ดร.คณิศ ชี้ทรัมป์ขึ้นภาษีไทย-ลาวอ่วม ระยะสั้นอัตราเงินเฟ้อพุ่ง
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ชี้ "ทรัมป์" ขึ้นภาษีนำเข้า กระทบเศรษฐกิจโลก ไทย-ลาวอ่วม ระยะสั้นอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้น แนะสร้างความเข้มแข็งทางการค้าในภูมิภาคโต้มาตรการสหรัฐ
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ประเมินผลกระทบและแนวทางการตอบโต้กรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา (LDCs) รวมถึงประเทศไทยและลาว ที่จะได้รับผลกระทบหนักกว่าประเทศพัฒนาแล้ว (DCs) และจีน
ผลกระทบต่อสหรัฐฯ:
- ระยะสั้น (1-12 เดือน): อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณสินค้าในระบบและกำลังซื้อของประชาชนลดลง เนื่องจากรายได้แท้จริงลดลง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะเพิ่มสูงขึ้น และมูลค่าตลาดหุ้นจะลดลง แนวทางบรรเทาผลกระทบคือการลดภาษีภายในประเทศและการลดราคาน้ำมันผ่านการเร่งผลิตพลังงาน
- ระยะปานกลาง (8-12 เดือน): จะเป็นช่วงของการปรับตัวเพื่อผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
- การส่งออกสินค้าของทุกประเทศจะลดลง ส่งผลให้ GDP หดตัว และ GDP โลกจะลดลงในระยะสั้น
- อัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อ LDCs สูงกว่า DCs และจีนมาก ส่งผลให้ LDCs ได้รับผลกระทบมากกว่า (ลาว 48%, ไทย 36%, จีน 34%, EU 20%)
- คาดการณ์ว่าจะมีสินค้าส่วนเกินจากจีน อินเดีย และสหภาพยุโรป ไหลทะลักไปยังประเทศอื่น ๆ ในปริมาณมากและราคาถูก (Beggar Thy Neighbor) ซึ่งอาจนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าในประเทศนอกสหรัฐฯ
แนวทางการตอบโต้
- ประเทศที่ได้รับผลกระทบจะคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในจีน อินเดีย สหภาพยุโรป และอาเซียน
- ประเทศนอกสหรัฐฯ จะหันไปเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าในภูมิภาค เช่น AFTA และ RCEP ในขณะที่เวทีเอเชีย-แปซิฟิกที่สหรัฐฯ จัดตั้งไว้จะหมดบทบาท
- จีนและกลุ่ม BRICS จะผลักดันทางเลือกในการตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ
- องค์การการค้าโลก (WTO) ที่ไม่รวมสหรัฐฯ อาจเป็นทางเลือกในการกำกับดูแลการค้าโลก โดยเน้นการค้าเพื่อการพัฒนามากกว่าการค้าเสรี
"มาตรการดังกล่าวจะสร้างความไม่สมดุลของภาวะเศรษฐกิจมหภาคใน LDCs โดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดเล็กที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก จึงต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น" ดร.คณิศ กล่าว