"ธีระพงษ์" หนุนขยาย Ecosystem สู่ชุมชน เสริมเทคโนโลยี ดันไทยสู่ Smart City
ธีระพงษ์ ลิมป์ประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ชี้ การพัฒนา Ecosystem ให้ครอบคลุมชุมชนขนาดเล็ก ก่อนเสริมเทคโนโลยีตาม ช่วยผลักดันไทยสู่ Smart City
Post Today ร่วมกับ เนชั่น ทีวี 22 และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA จัดงานเสวนา “Post Today Thailand Smart City 2024” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์จากผู้บริหารภาครัฐและเอกชนชั้นนำ ในการผลักดันประเทศไทย ก้าวสู่ความเป็น Smart City อย่างยั่งยืน ณ โรงแรม Grand Hyatt Erawan กรุงเทพมหานคร
ในช่วง Smart life in Smart CIty เมื่อถามว่ามีทัศนคติอย่างไรกับคำว่า Smart life และประกอบด้วยปัจจัยอะไรบ้าง
นายธีระพงษ์ ลิมป์ประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ให้ความเห็นว่า ในมุมของตน Smart life เท่ากับ Smart Living นั้นคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจัยหลักๆของการวัดคุณภาพชีวิตที่ดี ตนแบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่
1. ความปลอดภัย ซึ่งเราต้องมีระบบต่างๆ เข้ามาสนับสนุนและรองรับ
2. ระบบสาธารณะสุข ปัจจุบันเทรนด์สุขภาพ เทรนด์สาธารณะสุขเมืองไทยเริ่มเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของเราค่อนข้างมาก แต่การเข้าถึงของคนทั่วไปยังอยู่ในจุดที่ยังต้องใช้เวลา
3. ระบบสาธารณูปโภค ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตในหลายด้าน เช่น การวัดค่าฝุ่น PM 2.5 การวัดระดับคาร์บอน ด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถป้องกันตัวเองล่วงหน้าได้
เมื่อถามว่า อะไรเป็นจุดเด่นของไทย ที่ทำให้เราสามารถก้าวไปสู่ Smart City ได้
นายธีระพงษ์ กล่าวว่า เครือข่ายโครงสร้างต่างๆของไทย รวมถึงระบบเน็ตเวิร์คประเทศเราไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น แต่ส่วนที่จะต่อยอด Smart City และใช้ได้จริงหลักๆ คือ คนไทย ประชาชนของเราทุกคน
ทุกวันนี้ คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตราว 85% ซึ่งเทคโนโลยีที่เรานำเข้ามานั้น “คน” คือปัจจัยหลักว่าจะทำอย่างไร พัฒนาอย่างไรให้การสื่อสารไม่กระจุกตัวแค่ในเมืองใหญ่ จะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีลงไปถึงระดับรากหญ้า และให้คนไทยหันมาใช้ของไทย พัฒนาไปด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน ช่วยส่งเสริมกันและกัน สิ่งนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เราเดินหน้าสู่ Smart City ได้
เมื่อถามว่า สถานการณ์ Climate change ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและสังคมอย่างไรบ้าง
นายธีระพงษ์ ให้ความเห็นว่า ในภาคธุรกิจหลักๆอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ตนมองว่าส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ Climate change คนไทยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ไม่ให้ผลกระทบเลวร้ายไปมากกว่านี้ คนไทยนั้นเป็นคนปรับตัวเก่ง สังเกตได้จากพฤติกรรมการปรับตัวช่วงโควิด–19 สิ่งนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์มากกว่า
เมื่อถามว่า ไลฟ์สไตล์ของคนไทยข้อใด ที่สมควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับกระแสความยั่งยืน
นายธีระพงษ์ มองว่า พฤติกรรมการปรับเปลี่ยนของคนไทยจะปรับไปตาม crisis หรือวิกฤตต่างๆ ตามสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจากต่างประเทศหรือในประเทศ ซึ่งตนมองว่าตัวหลักๆน่าจะเป็นค่านิยมมากกว่า เพราะเรายังด้อยค่าของไทยด้วยกันเอง เรายังไม่ใช้ของไทย ซึ่งทำให้ผู้พัฒนาต่อยอดได้ช้าเพราะขาดข้อมูล ขาดผลตอบรับจากผู้ใช้งานที่มากพอ และการพัฒนาส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งตามตลาดต่างประเทศ
ส่วนสาเหตุที่คนไทยไม่ใช้ของไทย ตนมองว่าเกิดจากการให้ข้อมูลทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ เราควรช่วยสื่อสารข้อมูลในทิศทางที่ดี อีกส่วนหนึ่งคือ คนไทยส่วนใหญ่เชื่อข้อมูลในโซเชียลมากกว่าฟังนักวิชาการ เขาเลือกสื่อในการบริโภค ดังนั้น หากเราให้ข้อมูลที่เป็นความจริงในโซเชียลมากพอ จะช่วยให้เราเปลี่ยนค่านิยมได้เป็นอย่างมาก
เมื่อถามว่าองค์กรของท่านมีส่วนร่วมผลักดัน Smart Life ของไทยอย่างไรบ้าง
นายธีระพงษ์ กล่าวว่า ตนเป็นสตาร์ทอัพ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่พัฒนาแพลตฟอร์มกับทาง DEPA ซึ่งตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราอยากเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทย และสิ่งที่เราจะช่วยได้คือกระจายตัว แพลตฟอร์มสู่ชุมชนให้เข้าถึงความเป็นดิจิทัลให้มากขึ้น เราพยายามนำแพลตฟอร์มให้ร้านค้าในต่างจังหวัดใช้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนเล็กๆ นอกจากนี้แพลตฟอร์มของเรายังเก็บค่า GP เพียง 10%
เราต้องสร้าง Ecosystem จากชุมชนขนาดเล็กให้ใช้งานได้ และกระขายให้ครอบคลุมถึงค้่อยเติมเทคโนโลยีอื่นเข้าไปเสริม ตนจึงอยากให้ผู้ประกอบการเปิดใจ และพัฒนา Ecosystem ไปพร้อมกัน จึงจะช่วยผลักดันไทยไปสู่ Smart City ได้