วิกฤตเศรษฐกิจโลกในยุคขาดผู้นำ ใครพร้อมยื่นมือเข้ามารักษาเสถียรภาพ?
วิกฤตเศรษฐกิจโลกในยุคขาดผู้นำ หลังสหรัฐฯ ลั่น "ไม่ประกันความมั่นคงของยุโรปอีกต่อไป" ใครพร้อมยื่นมือเข้ามารักษาเสถียรภาพ?
นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ Charles Kindleberger เคยสรุปสาเหตุภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 ที่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตระดับโลกว่า
“เป็นเพราะระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศขาดเสถียรภาพ อันเนื่องมาจากสหราชอาณาจักรขาดความสามารถ และสหรัฐฯ ไม่เต็มใจที่จะรับผิดชอบในการรักษาเสถียรภาพ”
Kindleberger เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจำเป็นต้องมี "ประเทศมหาอำนาจเป็นผู้นำ (hegemon)" ซึ่งเต็มใจแบกรับต้นทุนและความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ยิ่งไปกว่านั้น ต้องมีประเทศมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นถึงจะสามารถรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจโลกได้
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำมาหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการวิกฤตหนี้ในละตินอเมริกาช่วงทศวรรษ 1980, วิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 หรือวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009
สหรัฐฯ มักเป็นผู้เชื่อมสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว มิหนำซ้ำ ยังได้ผลประโยชน์จากบทบาทในเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ไม่น้อย
ทว่า ความสามารถของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำเริ่มถดถอยลงจนหลายคนอาจพอสังเกตได้อยู่เนืองๆ สืบเนื่องจากการรุกคืบของจีนแผ่นดินใหญ่
เคราะห์หามยามร้าย ในการประชุมที่มิวนิกสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ ยังแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า “จะไม่รับประกันความมั่นคงของยุโรปอีกต่อไป”
มาถึงจุดนี้ ใครเล่าจะยังเฝ้าศรัทธาว่า “สหรัฐฯ ยังสามารถค้ำเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกได้?”...
ตัดภาพมาที่ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก จีนเองก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะยื่นมือเข้ามารับผิดชอบบทบาทดังกล่าว
ตรงกันข้าม จีนกลับกลายเป็นตัวสร้างความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยการก่อภาวะเงินฝืดภายในแผ่นดินใหญ่เอง จนประเทศอื่นๆ ต้องคอยช่วยแบ่งรับแบ่งสู้
เมื่อไม่มีประเทศไหนใหญ่พอจะกุมอำนาจ หรือกระหยิ่มยิ้มย่องเข้ามาเป็นผู้นำที่เต็มใจแบกรับต้นทุนและความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
เรา ในฐานะปุถุชนคนธรรมดา จึงกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ ที่จะใหญ่กว่าเดิมหรือไม่นั้น ยังไม่มีใครทราบชะตากรรม…
Kindleberger ระบุว่า การขาดประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1930 ส่งผลให้ไม่มีใครแบกหน้าที่สำคัญ 3 อย่าง อันได้แก่:
- การรักษากลไกตลาด
- การให้เงินกู้ระยะยาวแก่ประเทศที่มีปัญหา
- การทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางที่ให้สินเชื่อระยะสั้นเพื่อแลกกับหลักทรัพย์ค้ำประกันในช่วงเวลาวิกฤต
ผลที่ตามมาคือการกีดกันทางการค้า การลดค่าเงิน หนี้สงคราม และวิกฤตการเงินที่ลุกลามจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศอื่นๆ
แม้ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น สหรัฐฯ ก็ไม่เต็มใจที่จะรับหน้าที่นี้อีกต่อไป หรือถ้าต้องทำอย่างเสียมิได้ ก็คงต้องมีเรียกค่าตอบแทนกันบ้างพอกรุบกริบ
เค้าลางเริ่มเห็นได้ชัดจากนโยบายภาษีของ Donald Trump และทัศนคติต่อการให้เงินกู้สนับสนุนระยะยาว
เช่น การให้ความช่วยเหลือต่อยูเครน ที่สหรัฐฯ ยอมรับว่าถือเป็นการลงทุน แต่ก็ต้องการผลตอบแทนเป็นตัวเงิน
ซึ่งในจุดนี้เอง ใครบ้างที่จะพอมองเห็นว่าเป็นการก่อวิกฤตหนี้สงครามครั้งใหม่
ไม่แปลก! ถ้าเราลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นอเมริกันชน ก็คงอดไม่ได้ที่จะเท้าเอววีน ตาเขียวปั๊ด “ทำไมประเทศฉันต้องแบกโลกไว้ทั้งใบ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแอตลาส (Atlas) ก็ดีอยู่แล้ว!”
ก็ดูสมเหตุสมผลอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าไม่ใช่สหรัฐฯ แล้วใครล่ะ? ซึ่งหากคำตอบที่ได้คือ “ไม่มี” เราก็คงต้องเตรียมใจ กลับไปสู่ทศวรรษ 1930 และก้มหน้าก้มตารับวิกฤตทางการเงินอีกครั้ง
แม้จะมีความแตกต่างระหว่างทศวรรษ 1930 กับปัจจุบันที่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นบ้าง เช่น:
- ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวที่ช่วยชดเชยผลกระทบจากภาษีของ Trump
- สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิต
- ธนาคารโลกและ IMF ที่ยังให้สินเชื่อระยะยาวกับประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ
- เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง
- เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากของจีนและประเทศในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควรนิ่งนอนใจ IMF เองก็ยังมีปัญหาในการจัดการกับกรีซ ไอร์แลนด์ และอาร์เจนตินา
หากเกิดวิกฤตทางการเงินในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทรัพยากรของ IMF จะไม่เพียงพอ และการดำเนินงานของ IMF มักต้องอาศัยการนำของสหรัฐฯ
สถานการณ์ในทศวรรษ 2020 นี้น่าเป็นห่วงกว่าที่ Kindleberger เคยกังวลในทศวรรษ 1970 เรามีมหาอำนาจคู่แข่งสองประเทศคือสหรัฐฯ และจีน ทั้งคู่ต่างอยากเป็นผู้นำ แต่ไม่มีใครเต็มใจรับผิดชอบบทบาทนี้อย่างแท้จริง
หากเรายังพอมีบุญเก่าอยู่บ้าง ก็อาจรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งมโหฬารที่ต้องการ "ประเทศมหาอำนาจเป็นผู้นำ (hegemon)" เพื่อประสานรอยร้าวของปัญหา
แต่ก็อย่างว่า อนิจจาความสุขไม่จีรัง สิ่งที่เราควรทำคือเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันระหว่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายภายในประเทศอย่างรอบคอบ
จะได้ไม่ต้องรอคอยความเมตตาจากคนอื่นหากเกิดวิกฤตจวนตัว
“อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่”