BlueBell มุ่งโต 300% คาดอีก 4 ผลิตภัณฑ์ขึ้นหิ้งในไตรมาส 2 เล็งต่อยอดทำ บลน.
บล.บลูเบลล์ หรือ BlueBell ตั้งเป้าโต 300% หรือทำยอดขายหุ้นกู้ 1.5 หมื่นล้านบาท เตรียม 4 ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น หุ้นกู้ดิจิทัล ขึ้นหิ้งไตรมาส 2 ปีนี้ ต่อยอด Best Investment Solution ตอบโจทย์ลูกค้ารุ่นใหม่ เล็งเปิดธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน หรือ บลน. ไตรมาส 3
ด้วยแพชชั่นที่จะทำธุรกิจค้าตราสารหนี้ตามแนวทางที่ต้องการ หลังได้มีโอกาสร่วมงานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จาก บล. โกลเบล็ก มาได้ระยะหนึ่ง นริสรา ชัยวัฒนะ จึงตัดสินใจชวนกลุ่มเพื่อนร่วมงานมาก่อตั้งกิจการของตัวเอง ด้วยเงินทุนแรกเริ่มที่ 50 ล้านบาท จนนำไปสู่การก่อเกิด บล. บลูเบลล์ จำกัด หรือ BlueBell ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ในวงการบริษัทหลักทรัพย์ที่มีเส้นทางทำธุกกิจในแบบที่ตัวเองเลือกและสร้างสรรค์ได้แบบไร้ข้อจำกัด
โดยบล. บลูเบลล์ เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มุ่งสร้างแนวทางใหม่ ซึ่งมีนริสรา เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 70% และรับบทบาทเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เมื่อมิถุนายน ปี 2565 ด้วยยึดหลักการทำธุรกิจ 2 ข้อ คือ 1) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และ 2) การดูแลลูกค้าตลอดเส้นทางลงทุน
เราสนใจทำธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ จึงไม่อยากทำเรื่องหุ้นเลย แต่เราอยากทำตราสารหนี้ Crowdfunding หุ้นกู้ดิจิทัล หรืออะไรใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ที่คนอื่นขายกันอยู่มากมายแล้ว
ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 6 เดือน BlueBell สามารถจัดจำหน่ายหุ้นกู้ครึ่งปี 2565 ที่มูลค่ากว่า 5.5 พันล้านบาท โดยทำรายได้ถึง 70 ล้านบาท และมีกำไร 12 ล้านบาท ตามที่นริสรายืนยันว่า ธุรกิจนี้กำไรดีมาก จึงทำกำไรได้ตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดกิจการแล้ว
นั่นคือ แม้ว่า BlueBell จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์น้องใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 และได้รับอนุญาตจาก สำนักงาน ก.ล.ต. ให้เริ่มประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565
แต่ที่ผ่านมา สามารถพิสูจน์ความสำเร็จในการจำหน่ายหุ้นกู้ได้ตั้งแต่ดีลแรก นั่นคือ “หุ้นกู้ของบริษัท ไทยแอร์เชีย จำกัด” (TAA) กว่า 700 ล้านบาท จนปัจจุบัน มีเปิดเสนอขายดีลหุ้นกู้ไปแล้วกว่า 23 ดีล รวม 34 รุ่น รวมเป็นยอดจัดจำหน่ายหุ้นกู้มูลค่า 5,550.30 ล้านบาท
สำหรับเป้าหมายในปีนี้นอกจากมุ่งสร้างรายได้ที่ 170 ล้านบาทและทำกำไรให้ได้ถึง 50 ล้านบาทแล้ว ยังตั้งเป้าเติบโต 300% หรือยอดขายหุ้นกู้ 15,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 และมุ่งที่จะขยายฐานลูกค้ากลุ่ม กลุ่ม High Net Worth ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไปต่อเดือน
นริสรา เน้นย้ำถึงแนวทางของ บล. บลูเลลล์ อีกว่าก่อตั้งขึ้นจากปณิธานของทีมทำงานอย่างแท้จริง เพราะทีมทำงานคือผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรงกับปัญหาต่าง ๆ ของนักลงทุน ความต้องการที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี และทะลายข้อจำกัดที่มีอยู่เพื่อพัฒนาตลาดทุนให้มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และมีความยั่งยืน
โดยทีมทำงานต่างผู้มีประสบการณ์ตรงในสายงานการเงินการธนาคาร มากว่า 10 ปี ทุกคนเชื่อมั่นว่า BlueBell จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และยกระดับมาตรฐานของธุรกิจตราสารหนี้ให้ก้าวไกลได้อย่างแน่นอน
ในปี 2566 นี้ บริษัทมีแผนขยายอีก 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ นั่นคือ 1. บริการหุ้นกู้ดิจิทัล (Digital Bond) 2. ผลิตภัณฑ์กองทุนรวม 3. บริการตราสารหนี้ตลาดรอง และ 4. ผลิตภัณฑ์คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ซึ่งถือเป็น 4 เสาเรือธงที่จะขยายฐานในการเข้าถึงลูกค้าได้ตรงเป้าหมาย ไปพร้อมๆ กับหลักกลยุทธ์ 4 ด้าน ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
Crowdfunding แบบที่เราต้องการทำจะไม่ต้องใส่ทุนของตัวเองเลย ทำให้จำเป็นต้องมีฐานลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งเรารู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดมีความต้องการอยู่"
สำหรับกลยุทธ์แรกของการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไปนั้น นริสราเปิดเผยว่า คือ Maintain Best Product Quality โดยทั่วไปนักลงทุนส่วนใหญ่จะพิจารณาแค่ Credit Rating และงบการเงินของผู้ออกตราสารก่อนตัดสินใจลงทุนเท่านั้น
