ตลาดหุ้นไทยปิดลบ 4.43 จุด ขายลดเสี่ยงก่อนหยุดยาว
ตลาดหุ้นไทยปิดลบ 4.43 จุด โบรกฯ ชี้นักลงทุนขายลดเสี่ยงก่อนหยุดยาว-IMF หั่นคาดการณ์ GDP โลก-Sentiment เชิงลบจากตลาดหุ้นเอเชีย-แรงขาย DELTA ประเมินกรอบการเคลื่อนไหววันจันทร์ 1,580-1,600 จุด มีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางช่วงหลังสงกรานต์ คาดตลาดหุ้นไทย Sideway Up
ดัชนีตลาดหุ้นไทย วันนี้ (12 เม.ย.) ปิดตลาดที่ 1,592.67 จุด ปรับลดลง 4.43 จุด หรือปรับลดลง 0.28% มูลค่าการซื้อขาย 44,756.11 ล้านบาท ระหว่างวันขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 1,598.27 จุด และลงไปต่ำสุดที่ 1,580.71 จุด แบ่งตามประเภทนักลงทุน สถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 337.07 ล้านบาท บัญชี บล. ซื้อสุทธิ 1,184.45 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 2,024.21 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ซื้อสุทธิ 502.68 ล้านบาท
นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลดลง ประเมินว่าเกิดจาก (1) แรงขายป้องกันความเสี่ยงจากการเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว ในขณะที่คืนนี้จะมีตัวเลขสำคัญอย่างเงินเฟ้อสหรัฐ (2) IMF ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือ 2.8%YoY จากคาดการณ์ช่วง ม.ค. ที่ 2.9%YoY (3) Sentiment เชิงลบ จากตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับลง (Hong Kong -0.86% และ (4) แรงขายหุ้น DELTA หลังจากช่วงก่อนหน้าปรับขึ้นมา 6%
สำหรับแนวโน้มวันจันทร์ (17 เม.ย.) ประเมินความเคลื่อนไหวในกรอบ 1,580-1,600 จุด โดยปัจจัยติดตามคืนนี้ ได้แก่ เงินเฟ้อสหรัฐ ประจำเดือน มี.ค. Bloomberg Consensus คาดการณ์ไว้ที่ 5.1%YoY ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานคาดการณ์ไว้ที่ 5.6%YoY ทั้งนี้ หากรายงานแล้วต่ำกว่าตลาดประเมินไว้จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐคืนนี้ และตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า
ขณะที่ทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงหลังสงกรานต์ มีมุมมองเชิงบวก โดยคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นได้ (Sideway Up) ด้วยเหตุผล (1) คลายกังวลเงินเฟ้อและดอกเบี้ย แม้คืนนี้ช่วงเวลา 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย สหรัฐจะมีกำหนดรายงานเงินเฟ้อ
โดยเบื้องต้น Bloomberg Consensus คาดการณ์ไว้ที่ 5.1%YoY แต่ก็นับเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้าเงินเฟ้อสหรัฐขึ้นไปทดสอบถึง 9%YoY ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐจากทาง Bloomberg Consensus ว่าจะปรับลงอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ และสิ้นปี 2566 เงินเฟ้อสหรัฐจะลงมาทดสอบ 4% ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ) กลับเข้าค่าศูนย์ ในอดีตที่ผ่านมาดอกเบี้ยที่แท้จริงมักอยู่เพียง 1% ปัจจัยข้างต้นสะท้อนว่า FED ไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงมากกว่าปัจจุบันเท่าใดแล้ว
(2) แรงเก็งกำไรผลประกอบการในช่วงหลังสงกรานต์จะเริ่มต้นรายงานผลประกอบการ นำมาโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เบื้องต้นคาดการณ์กำไรทั้งกลุ่มไว้ที่ 4.45 หมื่นล้านบาท (+30%QoQ, -1.7%YoY) การขยายตัวเด่น QoQ ผลจากสำรองหนี้ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่ในเชิง YoY ลดลงเล็กน้อย เพราะสำรองหนี้ แต่หากพิจารณากำไรก่อนตั้งสำรองจะพบว่าอยู่ที่ 1.01 แสนล้านบาท (+1.2%QoQ, +7.4%YoY) ก็ถือเป็นตัวเลขที่โดดเด่น
ในขณะที่กลุ่ม Domestic Play ก็มีแนวโน้มกลับมาถูกเก็งกำไรเรื่องผลประกอบการเช่นกัน เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1/2566 เศรษฐกิจไทยถือว่าขยายตัวได้ดี ได้แรงหนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยว
(3) แรงหนุนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการหาเสียงหนุนเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และ (4) เงินเฟ้อไทยปรับลงต่อเนื่อง หนุนการบริโภคฟื้นตัวและอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท
ขณะที่ปัจจัยติดตามที่ต้องติดตามหลังจากนี้ ได้แก่ เงินเฟ้อสหรัฐ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ตัวเลขนำเข้าส่งออกของไทยในช่วงปลายเดือน เม.ย. ส่วนต้นเดือน พ.ค. ติดตามผลประชุม FED ซึ่ง CME FED Watch คาดไว้ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่จะเป็นจุดสูงสุดแล้ว หุ้นแนะนำยังเน้นที่ Domestic Play Top Pick เลือก CPALL (TP 72 บาท) BBL (TP 184 บาท) KTB (TP 20.7 บาท) MINT (TP 41 บาท)
ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์
KBANK มูลค่าการซื้อขาย 2,576.60 ล้านบาท ปิดที่ 136.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท
PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 2,212.07 ล้านบาท ปิดที่ 162.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท
SCB มูลค่าการซื้อขาย 2,096.46 ล้านบาท ปิดที่ 105.50 บาท ลดลง 0.50 บาท
BDMS มูลค่าการซื้อขาย 1,982.40 ล้านบาท ปิดที่ 29.50 บาท ลดลง 1.00 บาท
BANPU มูลค่าการซื้อขาย 1,709.44 ล้านบาท ปิดที่ 9.95 บาท ลดลง 0.05 บาท