MONIX ปั้น Digital Lending 2.5 หมื่นล้าน วาง Ecosystem หยุดจนไม่จบกู้นอกระบบ
ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล พา MONIX กิจการ Startup ใต้ร่ม SCB X ชิงธง Digital Lending ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท พร้อมวางผัง Ecosystem แก้ pain point กู้เงินนอกระบบ จับมือพันธมิตรสร้างรายได้ให้ลูกค้า 30,000 ราย พร้อมเปิดตัวรายงานฟินนิกซ์เครดิตเช็คสุขภาพการเงินเชิงลึก
ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) เปิดเผยถึงแนวคิดของการสร้างธุรกิจ Digital Lending ตามแนวทางของ MONIX ว่า ริเริ่มจากเล็งเห็นถึง pain point ของคนส่วนใหญ่ในเมืองไทย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสถาบันการเงินแบบเดิมได้ จนไม่อาจหลุดกับดักรายได้ผันผวน แล้วต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ
รวมถึงที่ผ่านมา ไม่ว่าผู้ให้บริการสินเชื่อจะพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ มาแล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการประเมินความเสี่ยง ที่ยังอยู่บนพื้นฐานซึ่งมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้มั่นคงเป็นหลัก ทำให้กลุ่มคนรายได้ไม่แน่นอนหรือรายได้น้อยเหล่านี้ ต้องหันไปพึ่งพาการกู้เงินนอกระบบ ซึ่งเป็นทางออกที่ผิดกฎหมาย
ด้วยโครงสร้างต้นทุนดำเนินธุรกิจของธนาคาร ที่ไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงที่สูงได้ แต่ด้วยสถานะของ MONIX ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่ม บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCB X) และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จึงน่าจะมาช่วยปลดล็อกในเรื่องนี้ได้ เพียงแต่ต้องดำเนินธุรกิจภายใต้โครงสร้างใหม่ จึงตัดสินใจแยกออกมาเป็นบริษัท ในรูปแบบของกิจการ Startup ที่มีความคล่องตัวสูงและใช้ต้นทุนในการดำเนินกิจการที่น้อยกว่าธนาคารพาณิชย์
นั่นคือ เพื่อให้ธุรกิจปล่อยสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้น้อยสามารถเริ่มดำเนินงานได้เร็วและเป็นไปได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ทาง MONIX จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูล แล้วพบว่ามีบริษัท Startup จากประเทศจีนอย่าง Abakus Group ที่เชี่ยวชาญในการประเมินความเสี่ยงลูกค้ากลุ่ม mass ที่จีนมาก่อน และประสบความสำเร็จมาแล้ว จึงตัดสินใจร่วมงานกัน
Abakus ต้องการขยายธุรกิจในต่างประเทศอยู่แล้ว และเล็งประเทศไทยเป็นเป้าหมายด้วย อีกทั้งต่างฝ่ายต่างก็มีจุดแข็งมาเสริมกันและกัน จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัว
ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท มันนิกซ์ จำกัด เมื่อปี 2563 โดยร่วมมือของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเอสซีบี เอกซ์ (SCB X Group) และกลุ่มอบาคัส (Abakus Group) ซึ่งเป็นฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน ด้วยการถือหุ้นในอัตรา 60:40 ตามเป้าหมายที่จะให้คนไทยมีการเงินที่มั่นคง ด้วยบริการสินเชื่อแบบ Digital Lending ผ่านแอปพลิเคชัน “ฟินนิกซ์” (FINNIX)
โดยปัจจุบัน FINNIX ให้บริการผลิตภัณฑ์ 2 ตัวคือ สินเชื่อนาโนฟินนิกซ์ติดปีก (วงเงินสูงสุด 100,000) สำหรับมีรายได้ 8,000 บาท/เดือนขึ้นไป และสินเชื่อบุคคลฟินนิกซ์อิกไนท์ (วงเงินสูงสุด 1.5 ล้านบาท) สำหรับผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป
MONIX ค่อนข้างพร้อม เพราะเป็นความร่วมมือระหว่างฝั่งที่เชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นอย่าง SCB X กับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ที่เคยให้สินเชื่อกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในจีนมาแล้วอย่าง Abakus Group ทำให้สามารถ jump start ได้เร็วและมีผลิตภัณฑ์ที่โดนใจลูกค้าตั้งแต่แรก
ถิรนันท์ เล่าย้อนถึงเส้นทางแจ้งเกิดธุรกิจของ MONIX ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนส่งผลิตภัณฑ์ 'ห้าให้' สู่ตลาดว่า ก้าวสำคัญคือการหาข้อมูลก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้ากลุ่ม lower mass (รายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน) ต้องการผลิตภัณฑ์แบบไหน
