ภงด.94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี (ตอน 5)
วันนี้เป็นประเด็นที่ผู้เสียภาษีมักปฏิบัติผิดพลาดบ่อยครั้งเกี่ยวกับการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี 2557 (ภ.ง.ด. 94) สรุปได้ ดังนี้
วันนี้เป็นประเด็นที่ผู้เสียภาษีมักปฏิบัติผิดพลาดบ่อยครั้งเกี่ยวกับการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี 2557 (ภ.ง.ด. 94) สรุปได้ ดังนี้
lไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ภายในกำหนดเวลา กำหนดเวลาวันสุดท้ายของการยื่นแบบในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 30 ก.ย. 2557 สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ที่เป็นแบบฟอร์มกระดาษได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกินวัน เดือน ปีที่กล่าวมา อย่างไรก็ตามอยากเชิญชวนให้ยื่นแบบเสียภาษีผ่าน www.rd.go.th ของกรมสรรพากร จะได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลาออกไปอีก 8 วัน จนถึงวันพุธที่ 8 ต.ค. 2557 การยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต สะดวก รวดเร็ว มีโปรแกรมช่วยคำนวณภาษีได้ถูกต้อง ไม่มีวันหยุด ยื่นได้ทั้งแบบที่มีเงินชำระและไม่มีเงินชำระ หากได้ยื่นแบบเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กล่าวมาข้างต้น ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ค่าปรับจะลดลงและเสียเพียง 100 บาท หากยื่นแบบเมื่อพ้นกำหนดเวลาไม่เกิน 7 วัน หรือเสียค่าปรับ 200 บาท หากยื่นแบบเมื่อพ้นกำหนดเวลาเกินกว่า 7 วัน ถ้าแบบที่ยื่นมีภาษีชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีชำระ เงินเพิ่มจะเสียไม่เกินจำนวนเงินภาษีชำระ
lประเภทเงินได้พึงประเมิน ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(8) ประมวลรัษฎากร ต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ประเภทเงินได้พึงประเมินได้แก่ ค่าเช่าทรัพย์สิน เงินได้ฯ จากการประกอบวิชาชีพกฎหมาย บัญชี วิศวกรรม โรคศิลปะ สถาปัตยกรรม ประณีตศิลปกรรม การรับเหมา การขายสินค้า การพาณิชยกรรม การขนส่ง เป็นต้น ปัญหาที่มักเกิดขึ้นก็คือ ผู้เสียภาษีบางรายไม่ทราบว่าเงินได้พึงประเมินของตนเองที่ได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี จึงไม่ได้ยื่นแบบเสียภาษีภายในกำหนดเวลา ต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มกรณีมีภาษีชำระ หรือได้ยื่นแบบในกำหนดเวลา แต่ระบุประเภทเงินได้พึงประเมินไม่ถูกต้องซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณการหักค่าใช้จ่าย อาจหักค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ต้องชำระภาษีเพิ่ม รวมถึงเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีชำระ
lการหักค่าใช้จ่าย เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(8) แห่งประมวลรัษฎากร กฎหมายให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาหรือหักจริง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรบางรายการที่กฎหมายไม่ได้ระบุให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาไว้ ต้องหักค่าใช้จ่ายจริงเท่านั้น การหักค่าใช้จ่ายเหมาสามารถศึกษาได้จากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หักค่าใช้จ่ายเหมาในอัตราที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ทราบประเภทเงินได้พึงประเมินหรือจำแนกเงินได้พึงประเมินไม่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาด หากไม่แน่ใจควรตรวจสอบหรือสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนยื่นแบบเสียภาษี
lการหักค่าลดหย่อน กฎหมายให้นำมาหักได้เพียงกึ่งหนึ่งของสิทธิทั้งปีภาษีสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวของผู้มีเงินได้ ปกติทั้งปีภาษีหักได้ 3 หมื่นบาท ก็หักได้เพียง 1.5 หมื่น บาท สำหรับค่าลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตหรือค่าลดหย่อนบางรายการ การใช้สิทธิต้องเป็นจำนวนเงินที่ได้จ่ายจริงในช่วงเดือน ม.ค.–มิ.ย. 2557 เป็นต้น การใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
สัปดาห์หน้ามาต่ออีกครั้งเกี่ยวกับประเด็นที่มักผิดพลาดในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) สวัสดีครับ