ข้อสังเกต เรื่องการใส่บาตร
วันอาทิตย์นี้ MQ ขอคุยเรื่องใกล้ตัวพุทธศาสนิกชน
วันอาทิตย์นี้ MQ ขอคุยเรื่องใกล้ตัวพุทธศาสนิกชน
โดย..คุณสลิล
คือ เรื่องเกี่ยวกับการใส่บาตร ซึ่งจะขอคุยกันแบบเบาๆ ตามที่ได้ยินหรือได้เห็นมา ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งจะมีทั้งจากมุมมองของพระผู้รับบาตรและมุมมองของโยมผู้ใส่บาตร อย่างไรก็ตาม ในที่นี้คงไม่สามารถครอบคลุมความเห็นของทุกท่านที่เกี่ยวข้อง และก็ไม่ได้เขียนเน้นพระวินัย เอาเป็นว่าขอให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น และบางเรื่องบางฝ่ายก็อาจคิดไม่ถึง หรือไม่เข้าใจ อ่านกันสบายๆ คลายเครียด
ขอเริ่มจากเรื่องที่ญาติโยมบางท่านไม่ค่อยชอบใจ หรือไม่เข้าใจ เกี่ยวกับการปฏิบัติของพระที่มารับบาตร ซึ่งบางเรื่องก็ไม่สมควรจริงๆ และอยากบอกไว้ให้พระภิกษุสามเณรได้ระมัดระวัง ส่วนบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่โยมอาจไม่เข้าใจหรือเพ่งโทษเกินไป เรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังมาก็มีดังนี้
พระรับบิณฑบาตมากเกินไป (พระบางรูปบิณฑบาตเผื่อรูปอื่นๆ ที่ป่วยบ้าง ชรามากบ้าง ที่เรียนหนักบ้าง พระหลายรูปฉันอาหารบิณฑบาตทั้งมื้อเช้าและเพล บางรูปเป็นผู้มีลาภมากด้วยบุญเก่า หรือด้วยเมตตา หรือด้วยคุณความดีของท่าน ก็มี)
พระนั่งตุ๊กตุ๊กบิณฑบาต (พระบางรูปวัดอยู่ไกล บางรูปชราภาพ หรือป่วย บางรูปมีโยมนิมนต์ให้ไปรับบาตรประจำในซอยหรือถนนที่ไกลกัน บางรูปมีลาภมาก บางรูปมีตุ๊กตุ๊กใจดีบริการรับส่งท่านทุกวันด้วยความเต็มใจ)
พระยืนอยู่กับที่ประจำรอรับบิณฑบาต ไม่เดินบิณฑบาต (หากท่านไม่ป่วย หรือมีสาเหตุจำเป็นอื่นๆ ญาติโยมหลายท่านอยากเห็นพระเดินบิณฑบาตโปรดสัตว์ เพราะดูน่าเลื่อมใส ท่านจะได้แข็งแรงเพราะเป็นการออกกำลังกายในตัวด้วย)
พระวนของกับร้านขายอาหารใส่บาตร หรือเอาของบิณฑบาตไปเพื่อขาย (ข้อนี้ไม่ต้องอธิบาย ว่าผิดทั้งพระทั้งโยม เลิกทำร้ายศรัทธาของคนอื่นเถิด บาปกรรม)
พระให้พร ไม่ใส่ใจ ตามองที่อื่นๆ (แม้โยมคนที่ใส่บาตรจะไม่เห็นด้วยก้มหน้าก้มตากำลังตั้งใจรับพร แต่โยมอื่นที่ผ่านไปมาเห็น เขาจะรู้สึกไม่ดี)
พระขอปัจจัยหรือบอกบุญขณะบิณฑบาต (ข้อนี้พิจารณาดู ถ้าเป็นเจตนาดีของท่านเห็นเราใส่บาตรประจำบอกบุญจริงๆ ก็ไม่มีอะไร เลือกทำบุญได้ตามศรัทธา แต่ถ้าดูแล้วไม่น่าจะใช่ หรือบางทีอาจเป็นพระปลอม ก็ปฏิเสธเสีย)
