กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กขอรัฐ หนุนใช้วัสดุในประเทศ กันสินค้าทะลักจาก ‘ภาษีทรัมป์’
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตฯ ขอภาครัฐหนุนใช้วัสดุในประเทศ ออกนโยบายป้องกันการทุ่มตลาดอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว หลังกังวลสินค้าทะลักจากนโยบาย ‘ภาษีทรัมป์’
นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉายภาพผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กจากนโยบาย ‘ภาษีทรัมป์’ บนเวทีเสวนา Roundtable “Trump’s Global Quake : Thailand Survival Strategy จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และโพสต์ทูเดย์ วันนี้ (9 เมษายน 2568) ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ ว่า
โลกมีความต้องการเหล็กอยู่ที่ 1,800 ล้านตัน โดยจีนมีความต้องการจำนวนครึ่งหนึ่ง และมีกำลังการผลิตที่ 1,100 ล้านตัน ส่วนสหรัฐอเมริกามีความต้องการอยู่ที่ 100 ล้านตันต่อปี และนำเข้าอยู่ที่ 25 ล้านตันคือ 1 ใน 4 ของความต้องการ
ส่วนประเทศไทยต้องการจำนวน 16 ล้านตันต่อปี สามารถผลิตเองได้ที่ 7 ล้านตันที่เหลือเป็นการนำเข้า โดยมีอัตราการผลิตต่ำที่สุดคือ 28%ในปีที่แล้ว
เมื่อดูเรื่องผลประกอบการ อุตสาหกรรมเหล็กในจีน ผลประกอบการไม่ดีจากข้อมูลของบลูกเบิร์ก 75% ของผู้ประกอบการขาดทุน เนื่องจากกำลังการผลิตล้นกว่าความต้องการของตลาด ส่วนอเมริกาผลประกอบการดี และไทยไม่ดี
ความแตกต่างดังกล่าว เกิดจากการที่สหรัฐฯ ในยุคสมัยของรัฐบาลทรัมป์ 1 ใช้กฎหมายปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียม และล่าสุดในยุคทรัมป์ 2.0 อุตสาหกรรมเหล็กโดนเรียกเก็บภาษีที่ 25% อลูมิเนียมถูกปรับขึ้นเป็น 25% อาจจะเป็นเพราะว่าสภาพการณ์นี้เป็นสิ่งที่อเมริการับได้ ธุรกิจไปได้ ราคาที่ค่อนข้างสูงก็ไม่สูงไปกว่านี้ เพราะสามารถนำเข้าได้อีก ซึ่งนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก บราซิล ส่วนจีนเองส่งไปที่อเมริกาที่ 5 แสนตัน ส่วนไทยไม่เกิน 2แสนตันเท่านั้น
เพราะฉะนั้นผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเหล็กนั้นไม่มาก และไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามผลทางอ้อม คือ เหล็กที่ไม่สามารถส่งไปได้จะเข้ามาทางอาเซียน เพื่อกลายเป็นที่ระบายสินค้า จากผลทางอ้อมนี้ ทุกประเทศก็คงมีแนวโน้มตั้งการ์ดเรื่องอุตสาหกรรมเหล็ก เพราะมักจะผลิตเกินการใช้งาน
ในสถานการณ์นี้ เอกชนและผู้ประกอบการต้องพยายามหาโอกาสที่จะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์เพื่อเพิ่มการส่งออก เพราะแม้ว่าค่าขนส่งแพงแต่ราคาที่ขายยังพอได้
ในส่วนของภาครัฐ จำเป็นต้อง ป้องกันการทุ่มตลาด แต่ควรจะออกมาตรการต่างๆ และลงมืออย่างรวดเร็ว อะไรที่ไม่เป็นธรรมต้องยุติ
นอกจากนี้อยากขอให้ภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยสร้างถนนเยอะแล้ว แต่ระบบเขื่อน ชลประทานเพิ่มเติมควรจะพิจารณา เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการก่อสร้างในประเทศแล้ว ยังส่งผลระยะยาวต่อเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรไทยยังเข้าถึงระบบชลประทานแค่ 17% การลงทุนนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และกระตุ้นการจ้างงานและการบริโภคในประเทศด้วย
ท้ายสุด คือ ภาครัฐควรจะสนับสนุนวัสดุในประเทศ โดยการตั้งเป้าสูงขึ้นในโครงการต่างๆ ให้ถึงราว 50%