posttoday
เมื่อโลกแตกขั้ว! สินค้าแพง-รายได้หด คนไทยเอาตัวรอดอย่างไร?

เมื่อโลกแตกขั้ว! สินค้าแพง-รายได้หด คนไทยเอาตัวรอดอย่างไร?

22 เมษายน 2568

สงครามการค้าเดือด! เศรษฐกิจแยกข้าง สินค้าแพงสวนทางรายได้หด เราจะรอดอย่างไร ? "วิโรจน์ ตั้งเจริญ" แนะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้หลายทาง

KEY

POINTS

  • สงครามการค้าทำให้โลกสั่นสะเทือน เศรษฐกิจแยกข้าง สินค้าแพงสวนทางรายได้ เราจะอยู่รอดได้อย่างไร ?
  • "วิโรจน์ ตั้งเจริญ" แนะกลยุทธ์ฝ่าวิกฤต ทั้งลดรายจ่าย ปั้นร

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคแห่ง “สงครามเศรษฐกิจ” ที่ร้อนแรงไม่แพ้สงครามจริง ประเทศมหาอำนาจใช้ภาษีการค้าทำลายล้างกันอย่างดุเดือด ส่งผลให้โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “ค่าครองชีพพุ่ง” สวนทาง “รายได้ที่นิ่งสนิท” 

คนทำงาน พ่อค้าแม่ค้า หรือแม้แต่นักลงทุน ต่างเริ่มตั้งคำถามเดียวกันว่า..."เราจะอยู่รอดในยุคที่เงินหายาก แต่รายจ่ายไม่มีวันหยุดได้อย่างไร ?"

"โพสต์ทูเดย์" จะพาคุณไปรู้จักกับแนวคิดและคำแนะนำจาก “วิโรจน์ ตั้งเจริญ” นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ชี้ 3 ทางรอดผ่านหลักการสำคัญ "รัดเข็มขัดให้แน่น, ปั้นรายได้ใหม่ และจัดพอร์ตลงทุนอย่างชาญฉลาด" พร้อมถอดรหัสวิธีคิดทางการเงินยุคใหม่ที่ทุกคนต้องมี หากไม่อยากตกขบวนแห่งความมั่นคงในอนาคต

เมื่อโลกแตกขั้ว! สินค้าแพง-รายได้หด คนไทยเอาตัวรอดอย่างไร?

"วิโรจน์ ตั้งเจริญ" นายกสมาคมฯ เล่าให้ฟังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อโลกเผชิญสงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจนั้นได้แบ่งโลกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ปัญหาที่ตามมา คือ ราคาสินค้าสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนจะทำอย่างไรที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสถานการณ์นี้ที่ "รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันรายจ่ายที่สูงขึ้น"

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย อยากให้ประชาชนให้ความสำคัญในการวางแผนการเงินอย่างจริงจัง เริ่มลงมือทำทันที พร้อมกับการตั้งการ์ดสูง รัดเข็มขัด ลดรายจ่ายที่ไม่จําเป็น เพื่อสร้างเงินออมเกิดขึ้น

นอกเหนือจากลดรายจ่ายแล้ว สิ่งที่ต้องเพิ่มคือ "ฝึกทักษะ" ไม่ว่าจะอยู่ภาคอาชีพใดต้องฝึกทักษะมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มอีกช่องทางปั้นรายได้เสริมในอนาคต เนื่องด้วยชีวิตคนเราไม่มีความแน่นอนจึงต้องเพิ่มรายได้ที่สองและสามเข้ามาเติมเต็ม 

"อยากให้ทุกคนลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ก้อนที่หนึ่ง ก้อนที่สอง ก้อนที่สามเข้ามา ท่านใดที่ทํางานอยู่ มีอาชีพประจํา ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจํา หรืออาชีพอิสระ ตอนนี้ต้องกอดอาชีพเราให้แน่นๆ เพราะเป็นตัวหลักในการสร้างรายได้ อย่าหุนหันพลันแล่นออก ตรงไหนที่ยังสามารถทํางานได้มีความสุขในระดับนึงให้อยู่ไปก่อนเพื่อสร้างความมั่นคงฝั่งรายรับและรายจ่าย"

อีกสิ่งหนึ่งที่ทําให้การก้าวไปสู่ความมั่นคงทางการเงินอาจจะไม่สําเร็จ หรือมีอุปสรรค นั่นก็คือ "การก่อหนี้โดยไม่คิด" ถามว่าการก่อหนี้สามารถทําได้หรือไม่ ทำได้! เพียงแต่ทําได้เฉพาะในสิ่งที่จําเป็นต้องทำจริงๆ 

