FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน “ซบเซา” ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนระยะ 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลง 26.8% สู่เกณฑ์ “ซบเซา” ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หวังจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งหนุน หากล่าช้ากระทบการอนุมัติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 และความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน พ.ค.2566 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.2566) อยู่ที่ระดับ 77.70 ปรับลดลง 26.8% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรับเพิ่มขึ้น 14.3% อยู่ที่ระดับ 100.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบัน ปรับลด 18.5% อยู่ที่ระดับ 91.67 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล ปรับลด 24.0% อยู่ที่ระดับ 73.61 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ปรับลด 40.0% อยู่ที่ระดับ 75.00 อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”
ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาการเมืองหลังการเลือกตั้ง รองลงมา คือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และการเก็บภาษีตลาดทุน
ขณะเดียวกัน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)
SET Index ในครึ่งแรกของเดือน พ.ค.2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 สวนทางกับตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวลงจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและความล่าช้าในการยกระดับเพดานหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของเดือน SET Index ปรับตัวลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก จากความกังวลต่อปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งและนโยบายเศรษฐกิจ และกลับมาปรับขึ้นในช่วงปลายเดือน หลังจากมีความชัดเจนเกี่ยวกับ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม
โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค.2566 SET index ปิดที่ 1,533.54 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 กว่า 33,047 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 97,006 ล้านบาท ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือน พ.ค.2566 อยู่ที่ 54,819 ล้านบาท
ทางด้านปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลกที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อาจกดดันให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม และส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ อีกทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความรวดเร็วในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการอนุมัติร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 รวมถึงความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ได้ประกาศออกมา อาทิ นโยบายกระตุ้นการบริโภค นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายพลังงาน เช่น การปรับลดค่าไฟ รวมถึงนโยบายด้านภาษี