วรวรรณ ตีโจทย์วิกฤติ SVB ผลจากดอกเบี้ยขาขึ้น ส่อแววลุกลามเป็นลูกโซ่
วรวรรณ ธาราภูมิ ตีโจทย์ปมปัญหาและผลจากวิกฤติของ SVB ชี้ผลลบจากดอกเบี้ยขาขึ้นทำขายพันธบัตรขาดทุน แล้วยังส่อแววลุกลามเป็นลูกโซ่ ให้จับตาราคาหุ้น ทองคำ พันธบัตร และ Crypto ผันผวน
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวงให้มุมมองถึงวิกฤติของ SVB (Silicon Valley Bank) ทางเฟซบุ๊ก วรวรรณ ธาราภูมิ โดยระบุว่า
SVB (Silicon Valley Bank) จะจุดชนวนระเบิดต่อระบบการเงินการลงทุนได้ขนาดไหน
————————————————————
SVB ถือเป็นสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจ Start Up มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ มีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 209,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้เสียหรือ NPL ไม่ถึง 1%
แต่เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม 2566 SVB ได้สร้างความตื่นตระหนกให้วงการการเงินธนาคาร การลงทุน และเทคโนโลยี กับบรรดา Start Up ไปทั่วโลก
เพราะจู่ ๆ แบงก์ก็ออกมาประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อใช้พยุงงบดุลตนเองถึง 2,250 ล้านดอลลาร์ในวันพุธที่แล้ว จนสร้างความตื่นตระหนกให้บรรดา Venture Capitals และ Start Ups รวมถึงลูกค้ารายบุคคลที่เป็นลูกค้าเงินฝากของ SVB พากันแห่ถอนเงิน ทำให้ SVB จำต้องขายพันธบัตรรัฐบาลที่ตนเองลงทุนในอดีตที่ได้ดอกเบี้ยในอัตราต่ำ (0%-1%) เพื่อหาเงินสดมาคืนลูกค้าที่แห่ถอนเงินฝาก
การนำพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำ 0%-1% มาขายในปัจจุบันซึ่งมีดอกเบี้ยสูง 4%-5% ย่อมได้ราคาที่ถูกลดลงไปมาก เป็นผลให้ SVB ขาดทุนไปประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์
ก็ใครอยากจะถือพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำขนาดนั้น ในเมื่อวันนี้มีพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าตั้งเยอะ ดังนั้นผู้รับซื้อจึงกดราคาลงไปมาก ทำให้ SVB ต้องขาดทุนจากการเร่งขายพันธบัตร ทั้ง ๆ ที่ถ้าถือจนครบกำหนดก็จะได้เงินต้นคืนครบ ไม่ต้องมาขาดทุนแบบนี้
เหตุการณ์นี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการที่ Silvergate Capital ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ให้พวกคริปโทเคอร์เรนซี ประกาศในวันเดียวกันนี้ว่าบริษัทจะเลิกกิจการ และจะขายสินทรัพย์ของ Silvergate Bank เพื่อชำระหนี้ หลังจากที่ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับการล้มระเนระนาดของบริษัทคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหลายในปีก่อนอย่าง FTX, BlockFi และ Three Arrows Capital
ข่าวนี้ทำให้เกิดกระแสแห่ถอนเงินฝากซ้ำอีก เพราะคนกลัวว่าเหตุการณ์นี้จะลุกลามจนถอนเงินออกไม่ทัน
การแห่ถอนเงินนี้อาการคล้ายกับอยู่ในโรงหนัง แล้วมีคนตะโกนว่า “ไฟไหม้ ๆ” ซึ่งทุกคนก็จะแห่กันวิ่งไปออกที่ประตูต่าง ๆ ที่เขามีให้ โดยไม่มีการคำนึงถึงเหตุผลใดใดทั้งสิ้น เพราะต่างคนต่างกลัวว่าไฟจะลุกลามมาถึงแล้วตัวเองจะหนีไม่ทัน
