กมธ. ชง 5 แนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว
กมธ. จ่อแก้ระเบียบเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว เพิ่มวงเงินเป็น 8 หมื่นบาท ขยายเวลายื่นเยียวยา พร้อมยอดช่วยเหลือขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อราย
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ผ่าน Facebook "ศุภณัฐ มีนชัยนันท์" ว่า หลังจากที่ผมได้มีการนำวาระเรื่อง เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเข้าสู่กรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ เชิญ กทม. ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรสาคร, กรมบัญชีกลาง, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย, สำนักปภ., สำนักงานเขต มาร่วมหาทางออก มีความคืบหน้าดังนี้
1) หน่วยงานเตรียมเสนอร่างแก้ไขระเบียบเงินช่วยเหลือเยียวยา เป็น 80,000 และไม่จำกัดแค่เฉพาะค่าวัสดุ
สืบเนื่องจากระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินราชการในการช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ ที่หน่วยงานได้ไปออกหลักเกณฑ์ช่วยผู้ประสบภัยว่า ช่วยเหลือ “เฉพาะค่าวัสดุ” ซ่อมแซมบ้าน ยอด 49,500 บาท และทาง กทม.ได้ทำตาราง ราคาต่างๆ ที่ใช้ในการประเมินเพื่อลดการใช้ดุลพินิจ แต่ด้วยราคาวัสดุต่่างๆที่ให้เฉพาะวัสดุพื้นฐานทำให้เงินช่วยเหลือเยียวยาที่จนท.มาประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ไม่สะท้อนความเสียหายของประชาชน
ข่าวดี หลังจากกระแสเรียกร้อง ตอนนี้หน่วยงานได้ #ร่างแก้ไขหลักเกณฑ์เงินช่วยเหลือ ที่ไม่ได้ช่วยแค่ค่าวัสดุเท่านั้น แต่จะได้รวมค่าแรงและค่าอื่นๆด้วย และเตรียมเพิ่มวงเงินจาก 49,500 บาทเป็น 80,000 บาท ทั้งนี้ร่างนี้ได้เสนอไปยังรมต.เพื่อพิจารณาอนุมัติ
แต่ทว่า ร่างระเบียบนี้ ถ้าผ่านก็จะไม่บังคับใช้ย้อนหลังกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้นะครับ
2) เสนอท้องถิ่น ชงใช้งบกลาง ช่วยเหลือขั้นต่ำเริ่มที่ 1,000 บาท/หลัง
เนื่องจาก ร่างระเบียบที่เสนอแก้ไข ไม่มีผลบังคับใช้ในรอบนี้ เราจึงต้องหาทางช่วยประชาชนด้วยวิธีอื่น เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขอเงินช่วยเหลือ ไม่ว่าจะค่าเอกสาร ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา รวมทั้งคชจ.ของจนท.ที่ต้องมาประเมิน กลับสูงกว่าเงินที่จนท.ประเมินให้ อีกทั้งการประเมินแทบไม่ได้สอดคล้องกับความเสียหาย ส่วนใหญ่ได้กัน5-10% ของความเสียหายจริง เรียกว่า การขอเยียวยารอบนี้ของหลายคน เสมือนเป็นการซ้ำเติมหนักกว่าเดิม
เราจึงเสนอหาวิธีอื่นช่วยผู้ประสบภัยด้วยการให้ กทม. และจังหวัดข้างเคียง ทำเรื่องชงยื่น ของบกลางเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยทำเป็นระบบเงินขั้นต่ำแบบอ้างอิงจากเรตที่จนท.ประเมิน เช่น ใครถูกประเมินความเสียหายว่าไม่ถึง 9,000บาท ก็จะใช้งบกลางช่วยอีก 1,000-1,500บาท หรือ ถ้าประเมินได้ 9,000-15,000บาท ก็ควรช่วย 2,000-3,000บาท เป็นต้น
ทั้งนี้กทม.รับไปพิจารณา เพื่อชงเรื่องให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต่อไปยัง กรมบัญชีกลาง เพื่อเสนอต่อรัฐบาลอนุมัติ
3) ขยายระยะเวลายื่นขอเยียวยา สำเร็จ
เนื่องจากมีการยื่นขอเยียวยากว่า 34,000เคส และทุกวันก็มีคนยื่นเรื่องกว่า 1,500คน เพื่อให้ครอบคลุมจึงมีการเสนอขยายเวลาจากเดิมจบที่ 27/4นี้ ซึ่งกทม.รับเรื่องไปเมื่อวาน
ล่าสุด กทม.ก็ประกาศขายเวลาอีก 5วัน ถึง ศุกร์ 2/5/68 ใครยังไม่ได้ยื่นก็รีบไปยื่นได้ครับ
4) จี้เปิดเผยข้อมูล อาคารสีแดงของรัฐ 73 อาคาร
เนื่องจากกรมโยธา ตรวจพบว่ามีอาคารของรัฐเป็นสีแดง ห้ามใช้งานกว่า 73 ทั่วประเทศ แต่กลับเปิดแค่ 2 ชื่อ ในกทม. ที่เหลือ 71ชื่อไม่ยอมเปิด ทำให้พี่น้องประชาชน และข้าราชการหลายคนมีความกังวล ทางกรรมาธิการได้แจ้งไปยังกรมเพื่อให้รีบดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้โดยด่วน
5) รอบหน้าเตรียมประชุม เรื่องลดปริมาณเอกสาร และการยื่นออนไลน์ สำหรับเหตุการณ์ในอนาคต
เนื่องจากเวลาของ กรรมาธิการ มีเพียง 1.5ชั่วโมงไม่เพียงพอต่อการประชุม จึงเตรียมตกรอบเรื่องนี้ในการประชุมครั้งต่อไปทั้งนี้เป้าหมายของกติกาคือการอนุญาตให้ยื่นออนไลน์ได้ และลดจำนวนแบบฟอร์ม รวมถึงเอกสารที่ต้องใช้ซึ่งเป็นเอกสารที่หน่วยงานรัฐมีอยู่ในระบบอยู่แล้ว
ทั้งนี้พวกเรามีเป้าหมายเดียวกันคือช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดครับ