 791.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25,000 ล้านบาท) วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน

 

4. JICA (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น) วงเงินรวม ประมาณ 1,707.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 51,000 ล้านบาท) วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟรางคู่, ระบบรางร่วมไทย-ญี่ปุ่น

 

5. กู้จาก China Exim Bank (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน) วัตถุประสงค์ ระบบราง รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ–นครราชสีมา

Thailand Web Stat