posttoday

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”ราคาทองลง 450 บาท

23 พฤษภาคม 2567

จับตาดัชนี PMI สหรัฐฯ หากออกมาดีกว่าที่คาด อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง มองกรอบเงินบาทวันนี้ อยู่ที่ระดับ 36.35-36.65 บาท/ดอลลาร์ ราคาทองคำเปิดเช้านี้ราคาลดลง 450 บาท ทองคำแท่งขายออก 41,100 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,600 บาท

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.50 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.33 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันอังคารที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.26-36.51 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง (ล่าสุดตลาดให้โอกาสเฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ราว 51% ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่เคยสูงถึงเกือบ 70%) หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย 

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) หลังประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณว่า ECB มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน หากแนวโน้มเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดหวัง ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์ก็ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 156.70 เยนต่อดอลลาร์ และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงที่ผ่านมา กอปรกับการย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาท (JPYTHB) ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวในช่วงราคาย่อตัวลง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบและเงินเยนก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้เช่นกัน

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia (ซึ่งผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด ทำให้ราคาหุ้น Nvidia พุ่งขึ้น +6% ในช่วง After Close) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.27% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อลง -0.34% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Total Energies -1.9% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ล่าสุด ที่ออกมาสูงกว่าคาดก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งภาพดังกล่าวก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรปบ้าง แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังได้แรงหนุนจากความหวังว่า ECB อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงเดือนมิถุนายน อีกทั้งหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยรวมปรับตัวขึ้นบ้าง ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของ Nvidia อาจออกมาดีกว่าคาด  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ในกรอบ 4.40%-4.50% ทยอยปรับตัวขึ้น โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้ง ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเน้นรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของทั้งเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินยูโร (EUR) ที่ล่าสุดพลิกกลับมาอ่อนค่าลง จากการที่ประธาน ECB ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเป็นการเริ่มลดดอกเบี้ยที่เร็วกว่าเฟดพอสมควร ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.5-105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย และการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินโอกาสที่เฟดอาจยังสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากขึ้น (ออกมาแย่กว่าคาด)

นอกจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอลุ้นรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้เงินบาทหมดโอกาสที่จะกลับไปแข็งค่าขึ้นชัดเจนในระยะสั้น (สอดคล้องกับมุมมองที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า) และเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน (โซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์) อีกครั้ง โดยเงินบาทยังคงเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ ทั้งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ (อาจเหลือไม่มากแล้ว) โฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่นและน้ำมันดิบ

นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็ยังมีความผันผวน โดยเราเริ่มเห็นการทยอยขายหุ้นไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติออกมาบ้าง อย่างไรก็ดี เรามองว่า แรงขายหุ้นไทยอาจชะลอลงบ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาสดใสขึ้น จากรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้โดยรวม เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.65 บาทต่อดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในอดีต เราพบว่า  ในกรณีที่รายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ราว +0.15% และเงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ในกรณีที่รายงานดัชนี PMI ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง -0.16% ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ 36.40-36.65 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทแกว่งตัวแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงก่อนรับรู้ข้อมูลดังกล่าว

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.65 บาท/ดอลลาร์

ราคาทองคำ

ขณะที่ ราคาทองวันนี้ 23 พ.ค. 2567 ตามประกาศสมาคมค้าทองคำ  เวลา 09. 03 น. (ครั้งที่ 1) ราคาทองคำลง 450 บาท  ส่งผลให้ราคาทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ มีราคาดังนี้

ราคาทองคำแท่ง
รับซื้อ  41,000.00 บาท
ขายออก 41,100.00 บาท

ราคาทองรูปพรรณ
รับซื้อ   40,264.96     บาท
ขายออก  41,600.00  บาท

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้  36.50 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”ราคาทองลง 450 บาท