คนปลอมเป็นพระมาบิณฑบาต (เรียกตำรวจจัดการ ตรวจใบสุทธิด้วย) พระให้พรยาวมาก/พระไม่ให้พร (การให้พรหลังใส่บาตรนั้น แม้ไม่เหมาะด้วยสถานที่ โยมบางคนใส่บาตรแล้วพระไม่ให้พรก็โกรธพระ ความจริงพระท่านให้พรที่วัดหลังฉันก็มี หลังสวดมนต์ทำวัตรก็มี แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นสิ่งที่คนใส่บาตรหลายคนต้องการให้พระให้พรตรงนั้นเลย พระท่านก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสม บางรูปให้พรยาวมากในซอยแคบ หรือใกล้ทางเลี้ยว ก็เสี่ยงอันตรายจากรถรา อาจต้องดูสถานการณ์ให้เหมาะสมด้วย)
พระครองจีวรไม่เรียบร้อย บิณฑบาต พระบิณฑบาต ด้วยอาการไม่สำรวม เช่น การเดิน การมองต่างๆ พระแย่งกันรับบิณฑบาต (ข้อนี้แม้ไม่พบทั่วไป แต่ที่ใดทำควรเลิกเสีย เพราะดูไม่เหมาะเลย)
พระไม่ยอมรับบาตร (บางครั้งพระท่านรับบาตรจนเต็มแล้ว หรือหนักมากถือไม่ไหวแล้ว อย่างไรก็ตาม ท่านควรอธิบายให้โยมฟังสักหน่อย เพราะส่วนมากหากนิมนต์แล้วพระไม่รับบาตรเฉยๆ โยมมักจะเคือง เพราะบางคนมาสาย บางคนรีบ หรือบางคนดีใจมากพบพระจะได้ใส่บาตร แต่นิมนต์แล้วพระไม่ยอมรับบาตรก็เสียใจ หากท่านบอกสักหน่อยญาติโยมจะได้เข้าใจว่าทำไมท่านไม่รับบาตรของเรา)
ส่วนในฝ่ายญาติโยม พุทธศาสนิกชนผู้ใส่บาตรก็มีข้อที่น่าสังเกตเช่นกัน บางเรื่องก็เป็นความไม่สมควรอย่างยิ่ง บางเรื่องก็เป็นความไม่เข้าใจ หรือไม่ใส่ใจ ไม่คิดให้ดีของคนใส่บาตร ที่เคยได้ยินได้ฟังมามีดังนี้
โยมไม่ถอดรองเท้าขณะใส่บาตร (พระท่านไม่ใส่รองเท้าบิณฑบาต การที่เราใส่บาตรใส่รองเท้า นับว่าไม่เคารพ ควรถอดรองเท้าขณะใส่บาตร ถ้ากลัวเท้าเปื้อนก็เตรียมกระดาษหรือน้ำมาล้างเมื่อใส่บาตรเสร็จก็ได้)
โยมแย่งกันใส่บาตร โดยเฉพาะพระเกจิอาจารย์ (การใส่บาตรนั้นเป็นการทำบุญ ดังนั้น อย่าลืมฝึกคุณธรรมอื่นๆ นอกจากทานด้วย เช่น ความอดทน ความเมตตากรุณาผู้อื่น การให้โอกาสผู้อื่นได้ร่วมทำบุญด้วย โดยไม่โกรธเคืองก็เป็นบุญเช่นกัน ถ้าใส่บาตรด้วยใจเศร้าหมอง โกรธเคือง รีบร้อน ทานกุศลที่แม้ได้ทำก็อาจจะบกพร่องได้)
กรณีใส่บาตรหรือถวายภัตตาหารที่วัด โยมบังคับพระให้ฉันของที่ตนใส่บาตร คอยตามจ้องมองดูว่าพระท่านฉันของเราหรือไม่ (การถวายทานนั้นเป็นการให้ เมื่อให้แล้ว ทำใจให้ขาด ไม่ตามไปยึดเหนี่ยวอีก ทำใจให้เป็นกุศล ไม่ใช่ด้วยความอยากได้บุญจนเป็นโลภะ)
โยมใส่บาตรด้วยของใหญ่มาก และ/หรือ มีน้ำหนักมาก เช่น น้ำขวด ข้าวทั้งถุง แตงโมทั้งลูก โยมขับรถตอนเช้า ไม่ระวังพระบิณฑบาต และไม่ระวังคนใส่บาตร
โยมแม้เห็นเดินไม่หลบพระ ไม่ให้ทางพระบิณฑบาต พระต้องเป็นฝ่ายคอยหลบเอาเอง โยมใส่บาตรด้วยของมันๆ และหวานๆ ชื่อดีๆ เป็นของซ้ำๆ เช่น แกงกะทิ ทองหยิบฝอยทอง
โยมทำกับข้าวขายสำหรับใส่บาตร ไม่ใส่ใจเอาของบูดเสียหรือไม่มีคุณภาพสมราคามาขาย มักเน้นแต่ของราคาถูกๆ เช่น แกงหน่อไม้ดอง ผัดวุ้นเส้น น้ำขวดเล็กๆ ไม่มีคุณภาพ (หากจะซื้อของใส่บาตรเป็นถุงๆ เจ้าไหน ลองซื้อไปทาน Test ก่อนก็ดี ว่าเป็นข้าวบูดหรือกับข้าวบูดหรือไม่ มิฉะนั้นอาจจะหลงใส่ของบูดเสีย ไม่มีคุณภาพก็เป็นได้)
โยมใส่บาตรด้วยของร้อนเกินไป (ควรจะบอกพระก่อนให้ท่านระวัง หาถุงให้หิ้วได้ มิฉะนั้นบาตรอาจจะร้อนจนพระถือไม่ได้ หรือลวกมือพระ)
โยมทิ้งขวดหรือแก้วแตก ไม่เก็บกวาดเศษแก้วบนทางเดิน บาดเท้าพระบิณฑบาต (รักษาหน้าบ้านให้สะอาดได้บุญ เคยพบพระบิณฑบาตถูกแก้วบาดเลือดโชกเท้าบ่อยมาก)
โยมใส่ปัจจัยลงในข้าวในบาตรพระ (สตางค์ไม่ใช่กับข้าว อย่าใส่ไปในบาตรปนกับข้าว)
ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่าง ที่ได้ยินมา สรุปว่า การทำบุญนั้นควรใช้ปัญญา อย่าใช้ความโลภ เพราะบุญเกิดตั้งแต่เริ่มคิด ตั้งแต่ใส่ จนเสร็จแล้ว และการเมตตาผู้อื่นก็ได้บุญเช่นกัน อนุโมทนาผู้อื่นก็ได้บุญ ส่วนพระท่านก็ควรสำรวมระวังโดยเฉพาะในเวลาบิณฑบาต ด้วยญาติโยมส่วนใหญ่ตั้งใจทำบุญ อย่างไรก็ตาม การที่เราจะไปเพ่งโทษพระท่าน บางครั้งก็ไม่ถูกต้อง อาจมีเหตุผลที่เราไม่ทราบก็ได้ อย่าทำใจให้เป็นอกุศลง่าย การทำบุญก็จะไม่เป็นสังฆทาน ควรตั้งใจถวายสงฆ์ จะดีกว่า เมื่อทำบุญแล้ว หากมีอะไรที่เราไม่เข้าใจหรือเห็นไม่ดีงามก็น่าจะหาโอกาสบอกพระท่าน คุยกับท่าน แม้พระเณรบิณฑบาตหากอะไรไม่เหมาะสม หรือมีอะไรแนะนำก็ควรบอกโยม จะเทศน์ที่วัด หรือถ้าโยมใส่บาตรประจำก็หาโอกาสบอกแนะได้ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจกัน ระหว่างพุทธบริษัท และความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาต่อไป...