ด้วยการออกไปสัมภาษณ์พูดคุยเพื่อให้เข้าใจความต้องการอย่างแท้จริง จึงสามารถพัฒนา app ที่ใช้งานง่าย ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าใจได้ชัดเจนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อจะได้ไม่กลายเป็นหนี้เสียในอนาคต หรือแม้แต่ชื่อ 'ห้าให้' ก็มาจากการถามความเห็นหรือความชื่นชอบของกลุ่มเป้าหมายด้วย
ดังนั้นด้วยเวลาเพียง 4 เดือน บริษัทก็สามารถเปิดตัวด้วยผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า 'ห้าให้' (ซึ่งปัจจุบันคือสินเชื่อนาโนฟินนิกซ์ติดปีก) สำหรับผู้มีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไปที่ให้วงเงินสูงสุด 100,000 ที่ใช้เทคโนโลยี Data AI เป็นเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ
โดยการวิเคราะห์จากพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์และ Mobile Data โดยไม่ต้องมีการใช้เอกสารเงินเดือนหรือหลักฐานทางการเงินใด ๆ ซึ่งหลังจากที่เริ่มเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ก็นำข้อมูลเรื่องการชำระเงินมาวิเคราะห์ร่วมด้วย
ทั้งนี้แม้ว่าจะเริ่มเปิดให้บริการสินเชื่อตั้งแต่ช่วงที่กำลังมีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 อย่างรุนแรงและต้องถูกกระหน่ำด้วยปัญหาน้ำท่วมตามมา แต่ด้วยเทคโนโลยีการประเมินความเสี่ยงที่ดีและสามารถปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดได้ทันสถานการณ์ ทำให้ MONIX ยังประคองตัวจนผ่านพ้นมาได้ดี ทั้งควบคุมคุณภาพหนี้และธุรกิจยังเติบโตได้กว่าที่ตั้งเป้าไว้จากเดิมที่วงเงินเพียง 200 ล้านบาท
นั่นคือหลังเปิดตัวได้เพียง 7 เดือน แต่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 500 ล้านบาทหรือเป็นลูกค้าราว 30,000 ที่วงเงินเฉลี่ยประมาณ 15,000 บาทต่อราย แม้ยังไม่ได้ทำการตลาดอย่างจริงจังมาก ทำให้สามารถเก็บข้อมูลฐานลูกค้าเพื่อนำมาใช้พัฒนาเครื่องมืออนุมัติสินเชื่อได้ดียิ่งขึ้นด้วย
แม้ปีแรกยอดวงเงินปล่อยสินเชื่อเกินเป้าที่เราต้องการ แต่ก็ไม่ได้มากจนเกินกว่าที่เราจะควมคุมความเสี่ยงได้ จนปีที่สองซึ่งเริ่มทำ rebrand เพิ่มทำ digital marketing ทำให้ตัวเลขเติบโตถึง 7 เท่าไปปิดที่ 3.6 พันล้านบาท โดยที่ตัวเลขหนี้เสียก็อยูในระดับหนึ่งหลักมาโดยตลอด
ล่าสุด บริษัทอนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้าแล้วกว่า 650,000 ราย (วงเงินเฉลี่ย 12,000 บาท/ราย ) คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 58% เมื่อเทียบจากปี 2564 และมีจำนวนสินเชื่อรวม 1.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตกว่า 117% เมื่อเทียบจากปี 2546
ทั้งนี้ ยังสามารถรักษาอัตราหนี้เสียให้อยู่ในระดับเลขหลักเดียว รวมถึงมีส่วนแบ่งตลาดติดหนึ่งใน Top 3 ของตลาด ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าที่จะปล่อยสินเชื่อรวมเพิ่มกว่า 1.5 เท่า หรืออยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังเน้นรักษาตัวเลขหนี้เสียไม่ให้เกินกว่าหนึ่งหลักเช่นเคย ตลอดจนมียอดดาวน์โหลด FINNIX แล้วกว่า 8.5 ล้านครั้ง
รวมถึงพบว่า ลูกค้าที่สมัครสินเชื่อผ่าน app ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาชีพค้าขาย ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน และกว่า 40% ของผู้กู้นั้นเลือกแผนการจ่ายแบบจ่ายตามใจ ซึ่งเป็นแผนการชำระหนี้ที่ออกแบบมาเพื่อให้มีความยืดหยุ่นตามกำลังทรัพย์ของลูกค้า นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้อัตราหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำมาจาก เกมล่าดาว* ภายใน app ซึ่งช่วยสร้างวินัยให้ลูกค้ารักษาเครดิตดีกว่าลูกค้าทั่วไปมากถึง 3 เท่า
เพื่อให้ตัวเลขสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมาย ก็น่าจะมีสื่อสารทาง above the line มากขึ้น จากเดิมที่เน้นขายตรงเป็นหลัก เพื่อให้กวาดลูกค้าได้มากขึ้น และขยายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น
สร้าง Ecosystem เสริมรายได้
ในปีนี้นอกจากเป้าหมายด้านตัวเลขแล้ว ในเชิงกลยุทธ์บริษัทจะมุ่งเน้นด้านการสร้าง Ecosystem มากขึ้น ทั้งการให้สินเชื่อ การหางานให้ลูกค้าเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ตลอดจนการให้ความรู้ เช่น เรื่องเงินกู้ ทักษะการทำงาน เป็นต้น จึงนำมาสู่ “อีโคซิสเต็ม F.I.R.E.” ที่ทำงานสอดประสานกับพันธมิตร เพื่อทั้งตอบสนองด้านสินเชื่อและตอกย้ำความเป็นแบรนด์คู่คนทำมาหากิน
