เอ็กซิมจับมือ9ธนาคารให้บริการ ประกันการส่งออก
ธนาคารเอ็กซิมจับมือ 9 ธนาคารขยายบริการประกันการส่งออก ท่ามกลางความเสี่ยงทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
ธนาคารเอ็กซิมจับมือ 9 ธนาคารขยายบริการประกันการส่งออก ท่ามกลางความเสี่ยงทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เอ็กซิมชัวรันซ์ อะไลอันซ์ แฟร์ (EXIMSurance Alliance Fair)” เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2553 ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และ 9 ธนาคารประกอบด้วย ธนาคารทหารไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารนครหลวงไทย ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย. 2553
ความร่วมมือนี้ เพื่อร่วมกันออกบูธให้คำปรึกษาแนะนำและบริการประกันการส่งออก (EXIMSurance) รวมทั้งบริการอื่นๆ ด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยบุกเบิกหรือขยายตลาดการค้าโลกอย่างมั่นใจแม้ในภาวะ วิกฤตการเงินโลกและเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่มาลงทะเบียนในงานจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ อาทิ ส่วนลดค่าวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ
นายสถิตย์ กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารนั้นๆ สามารถเข้าถึงบริการประกันการส่งออกของเอ็กซิมแบงก์ได้โดยสะดวกขึ้นโดยการติดต่อผ่านธนาคารที่ตนเองมีธุรกรรมอยู่ ทั้งยังมีโอกาสได้รับการขยายสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากกรมธรรม์ประกัน การส่งออกของ เอ็กซิมแบงก์ ถือเป็นหลักประกันประเภทหนึ่งที่สามารถโอนสิทธิการรับค่าชดเชยสินไหมทดแทน ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ได้
ทั้งนี้ บริการประกันการส่งออกช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่ เหมาะสมและแข่งขันได้ให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศจำนวนกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดยเอ็กซิมแบงก์จะคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าได้แก่ กรณีผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า หรือความเสี่ยงทางการเมืองได้แก่ การควบคุมการโอนเงินกลับมายังประเทศไทย ผู้ซื้อไม่สามารถนำสินค้าเข้าไปในประเทศได้ และเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร โดยเอ็กซิมแบงก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ธนาคารยังช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อและติดตามหนี้ให้ในกรณีที่เกิด ปัญหา ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดเดิม รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดบริการประกันการส่งออกในปี 2538 จนถึงสิ้นปี 2552 เอ็กซิมแบงก์ จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ส่งออกที่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าเนื่องจาก ผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้าเป็นสัดส่วน 80% อีก 18% ผู้ซื้อล้มละลาย และ 2% ผู้ซื้อปฏิเสธรับมอบสินค้า ธุรกิจส่งออกที่ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมากที่สุดได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ 54.5% รองลงมาได้แก่ อุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ 8.7% อาหารกระป๋อง 8.2% เฟอร์นิเจอร์ 7.7% และผลิตภัณฑ์พลาสติก 4.4%