ธนาคารใดก็ตามหากลูกค้าเงินฝากตื่นตระหนกกลัวว่าแบงก์จะล้ม ธนาคารนั้นก็คงไร้ปัญญาที่จะหาเงินสดคืนให้กับลูกค้าที่แห่ถอนจำนวนมากในทันทีได้ ต่อให้เป็นธนาคารที่เข้มแข็งแค่ไหนก็ล้มเอาได้ง่าย ๆ แม้ว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เกี่ยวกับธนาคารนั้นเลย แต่เพียงแค่มีการปล่อยข่าวให้ผู้ฝากตกใจ ผู้ฝากก็จะเหมือนคนที่อยู่ในโรงหนังแล้วมีคนตะโกนว่าไฟไหม้นั่นแหละ
อาการแห่ถอนเงินเป็นไปอยู่ 2 วัน พอถึงวันศุกร์ก็ End Game “จบแล้วครับนาย” เพราะหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ได้สั่งปิดกิจการ SVB ในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 จนกลายเป็นเหตุการณ์แบงก์ล้มครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 และเป็นเหตุการณ์แบงก์ล้มครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของสหรัฐฯ
แล้วนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเลวร้ายเหมือนปี ค.ศ.2008 อีกครั้งหรือไม่ ?
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้พยายามคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในวงกว้าง ส่วน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง ก็แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ว่าระบบธนาคารของสหรัฐฯ ยังคงมีความยืดหยุ่น และผู้ควบคุมกฎก็มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับจัดการกับเหตุการณ์ลักษณะนี้
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งผลที่ทำให้เห็นกันว่าระบบการเงินของสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยภาระหนี้สินนั้นช่างเปราะบางยิ่ง
การปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบที่ Fed อาจจะคาดไม่ถึง และการล่มสลายของ SVB อาจจะกระพือปัญหาเป็นทอด ๆ ไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ เป็นลูกโซ่เหมือนกับปี 2008 จนต้องล้มลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ ข้าพเจ้ายังไม่พบว่า SVB เป็นแบงก์ที่ทำเลวร้ายอะไร
มันคงจะดีกว่านี้ถ้า Fed มีกองทุนที่ช่วยรักษาภาพคล่อง BSF เหมือนอย่างที่ ธปท. เคยจัดตั้งเมื่อไม่กี่ปีก่อนในยุคที่ผู้ว่าการ ธปท. ชื่อ ดร. วิรไท สันติประภพ และรัฐมนตรีคลังชื่อ ดร. อุตตมะ สาวนายน ซึ่งช่วยประคองระบบการเงินของเราไม่ให้เสียหายหรือพังทลายในวงกว้างจากความตื่นตระหนกแบบไฟไหม้โรงหนังได้
ปัญหาสำคัญสุดในขณะนี้คือถ้าไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ ลูกค้าจะพากันแห่ถอนเงินฝากออกจากหลาย ๆ ธนาคาร การที่ทางการสหรัฐฯ ปล่อยให้ตลาดคาดเดากันเองแบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกค้าตื่นตระหนกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤตศรัทธาและวิกฤตสภาพคล่องของธนาคาร SVB ได้ส่อแววว่าจะลุกลามต่อไปยังธนาคารอื่น ๆ ให้ล้มตาม SVB รัฐบาลสหรัฐฯ จึงเริ่มหารือถึงการจัดตั้งกองทุนหนุนเงินฝาก ขณะที่ FED เตรียมเรียกประชุมด่วนทันทีในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม เพื่อหาทางป้องกันและรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา
ส่วนมาตรการต่าง ๆ จะออกมาในรูปแบบใดบ้างยังไม่มีใครทราบ แต่นักลงทุนบางส่วนก็คาดว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยถึง +0.5% ในครั้งนี้ เพราะจะซ้ำเติมให้ตลาดตึงเครียดมากขึ้นอีก เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่ตลาดเงิน แต่ด้านตลาดทุนนั้นก็ลามจากราคาหุ้น SVB ที่ตกอย่างมหาโหด ไปยังราคาหุ้นแบงก์ต่าง ๆ เช่น First Republic และ PacWest ที่หุ้นร่วงตาม SVB มาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ ตลาดอสังหาฯ ก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะถ้าแบงก์ล้มแบบลูกโซ่เกิดขึ้น ราคาอสังหาฯ ที่สูงลิ่วก็น่าจะร่วงลงมาอย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงเวลาที่ฝุ่นกำลังตลบอยู่นี้จึงน่าติดตามดูว่าวันนี้ราคาหุ้น ทองคำ พันธบัตร และ Crypto จะเคลื่อนไหวรุนแรงและผันผวนขนาดไหน หรือไม่
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้ว่า “ทิศทางการบริหารนโยบายการเงินควรต้องปรับให้รับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจเหล่านี้ และแบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องรีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 29 มีนาคม นี้แล้วเนื่องจากอัตราเงินฟ้อไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก การส่งออกชะลอตัวแรง และกำลังการผลิตส่วนเกินยังเหลืออยู่จำนวนมาก จึงไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ในภาคการผลิต และแม้ว่าการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็ไม่ได้มีผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของประเทศ Emerging and Developing Asia ที่สูงกว่าทุกภูมิภาคที่ระดับ 4.9-5.0% จะกระตุ้นให้เงินไหลเข้าภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้อีกและสถาบันการเงินในไทยและเอเชียตะวันออกยังคงมีฐานะการเงินแข็งแกร่งจนสามารถรองรับกรณีการล้มละลายของธนาคาร SVB ได้”
บางทีสิ่งที่สหรัฐฯ ทำอยู่นี้ บางทีอาจพุ่งเป้าไปที่การล้างหนี้สินของดอลลาร์ ซึ่งถ้าไม่ทำอะไรเลยก็พังแน่ ๆ ก็ได้ ตรงนี้รออาจารย์ทนง ขันทอง วิเคราะห์ก่อน
ส่วนข้าพเจ้ามองว่า สิ่งที่สหรัฐฯ ทำกับชาวโลกทั้งเรื่องค่าเงินและดอกเบี้ย จะยังส่งผลต่อแบงก์ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ และจะยังไม่หยุดในระยะเวลาอันสั้น เราเองจึงต้องทำใจและระมัดระวัง ทั้ง ๆ ที่ด้วยสถานะของประเทศไทยนั้นเราไม่ควรไปยากลำบากอะไรกับเขาเลย ยิ่งถ้าเรามุ่งเน้นเรื่องมีกินมีใช้เพียงพอในประเทศแม้ว่าจะลำบากบ้างตามเกมส์การเงินโลก แต่เราจะลำบากน้อยกว่าคนอื่นมาก
และตามที่เคยกล่าวบ่อยๆ ว่า “ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส” กับ “ให้สำรองเงินสดไว้รอโอกาส” และ “ทุกวิกฤตสร้างคนรวยได้” นั้น ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันตามเดิม
ขณะนี้มีหุ้นหลายตัวใน SET ที่เป็นกิจการที่ดี มีอนาคต มีการบริหารที่ดี แต่ราคาตกลงไปมาก ๆ ข้าพเจ้ามองว่านั่นคือโอกาสถ้าเรามี cash แต่ต้องค่อย ๆ สะสม ไม่ต้องรีบร้อนเท cash ลงไปทั้งหมด
อย่าเพิ่งหวังว่าต่างชาติจะกลับเข้าตลาดในเร็ววันนี้ จากนี้ไปเป็นเรื่องของพวกเรา … นี่ถ้ามีเงินสดเยอะๆข้าพเจ้าจะทยอยตุนของไว้ปล่อยขายให้ต่างชาติในอนาคต
ว่าแล้วก็อยากชักชวนกันระดมเงินมาหาของดีราคาถูกไว้ขายต่อจริง ๆ เลย
วรวรรณ ธาราภูมิ
13 มีนาคม 2566