เรามีความเชื่อว่า เงินกู้เป็นการช่วยลูกค้าระยะสั้น แต่การสร้างรายได้ให้ลูกค้าจะดีกับลูกค้ายิ่งกว่า จึงต้องการช่วยลูกค้าหางานเพิ่ม ที่ปัจจุบันนี้หางานให้ลูกค้าได้ถึง 15,000 คนแล้ว แต่ปีนี้จะมุ่งให้หาได้ถึง 30,000 คน
สำหรับ อีโคซิสเต็ม F.I.R.E. นั้นประกอบด้วย
1. F - Finance (มีเงินใช้) พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้สินเชื่อนาโนฟินนิกซ์ติดปีกและสินเชื่อบุคคลฟินนิกซ์อิกไนท์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น เช่น การให้วงเงินหรือคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงที่แตกต่างกันจากข้อมูลของลูกค้า พร้อมรุกขยายฐานลูกค้าสินเชื่อเพิ่มอีกหนึ่งเท่าตัวสู่กว่า 1 ล้านราย โดยตั้งเป้าเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าคนทำมาหากินในต่างจังหวัดเพิ่มเติม
2. I - Intel (เข้าใจตัวเอง) เปิดตัวรายงานสุขภาพทางการเงินเชิงลึกที่สะท้อนพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้า พร้อมวัดผลเป็นคะแนนและให้คำแนะนำที่เข้าใจง่ายกว่าใคร โดยใช้ AI และ Learning Machine เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าใจพฤติกรรมตนเองได้ชัดเจน ช่วยสร้างเสริมวินัยทางการเงินในระยะยาว
3. R - Reward (เร่งสร้างวินัย) ต่อยอดระบบเกมให้รางวัล (gamification) ให้หลากหลายยิ่งขึ้น จากความสำเร็จของเกมล่าดาว เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกค้ามีวินัยและรักษาเครดิตดีอย่างต่อเนื่อง โดยให้เป็นของรางวัลต่างๆ อาทิ ของขวัญพิเศษหรือวงเงินเพิ่ม พร้อมทั้งมอบสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าหรือบริการจากพันธมิตรในราคาประหยัดกว่าใครผ่านแอปฟินนิกซ์ เพื่อช่วยลดรายจ่ายในชีวิตประจำวัน
4. E - Empowerment (เสริมรายได้และความรู้) ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรจากสายธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น Daywork ดีวาน่า บีนีท ลาซาด้า ทิตาราม เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้ลูกค้าของแอปฟินนิกซ์ให้มีสภาพคล่องทาง การเงินที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ต่อไป
นอกจากนี้ ในปี 2566 MONIX ยังมีแผนเปิดตัวรายงานสุขภาพทางการเงิน หรือ รายงานฟินนิกซ์เครดิต (FINNIX Credit Report) ซึ่งเป็นนวัตกรรมของวงการแอปเงินกู้ถูกกฎหมายที่รายงานสุขภาพทางการเงินเชิงลึกของผู้กู้ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี AI เพื่อช่วยสะท้อนพฤติกรรมทางการเงินและนำมาซึ่งการรักษาวินัยทางการเงินของลูกค้าในระยะยาว
โดยบริษัทจะพัฒนาฟีเจอร์ที่เต็มรูปแบบนี้เป็นเจ้าแรกในเมืองไทย สำหรับตัวรายงานจะมีคะแนนบอกระดับสุขภาพทางการเงินด้านเครดิตของลูกค้าว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่เป็นเชิงบวกหรือที่ต้องระวัง พร้อมให้คำแนะนำที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้น สร้างวินัยทางการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจที่มุ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินให้สังคม
สำหรับมุมมองต่อธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้น ถิรนันท์ให้ความเห็นว่า ด้วยยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตในอัตราสูงขึ้นเกือบ 50% ขณะที่มีจำนวนผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 42 เป็น 56 ราย หรือเพียง 13% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าผู้ให้บริการรายใหม่ที่เข้ามาสร้างแรงเหวี่ยงได้ และส่วนใหญ่ยังเป็นให้บริการแบบ Digital Lending ตั้งแต่เริ่มแรก
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แท้จริง คือการทำให้หนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ดังนั้นยิ่งหากมีผู้ให้บริการเข้ามาในตลาดนี้มากเท่าไรก็ยิ่งดี รวมถึงยิ่งพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานแบบสถาบันการเงิน ก็ยิ่งช่วยให้การทำธุรกรรมของลูกค้าปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย
ถ้ามองในแง่ตัวเลขเชื่อว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีทิศทางการเติบโตสูง แต่ถ้าจะเข้ามาในตลาดแล้วจะ impact คืออยู่รอดและช่วยได้จริง ต้องมาในแบบ Digital Lending