BAY โค้งแรก กำไร 7,533 ล้าน ลดลง 0.1% ตามรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง
BAY ไตรมาส 1/68 กำไรสุทธิ 7,533 ล้านบาท ลดลง 0.1% ตามรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้น 20% จากการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ พร้อมบริหารต้นทุนเสริมประสิทธิภาพ
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 7,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.0% จากไตรมาส 4/2567 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากยุทธศาสตร์ของกรุงศรีในปี 2568 ที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงนโยบายการบริหารต้นทุนทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิในไตรมาส 1/2568 ลดลง 0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงจากการหดตัวของเงินให้สินเชื่อภายใต้บริบทดอกเบี้ยขาลง โดยผลกระทบดังกล่าวถูกชดเชยบางส่วนจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ของธุรกิจในอาเซียนที่ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนเงินให้สินเชื่อรวม ทรงตัวจากสิ้นเดือน ธ.ค.2567 ท่ามกลางความท้าทายและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น แต่จากการดำเนินงานเชิงรุกที่มุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 4.7% หรือจำนวน 30,904 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งสินเชื่อเพื่อรายย่อยปรับตัวลดลง 2.4% และ 2.5% ตามลำดับ
ด้านเงินรับฝาก เพิ่มขึ้นที่ 0.9% หรือจำนวน 16,753 ล้านบาท จากสิ้นเดือน ธ.ค.2567 จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนเงินรับฝากที่มีต้นทุนต่ำ ประกอบด้วยเงินรับฝากประจำที่มีอายุน้อยกว่าหกเดือนและเงินรับฝากออมทรัพย์ สุทธิด้วยการลดลงของเงินรับฝากประจำที่ต้นทุนสูงกว่าและระยะเวลานานกว่า สะท้อนการบริหารสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงินเชิงรุกและรอบคอบระมัดระวัง
ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.1% เพิ่มขึ้น 7 เบสิสพอยท์ จากไตรมาส 4/2567 โดยมีปัจจัยหลักมาจากต้นทุนเงินรับฝากที่ลดลง สะท้อนการบริหารต้นทุนทางการเงินเชิงรุก ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างและระยะเวลาของเงินรับฝากอย่างมีประสิทธิภาพ
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 5.4% หรือ 607 ล้านบาท จากไตรมาส 1/2567 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สูญรับคืน กําไรจากทรัพย์สินรอการขายและเงินปันผล
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นที่ 45.7% เทียบกับ 46.5% ในไตรมาส 4/2567 จากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินงานของธนาคาร
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ที่ 3.29% ขณะที่อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 211 เบสิสพอยท์ ในไตรมาส 1/2568 เมื่อเทียบกับ 234 เบสิสพอยท์ ในไตรมาส 4/2567 ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับ 124.5%
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 19.14% เทียบกับ 19.38% ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2567
นายเคนอิจิ กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเน้นการเติบโตตามเป้าหมายเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ท้าทายและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการสินเชื่อเพื่อการดำเนินงานและการลงทุน สะท้อนคุณภาพการเติบโตในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว
“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะในภาคการผลิต รวมถึงปัญหาการทะลัก (Flooding) ของสินค้าจีนมายังไทย ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี”
ณ วันที่ 31 มี.ค.2568 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.90 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.84 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.63 ล้านล้านบาท
ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 317.50 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 19.14% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 14.91%