แต่หลักการการทำงานของทีมนักวิเคราะห์ BlueBell มองว่าสิ่งสำคัญในการพิจารณาออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสู่ตลาด จำเป็นต้องมองภาพรวมทั้ง 2 มิติ ได้แก่ มิติความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร (Credit Analysis) และ มิติของความน่าลงทุนของหุ้นกู้เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ตัวอื่น ๆ ในตลาดภายใต้หลักบรรษัทภิบาล (Market Analysis)
ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถตอบโจทย์ด้านผลตอบแทนของนักลงทุนได้อย่างยั่งยืนและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตลาดทุน ซึ่งโดยทั่วไป นักลงทุนจะมองแค่มิติของ Credit Rating และงบการเงินของผลิตภัณฑ์เท่านั้น
แต่ในหลักการของ BlueBell ในฐานะที่เป็นตัวกลางในการทำหน้าที่คัดเลือกผลิตภัณฑ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ วิสัยทัศน์และความยั่งยืนของผู้ออกตราสารทั้งจากการพูดคุยและบทสัมภาษณ์ของผู้ถือหุ้นและผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเพื่อทราบมุมมองในการทำธุรกิจ
รวมถึง BlueBell เองยังมีเกณฑ์ในการประเมินสถานะทางการเงิน กระแสเงินสด และโอกาสในการเติบโตของแต่ละโครงการของผู้ออกตราสาร ซึ่งสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้หรือช่องทางการจัดหาเงินจากแหล่งต่างๆ ของธุรกิจ
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการพิจารณาด้านความน่าเชื่อถือแล้ว ยังต้องมองถึงมิติของความน่าลงทุนของหุ้นกู้ด้วยว่า หุ้นกู้ตัวนี้น่าสนใจพอที่จะขายนักลงทุนหรือไม่ BlueBell เชื่อเสมอว่า ตลาดหุ้นกู้จะยั่งยืนได้ เมื่อทุกคนทุกฝ่ายได้รับผลตอบแทนเหมาะสมกับความเสี่ยงของตนเอง
กลยุทธ์ต่อมาคือ Increase Product Variety ซึ่ง บล. บลูเบลล์ วางแผนการขยาย 4 ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเพิ่มโอกาสในการเลือกผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายตามความชอบของแต่ละกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
โดยในไตรมาส 2 ปีนี้ ตั้งเป้าว่าจะสามารถเปิดบริการหุ้นกู้ดิจิทัล (Digital Bond) ให้นักลงทุนสะดวกสบายและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น และไตรมาส 3 จะพุ่งเป้าต่อยอดผลิตภัณฑ์กองทุนรวมในฐานะ บลน. โดยจะมีแม่ทัพคนสำคัญของธุรกิจกองทุนรวมมาร่วมบริหาร เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้า Wealth ที่สนใจการลงทุน
รวมถึงเตรียมแผนในการดูแลผู้แนะนำการลงทุนอิสระ (Independent Investment Consultant) ให้สามารถมีเครื่องมือในการตอบโจทย์แก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น ขณะที่ในส่วนของ บริการตราสารหนี้ตลาดรอง และ ผลิตภัณฑ์คราวด์ฟันดิง เองก็พร้อมเดินหน้าในไตรมาส 3 และ 4 ต่อไปเช่นกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่า หาก BlueBell เติมเต็มธุรกิจได้อย่างครบวงจรอย่างที่ตั้งเป้าไว้ จะสามารถชูจุดยืนในการเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ Enhance Customer Experiences ที่นริสราเปิดเผยว่า นอกจากโอกาสในการเพิ่มพูนผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว BlueBell ยังให้ความสำคัญกับประสบการณ์การดูแลแบบพรีเมี่ยมแก่ลูกค้าในทุกระดับ ซึ่งการบริการและนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้านั้น เกิดจากการดูแล ใส่ใจ และเข้าใจความต้องการของลูกค้าไปจนถึงปัญหาที่นักลงทุนต้องเผชิญในแต่ละจุดของการลงทุน
ด้วยเชื่อว่าความจริงใจในการทำการตลาดโดยการส่งมอบสิ่งที่น่าพึงพอใจที่สุดนั้น จะทำให้นักลงทุนที่เป็นลูกค้ารู้สึกเป็นคนสำคัญและเป็นคนพิเศษของ BlueBell โดยในปี 2566 นี้ บริษัทจะมีทั้งกิจกรรมพิเศษ รวมไปถึงของสมนาคุณอีกมากมายเพื่อสร้างประสบการณ์อันเป็นเลิศและเพิ่มคุณค่าให้แก่นักลงทุนต่อไป
สำหรับกลยุทธ์ที่ 4 หรือ Go Digital เป็นการพัฒนาระบบธุรกรรมหุ้นกู้ออนไลน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อต่อยอดการให้บริการให้เป็น Best Investment Solutions เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนในยุคดิจิทัลที่ต้องการความง่าย และสะดวกสบาย
โดยมุ่งเพิ่มความสะดวกแก่นักลงทุนผ่านดิจิทัลแพลทฟอร์มที่มีให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งด้วยระบบดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนในการแจ้งความประสงค์จองซื้อหุ้นกู้ จองซื้อและชำระเงินผ่าน E-Payment รวมถึงการดูพอร์ตการลงทุนในหุ้นกู้ได้ตลอด 24 ชม. (ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด)
เราจะเปิดตัว app เดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ช่องทางออนไลน์สำคัญมาก ช่วยให้ลูกค้าสะดวกขึ้นมากจากระบบเดิมที่ขั้นตอนยุ่งยากและล่าช้า ขณะที่เราเองก็ขยายธุรกิจได้มากขึ้น