posttoday

“ชาติศิริ” เตือนธุรกิจไทยปรับตัวรับมือ 3 ปัจจัยเสี่ยงป่วนโลก

17 มกราคม 2568

“ชาติศิริ” เตือนธุรกิจไทยปรับตัวรับมือ 3 ปัจจัยเสี่ยง ”การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี-ปัญหาขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์-climate change" ป่วนโลก

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยในโอกาสเปิดงานสัมมนา AEC Business Forum 2025 ซึ่งธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” จัดขึ้นในหัวข้อ ASEAN in the Age of Disruption ว่า ภายใต้สถานการณ์ในโลกปัจจุบัน มองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ปัญหาความขัดแย้งจากภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่นับวันสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น

โดยธนาคารมองว่า ทั้ง 3 ด้านเป็นความเสี่ยงที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ และต้องตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้มากขึ้น และไม่อยากให้สบายใจ อยากให้เตรียมตัว ระมัดระวัง ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เราถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

โดยเฉพาะความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคง และมีผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ สงครามการค้าจีนสหรัฐ ปัญหารัสเซียยูเครน ความตึงเครียดจากตะวันออกกลาง ที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ดังนั้นต้องเตรียมตัวรับมือกับความผันผวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ ที่จะเข้ามาในระยะข้างหน้า ที่อาจส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น เหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศอาเซียน ที่ทำให้เกิดการย้ายห่วงโซ่อุปทาน เกิดโลกาภิวัตน์ ที่จะเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีนับจากนี้

“สงครามการค้า ปัญหารัสเซีย-ยูเครน ล้วนเป็นเชื้อไฟที่ทำให้เกิดผลกระทบที่กว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นไม่อยากให้สบายใจ ต้องระมัดระวัง และต้องตระหนักถึงความท้าทายมากขึ้น” นายชาติศิริ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปัจจัยท้าทาย ความไม่แน่นอนที่มากขึ้น อีกด้านก็เป็นโอกาสสำหรับ “อาเซียน” เช่นเดียวกัน ทั้งทรัพยากรที่หลากหลาย แรงงานถูก ทำให้ยังเป็นจุดดึงดูดการลงทุนเข้ามาในอาเซียน และดึงดูดเม็ดเงินทั่วโลกเข้ามาสนใจลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายนอกประเทศ 

ดังนั้นมองว่า อาเซียนจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับโลก เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับความท้าทาย และโอกาสในยุคปัจจุบัน

โดยโอกาสของอาเซียน ในการเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนชั้นกลาง ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น เช่นเดียวกับการศึกษา การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว สนับสนุนให้ประเทศอาเซียนกำลังเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งเหล่านี้จะช่วยปรับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุน และยกระดับการขนส่งข้ามเศรษฐกิจ เสริมศักยภาพของภูมิภาคให้กลายเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มองว่า มีโอกาสอยู่มาก ตามการขยายตัวของอาเซียน โดยปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่ฝั่งทะเลภาคตะวันออก อีกทั้งโครงการเชื่อมลาว จีน ที่คาดว่าจะเสร็จในอีก 5 ปีที่ทำให้เกิดการเติบโตอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ส่งผลให้ช่วงที่ปีที่ผ่านมา เห็นการขอยอดส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI สูงสุดรอบ 10 ปี ด้วยการลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก และความท้าทายต่างๆ แบงก์กรุงเทพตระหนักดีว่า ลูกค้าจำเป็นต้องปรับตัว ที่ผ่านมาธนาคารจึงมีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan) รวมถึงสินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Bualuang Green Financing for Transition to Environmental Sustainability) เพื่อให้ลูกค้ารับมือ และปรับตัว ไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ Challenges Facing ASEAN in the Age of Disruption กล่าวว่า โจทย์ของประเทศไทย เวลานี้ เรากำลังอยู่ท่ามกลางความเชี่ยวกรากของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้ความเสี่ยงอย่างยิ่ง ดังนั้นอาจมีบางคนข้ามไปไม่ได้ และบางคนข้ามได้

โดยเฉพาะจากความท้าทายข้างหน้าที่จะมาจาก นโยบายของทรัมป์ ที่จะนำมาสู่ เทรดวอร์ เทควอร์รอบใหม่รวมถึง รวมถึงจากความเสี่ยงจาก คู่แข่งใหม่ๆ ที่มีต้นทุนต่ำ และสินค้าราคาถูกหลั่งไหลเข้ามาในไทย และภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น

“ในระยะข้างหน้า เราจะเจอกระแสความเชื่อมกราดอย่างมาก จนกระทั่งยักษ์ใหญ่อาจอยู่ไม่ได้ ดังที่เห็นมาแล้ว โดยเฉพาะบริษัทในไทย หลายแห่งที่ปิดตัว เช่น ธุรกิจยานยนต์ในไทย ที่ปัจจุบันมีการปิดบริษัทในไทย และข้างหน้าจะเห็นควบรวมมากขึ้น เหล่านี้สะท้อนถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รุนแรงมากขึ้น” นายกอบศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเสี่ยง ความท้าทาย เหล่านี้ยังมองว่ายังมีโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ที่ยังมีศักยภาพในภูมิภาคอาเซียนที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้น จากความเสี่ยงของโลก ทำให้อาเซียนดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ให้เข้ามาในอาเซียนมากขึ้น

ทั้งนี้ มีการประเมินศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโต และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 5 มูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์

ในส่วนของประเทศไทย คาดการณ์การส่งออกสินค้าในปีนี้จะขยายตัวมากขึ้น ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 35.5 ล้านคนเป็น 40 ล้านคนในปีนี้ ดังนั้นมองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเติบโตได้ 3% บวกลบ จากมาตรการรัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นโมเมนตัมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีต่อเนื่อง จากเครื่องจักรที่เติบโตพร้อมกันหลายเครื่องจักร ส่งออก การท่องเที่ยว การสนับสนุนจากภาครัฐ

ขณะเดียวกัน มองว่าหลังจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอาเซียน โดยหากดูจากเม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในอาเซียน รวมถึงไทยที่เห็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เข้ามาถึง 3 เท่าตัว หากเทียบกับอดีต สะท้อนว่ากำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง เงินที่ไหลมารอบนี้ ไม่เฉพาะไหลเข้าอาเซียน แต่ยังไหลเข้าไทยด้วย

“การลงทุนผ่าน BOI ที่สูงสุดที่รอบ 10 ปี มูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาทแล้ว เหล่านี้สะท้อนว่า เรากำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนแปลงประเทศ และนำไปสู่ยุคของการพัฒนาอีกแบบ วันนี้อาจจะยังไม่เห็น แต่เชื่อว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเห็นผลของการลงทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่าไปกลัวว่ากระแสการลงทุนจะไม่ไหลเข้าประเทศไทย หรือแม้จะไหลไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือ ธุรกิจต้องมีปรับตัว และมีความพร้อมทันต่อโอกาสที่จะเข้ามา” นายกอบศักดิ์ กล่าว