"ก่อนที่เราจะเดินเข้าไปขอสถาบันการเงินในการกู้เงิน ผมอยากให้พี่น้องคนไทยกลับมาคิดสักนิดว่าหนี้สินที่เราจะก่อขึ้นมันเกิดประโยชน์ หรือเป็นแค่ความสุขช่วงสั้นๆ หรือแค่ตอบโจทย์ความอยากมี อยากได้ความสะดวกสบายเหมือนคนอื่น ดังนั้นก่อนก่อหนี้ให้คิดถึงอนาคตว่าจะใช้เงินก้อนไหนในการดูแลชีวิตช่วงเกษียณ"

อีกมุมหนึ่ง สถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกระทบการลงทุนทุกภาคส่วน การลงทุนไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเสถียรเมื่อไหร่ แม้สหรัฐฯกําหนดทบทวนเจรจาขึ้นภาษีภายใน 90 วันแต่นั่นไม่ได้การันตีว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี ขณะที่จีนบอกว่าอะไรก็ตามที่แต่ละประเทศไปเจรจากับทางอเมริกาแล้วกระทบกับจีน ย่อมมีปัญหาแน่นอน 

ฉะนั้นภาพการลงทุนจากนี้จะเกิดสภาวะ Risk Off หมายความว่าคนจะถอยออกมา เชื่อหรือไม่ว่า.. พอร์ตการลงทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศไทยไม่มีการปรับเปลี่ยน ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งที่ไม่ดีจะกลับมาดีที่เดิม ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันได้ด้วยสถาการณ์เปลี่ยน โลกเปลี่ยน การดําเนินธุรกิจมีการปรับเปลี่ยน นั่นหมายความว่าสิ่งที่ต้องทำคือ "ลดพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงลง ถือเท่าเดิมไม่ได้" 

สำหรับ "นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง" อาจต้องกลับมาประเมินว่าเป้าหมายยังเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะเป้าหมายทางการเงินจะเป็นตัวกําหนดพอร์ตการลงทุนนั้นเงินต้องวิ่งไปจํานวนเท่าไหร่ ทบทวนเป้าหมายใหม่ เช็คระยะเวลาการลงทุนบรรลุเป้าหมายใหม่ ถ้าระยะลงทุนสั้นลงการเร่งในภาวะที่ไม่แน่นอนสูงจะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมาก

"คนที่รับความเสี่ยงได้สูง อย่างน้อยต้องลดสินทรัพย์เสี่ยงสูงลงเหลือ 10-20% จากเดิมที่เคยลงทุน 70% ขึ้นไปอาจต้องลดทอนลงมาเหลือ 50-60% อยู่ในสินทรัพย์ที่เราเรียกว่า ใกล้เคียงกับเงินสด ไม่ว่าจะเป็นตราสารที่อยู่ในตลาดเงิน หรือพักในกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรอสถานการณ์คลี่คลายให้มันเห็นภาพก่อนว่าทิศทางจะไปทางไหนแล้วค่อยจัดสรรสินทรัพย์" 

ขณะที่ "นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ระดับกลาง" ควรปรับระดับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่เคยลงทุนระดับ 50% ลงมาเหลือ 30-40% หรือ 10-20% ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน

ส่วน "คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ" จากที่เคยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 30% อาจลดลงเหลือ 10-20% หรือบางท่านอาจจะลดลงจาก 10% ลงเหลือ 5% ส่วนท่านที่เป็นนักลงทุนที่ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟต้องลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย

"สถานการณ์ปัจจุบันอยากชวนทุกคนทบทวนแผนการลงทุน และปรับพอร์ตลงทุนเพื่อให้สอดรับกับสภาวะการลงทุนและความเสี่ยง ส่วนท่านใดที่ไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร ผมคิดว่ามีผู้เชี่ยวชาญที่เป็น CFP ด้านต่างๆ ที่ปรึกษาทางการเงิน AFPT ที่อยู่ในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง หรือที่ปรึกษาในเมืองไทยที่เป็นฟรีแลนซ์สามารถให้คําแนะนําแผนการลงทุนได้เช่นกัน"

เมื่อโลกแตกขั้ว! สินค้าแพง-รายได้หด คนไทยเอาตัวรอดอย่างไร?

แม้สงครามเศรษฐกิจจะทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสนามรบ! จากโต๊ะอาหารถึงโต๊ะลงทุน แต่ประชาชนอย่างเราไม่จำเป็นต้องยอมแพ้ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองทางการเงิน วางแผนอย่างเป็นระบบ และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง

เริ่มจากวันนี้ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น , เสริมทักษะ , เพิ่มรายได้สำรองหลายทาง และ ทบทวนพอร์ตลงทุนให้เข้ากับสภาวะการณ์

ที่สำคัญ… อย่าก่อหนี้เพื่อความสุขชั่วคราว เพราะอนาคตของคุณอาจต้องจ่ายราคาแพงกว่านั้นมาก! ถึงเวลายืนหยัดด้วยแผนการเงินที่มั่นคง และปรับตัวให้ทันโลกที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

Thailand Web Stat