สมการของการออม
นิยามของการออมเงิน (Saving) หมายถึง การที่เรายอมเสียสละเงินในส่วนที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันทีในปัจจุบัน และเลือกที่จะนำเงินไปเก็บไว้ใช้ในอนาคตแทน พูดถึงเรื่องการออมเงินแล้ว หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องของคนที่มีเงินเหลือใช้ ไม่ใช่คนหมุนเงินแบบเดือนชนเดือนแบบเรา ที่หาได้เท่าไหร่ก็ต้องจ่ายออกไปหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วการเก็บออมสามารถทำกันได้ทุกคน เพียงแค่เราเปลี่ยนความคิดเรื่องการออมเสียใหม่ สาเหตุของการที่คนทั่วไปเราไม่มีเงินออมกลับไม่ใช่ เพราะว่าไม่มีเงินเหลือพอเพื่อการออม แต่เป็นเพราะเรามักจะทำตัวใหญ่กว่าจำนวนเงินที่ตัวเองมี ใช้จ่ายมือเติบและไม่มีความอดทนต่อสิ่งที่เย้ายวนให้ต้องใช้จ่ายต่างหาก
จากสมการการออมแบบเดิม คือ เอารายได้หักค่าใช้จ่ายเหลือแล้วจึงเก็บออม เปลี่ยนวิธีคิดใหม่เป็น เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นก็ให้กันเงินส่วนหนึ่งออกมาเป็นเงินออมก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นเงินสำหรับการใช้จ่ายอื่นๆ ของเรา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้ถือว่าเงินออมเป็นเสมือนค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายให้แก่ตนเองก่อนจะใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ โดยเงินก้อนนี้จะถูกสะสมไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณ หรือยามฉุกเฉินเท่านั้น คำแนะนำสำหรับบัญชีที่จะใช้ออมเงินควรจะเป็นบัญชีที่เบิกถอนได้ยาก เช่น การทำกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือซื้อพันธบัตร เป็นต้น อย่าได้ออมเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่มีบัตรเอทีเอ็มพ่วงเป็นอันขาด ถ้าหากคุณยังไม่มีวินัยทางการเงินมากพอ อีกทั้งดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้นก็ไม่ได้จูงใจให้คุณฝากได้ในระยะยาว
เราควรมีเงินออมเท่าไหร่ดี??
หลายคนไม่ทราบว่า ในขณะนี้เรามีเงินออมเพียงพอเหมาะสมกับอายุแล้วหรือไม่ หรือเราควรต้องมีเงินออมสักเท่าไรถึงจะอยู่ได้อย่างสบายๆ ในอนาคต โดยเงินออมในที่นี้ให้รวมถึง ทรัพย์สินอื่นๆ ที่เราเป็นเจ้าของอยู่เข้าไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก บ้าน ที่ดิน หุ้น พันธบัตร กรมธรรม์ประกันชีวิต หรือแม้แต่ของสะสมต่างๆ เช่น เครื่องประดับที่มีค่า นาฬิกา ทองคำ พระเครื่อง ทั้งนี้ ทรัพย์สินเหล่านั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เป็นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ให้แก่เราในอนาคตได้ด้วย
หลายคนคงคิดว่า ทำไมมันมากมายอย่างนี้ ออมไม่ได้หรอก แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะสมการดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางที่แสดงให้เห็นว่า ปริมาณเงินออมที่เราควรมีนั้นมากไปหรือน้อยไป ถ้ามีมากเกินไปคงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ถ้ามีน้อยไปก็ต้องมาพิจารณากันดูว่า จะมีวิธีการใดที่ทำให้เงินออมที่เรามีอยู่เพิ่มขึ้นได้ สำหรับคนที่ไม่เคยออมมาก่อนเลยและหากยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นออมอย่างไร ก็ให้ลองทำตามนี้ดู
1.เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการออมเสียใหม่ จำไว้เลยว่าต้องจ่ายให้ตัวเองเป็นการออมเสมอก่อนที่จะใช้จ่ายอย่างอื่นๆ ทำเช่นนี้ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ เราก็จะสามารถออมเงินได้เสมอ
2.ตั้งเป้าหมายในการออมว่า ต้องการออมเงินเพื่ออะไร จะต้องเก็บเท่าใด และต้องเก็บให้ได้ภายในระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไป เป้าหมายที่ตั้งขึ้นนั้นก็ควรที่จะท้าทายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
3.ทบทวนทุกครั้งก่อนที่จะใช้จ่ายอะไรออกไป โดยประกาศตัวเป็นศัตรูกับกิเลส หรือสิ่งยั่วเย้าต่างๆ ถามตัวเองว่า สิ่งนั้นจำเป็นสำหรับเราจริงๆ หรือไม่ ค่อยๆ ตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยออกไปทีละอย่าง เช่น แทนที่จะไปดูหนังทุกสุดสัปดาห์กับแฟนก็ชวนกันไปออกกำลังกายแทน
4.เมื่อเริ่มจะออมแรกๆ เราอาจเริ่มต้นจากออมทีละน้อยๆ ก่อน แล้วจึงทยอยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่เหมาะสมกับตนเอง โดยต้องฝึกฝนให้เกิดจนเป็นนิสัย
5.หากเรามีเป้าหมายหลายอย่าง เช่น ซื้อของบางอย่าง หรือให้รางวัลชีวิตด้วยการไปเที่ยวต่างประเทศ ให้เราจัดสรรเงินออมเพื่อเป้าหมายต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับชีวิตตนเอง โดยเราสามารถแบ่งเงินออมออกตามเป้าหมายต่างๆ ได้ดังนี้
lเงินออมระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เช่น เพื่อดาวน์รถ หรือท่องเที่ยว
lเงินออมระยะยาวเพื่ออนาคต เช่น เพื่อใช้ยามเกษียณอายุ หรือค่าเล่าเรียนของลูกในอนาคต
lเงินออมที่มีไว้สำหรับเรื่องฉุกเฉินต่างๆ เช่น เพื่อใช้ยามประสบอุบัติเหตุ หรือยามเจ็บไข้ได้ป่วย
lเงินออมที่มีไว้สำหรับการลงทุน ทำให้เงินงอกเงย เช่น เพื่อลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้
สิ่งสำคัญที่สุดในการออมก็คือ “ความตั้งใจ และลงมือทำ” ไม่ใช่เพียงคิดว่าจะเก็บออม แต่พอถึงเวลาออมเงินเข้าจริงๆ กลับออมบ้างไม่ออมบ้าง ท้ายสุดก็ต้องตกม้าตายก่อนที่จะถึงเป้าหมายที่วางไว้
เมื่อเราทราบถึงแนวคิดกว้างๆ ในการออมเงินแล้ว ฉบับหน้าเราจะมาพูดถึงเครื่องมือต่างๆ ที่จะใช้ในการออมกัน
หากมีข้อสงสัยเรื่องการวางแผนการออมและการลงทุน สามารถส่งคำถามมาได้ที่ kkbank@kiatnakin.co.th ...พบกันใหม่วันจันทร์หน้าครับ m
คำเตือน : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและคู่มือภาษีก่อนตัดสินใจลงทุน