สกพอ. เดินหน้าแก้สัญญารถไฟความเร็วสูง เพิ่มเยียวยาเอกชน ก่อนส่งครม.ใหม่
สกพอ. เดินหน้าเจรจาแก้สัญญาร่วมทุนรถไฟความเร็วสูง ช่วงเชื่อม 3 สนามบิน ปลดล็อคปัญหาชำระค่าสิทธิ์แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ -โดยเพิ่มเรื่องเยียวยาเอกชน ก่อนส่งให้กพอ.-ครม.ใหม่ อนุมัติ คาดไม่น่าล้อหมุนทันปี 2570
จากกรณีที่การเจรจาแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ยังหาข้อยุติไม่ได้ แม้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ทั้ง 3 ฝ่าย คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซีหารือร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
ล่าสุด นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า การเจรจาร่วมกับเอกชนในการแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ว่า ปัจจุบัน รฟท. และบริษัท เอเชีย เอรา วันฯ ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯ อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการฯ
ส่วนประเด็นที่ยังติดปัญหาในการแก้ไขสัญญาโครงการฯ คือ การชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรล ลิงก์ โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด และการเพิ่มข้อความในการแก้ไขสัญญาฯใหม่ พบว่าสัญญาเดิมเกิดก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในสัญญาไม่ได้มีการระบุข้อความ หากโครงการฯไม่เป็นไปตามสถานการณ์ที่คาดไว้หรือมาจากปัจจัยภายนอก สามารถเปิดโอกาสให้ผ่อนผันในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ ทั้งนี้จะต้องมีการเยียวยาให้แก่เอกชนตามสัญญาด้วย
นอกจากนี้นายจุฬา ยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า โครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าอาจจะเปิดให้บริการไม่ทันปี 2570 เนื่องจากโครงการฯเริ่มดำเนินการล่าช้าจากการแก้สัญญาโครงการฯ โดย สกพอ.ตั้งเป้าหมายออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องรอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้แก่เอกชนก่อน จึงจะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้
ถึงแม้ว่าการแก้ไขสัญญาโครงการฯยังไม่แล้วเสร็จ แต่สามารถออก NTP หลังจากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยอยู่ภายใต้สัญญาเดิมก่อนได้ ทั้งนี้ในการแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จจะต้องเสนอให้คณะกรรมการรฟท.รับทราบและส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม หากได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ทางสกพอ.จะเร่งรัดเดินหน้าโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน เป็นโครงการแรกที่ต้องดำเนินการในการเจรจาร่วมกับเอกชน เพื่อเตรียมรอรับรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติแก้สัญญาฯ ต่อไป โดยการเจรจาในครั้งนี้ ทางสกพอ.ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเจรจาร่วมกับเอกชนแล้วเสร็จเมื่อไร
ทั้งนี้เมื่อเปิดให้บริการไฮสปีด 3 สนามบินแล้ว ในบริเวณพื้นที่รอบไฮสปีด 3 สนามบินสามารถพัฒนาได้ทันที เพราะรายได้ในโครงการฯไม่ได้เกิดจากค่าโดยสารโดยตรง แต่เกิดจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะพื้นที่หลักคือมักกะสัน หากพื้นที่มักกะสันสามารถเปิดให้บริการได้ จะช่วยเพิ่มรายได้ของโครงการได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวจากสกพอ. ที่ระบุว่า การแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ในกรณีที่กบอ. สั่งการให้รฟท.และเอกชน หารือข้อสรุปในการแก้ไขสัญญาโครงการฯในการชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ระหว่างการสร้างไปจ่ายไป หรือการให้รัฐชำระค่างวดงานก่อสร้างให้เอกชนเร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบโควิด-19 นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับเอกชน เบื้องต้นรฟท.จะมีการหารือร่วมกับเอกชนในการแก้ไขสัญญาฯอีกครั้งในวันที่ 12 เมษายนนี้
ทั้งในกรณีการสร้างไป-จ่ายไปเกิดจากการที่ สกพอ. รฟท. เอกชนและคณะกรรมการกำกับสัญญาฯโครงการได้มีการเจรจาสัญญาแล้วเสร็จ ซึ่งรัฐไม่ได้เสียประโยชน์ แต่เบื้องต้นที่ประชุมมีความกังวลในประเด็นการชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มอบหมายให้รฟท.กลับไปเจรจาจาร่วมกับเอกชน
จากเดิมให้สิทธิ์การชำระโดยสร้างไป-จ่ายไป"เป็นเดินรถไฟไฮสปีด 3 สนามบินไป-จ่ายไปแทน คาดว่าจะเสนอคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) อนุมัติอีกครั้งได้ ต้องรอภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ก่อน