posttoday

Crisis Watch

05 เมษายน 2554

จริยธรรมทางการค้าอีกหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรใส่ใจ (จบ)

จริยธรรมทางการค้าอีกหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรใส่ใจ (จบ)

โดย..รีต้า ทัพภมาน

 
จริยธรรมทางการค้าอีกหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรใส่ใจ (จบ)

 

สัปดาห์ที่แล้วได้พูดถึงเรื่องของจริยธรรมทางการค้าไปบางส่วน ถึงความสำคัญและคุณค่าของจริยธรรม เพราะหากธุรกิจทั้งหลายไม่คำนึงถึงแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งหากพูดกันตามความเป็นจริงนั้น มีผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและให้บริการอยู่จำนวนไม่น้อยที่มองข้ามเรื่องดังกล่าว

 

Crisis Watch

ปัญหาที่ว่านี้หากลองมารวบรวมและสรุปเป็นประเด็นนั้น ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้แยกออกเป็น 4 เรื่อง ที่พบบ่อยและเกิดขึ้นกับการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบัน ได้แก่

1.สินค้าไม่ได้คุณภาพตามที่โฆษณา

2.สินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่ระบุ มีการปลอมปนสินค้า

3.ปิดบัง ซ่อนเร้น หลอกลวงถึงสรรพคุณรายละเอียดของสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคควรได้รับ

4.สินค้ามีปริมาณและน้ำหนักไม่ได้ตามมาตรฐาน

ฉะนั้น หากเราในฐานะผู้บริโภคก็ควรมีการศึกษาข้อมูลและตรวจสอบกันสักนิดก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการนั้นๆ และยิ่งหากเราเป็นผู้ผลิตหรือให้บริการเสียเอง ยิ่งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะหากต้องการให้สินค้าหรือบริการของเราสามารถมัดใจลูกค้าได้แล้วนั้น การมีจริยธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจริยธรรมของผู้ประกอบการที่พึงมีต่อผู้บริโภคสามารถสรุปเป็นหัวข้อได้ 5 ข้อดังนี้

1.ขายสินค้าและให้บริการอย่างยุติธรรม

2.ขายสินค้าและให้บริการถูกต้องตามจำนวนและคุณภาพเหมาะสมกับราคาซื้อขายสินค้าหรือบริการ

3.ไม่ก้าวก่ายการตัดซื้อสินค้าหรือบริการของลูกค้า

4.ดำเนินธุรกิจอย่างไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่สร้างความเข้าใจผิดในคุณภาพสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้า

5.ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างมีน้ำใจ มีอัธยาศัยที่ดีในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ

ส่งท้ายด้วยวลีเพราะๆ ในเรื่องของจริยธรรมทางการค้าที่ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้เขียนไว้...ที่ว่า

ความซื่อสัตย์...ต่อลูกค้า...มีราคากว่า...ค่าเงิน

การอยู่รอดของธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืน...อยู่ที่ลูกค้า หรือผู้บริโภค

ถ้าไม่มีผู้บริโภค...ก็ไม่มีผู้ประกอบการ

ในยุคการค้าเสรี จริยธรรมทางการค้าคือการปิดป้ายราคา แข่งขันด้วยคุณภาพ

ด้วยราคาเป็นธรรม ไม่หลอกลวงลูกค้า

ไม่ปลอมปนคุณภาพสินค้า ไม่โฆษณามอมเมา

เพราะเห็นการณ์ไกลที่ว่า

“คนซื้ออยู่ได้...คนขายอยู่รอด”

มีลูกค้าถาวร...ดีกว่ามีลูกค้าจรครั้งเดียว