ธปท.คาด Virtual Bank พร้อมเปิดบริการปี 2568
ธปท.เผย มีผู้สนใจขอใบอนุญาตตั้ง Virtual Bank ประมาณ 10 ราย คาดพิจารณาเหลือเพียง 3 ราย ไตรมาส 2 ปี 2567 ก่อนเปิดบริการปี 2568
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วันที่ 12 ม.ค.-12 ก.พ. 2566 อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank จากนั้นจะประกาศหลักเกณฑ์และเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเปิด Virtual Bank ช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2566 โดยเปิดรับสมัครภายใน 6 เดือน ซึ่งขณะนี้พบว่ามีผู้สนใจแล้วประมาณ 10 บริษัท ทั้ง Non Bank และ สถาบันการเงินไทย หากรายเดิมต้องการเข้ามาเปิดบริการต้องสร้างแบรนด์แยกออกมาจากบริษัทแม่ ขณะที่บริษัทร่วมทุนสามารถมีต่างชาติ ร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 49%
จากนั้นธปท.จะดำเนินการคัดเลือกผู้เหมาะสมเหลือเพียง 3 ราย โดยใช้เวลา 6 เดือน เพื่อส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่ออีก 3 เดือน คาดจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบจัดตั้ง Virtual Bank ภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 ซึ่งก่อนที่จะเปิดให้บริการผู้ได้รับใบอนุญาตต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ 1 ปี ดังนั้นจึงคาดว่า Virtual Bank จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568
นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า Virtual Bank เป็นเรื่องใหม่ แต่ละประเทศมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ปัจจุบันจึงยังไม่มีชื่อที่เป็นมาตรฐานสากล จะใช้คำว่า ธนาคารดิจิทัล หรือ ธนาคารเสมือนจริงไม่ได้ เพราะทั้ง 2 ชื่อ คือ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการดิจิทัล ดังนั้นต้องใช้คำว่า ธนาคารไร้สาขา ไปก่อน
"Virtual Bank มีลักษณะสำคัญคือต้องจดทะเบียนในประเทศไทย ให้บริการเหมือนธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ แต่ไม่มีสาขา มีจุดแข็งที่แตกต่างคือ การให้บริการดิจิทัล ไม่มีตู้เอทีเอ็ม หรือ ตู้ฝากเงิน หากลูกค้าต้องการใช้เงินสด สามารถจับมือกับพันธมิตร เช่น ไปรษณีย์ไทย หรือ ร้านสะดวกซื้อ เพื่อรับเงินสดผ่าตัวแทนได้"
นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank มี 7 ข้อ ได้แก่ 1. มีแผนธุรกิจตอบโจทย์ความยั่งยืน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปิดบริษัท ดังนั้นในช่วง 3-5 ปีแรก ธปท.จะดูแลแผนการทำธุรกิจอย่างใกล้ชิดว่าทำได้หรือไม่ 2.มีธรรมาภิบาลทั้งในส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ และผู้บริหารระดับสูง
3.มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล สามารถออกแบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์อันดีแก่ลูกค้า 4.มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น คล่องตัว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว 5.มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงิน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ 6. มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้พัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม และ 7.มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
“Virtual Bank เข้ามาตอบโจทย์กลุ่มคนที่เข้าถึงสินเชื่อ หรือ เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ เนื่องจากระบบของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้เอสเอ็มอี หรือ ผู้ประกอบการรายย่อย ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะไม่มีสลิปเงินเดือน ประกอบอาชีพอิสระ นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการฝากเงิน ธนาคารพาณิชย์ไม่มีแพ็กเกจสำหรับผู้ต้องการออมน้อย แต่ออมนานๆ ดังนั้น ผู้ให้บริการ Virtual Bank ต้องมีผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์กลุ่มดังกล่าว รวมถึงมีความสามารถในการออกแบบแอปพลิเคชันให้ใช้งานง่าย และปลอดภัย ”
นางสาววิภาวิน กล่าวว่า สำหรับความเสี่ยงที่ไม่ต้องการให้เกิด คือ ผู้ที่ให้บริการ Virtual Bank ต้องไม่มีอำนาจเหนือตลาด เช่น มีธุรกิจค้าขายอยู่แล้ว เมื่อมีบริการ เวอร์ชวล แบงก์กลับบังคับให้ลูกค้าต้องใช้บริการบริษัทในเครือเท่านั้น เป็นต้น นอกจากนี้คือ ต้องไม่ใช้กลยุทธ์การตลาดจูงใจด้วยดอกเบี้ยเงินฝากสูงเกินไป จนแบกรับต้นทุนไม่ไหว รวมถึงการสร้างการแข่งขันที่ไม่เหมาะสม ทำให้ประชาชนเกิดการสร้างหนี้เกินตัวและเพิ่มหนี้ปัญหาครัวเรือนในระบบตามมา