posttoday

หญิงแกร่ง ทายาทรุ่น 2 แห่ง ILINK นำพาองค์กร “เติบโต-ต่อเนื่อง-ยั่งยืน”

12 มิถุนายน 2566

“วริษา อนันตรัมพร” หญิงแกร่ง ทายาทรุ่น 2 แห่ง “อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น” หรือ ILINK สานต่ออุดมการณ์ นำพาองค์กร “เติบโต-ต่อเนื่อง-ยั่งยืน” หลังกอบกู้วิกฤตขาดทุนปี 61 สู่เทิร์นอะราวด์ปี 64 วางเป้ารายได้-กำไรปี 66 ออลไทม์ไฮต่อเนื่อง

ย้อนกลับไปในปี 2530 หรือเมื่อ 36 ปีที่แล้ว “สมบัติ อนันตรัมพร” และ “ชลิดา อนันตรัมพร” ได้ลาออกจากพนักงานประจำ พร้อมกับนำเงินเก็บที่มีอยู่ประมาณ 250,000 บาท มาจดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล (1987) จำกัด ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นการก่อตั้ง บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล (1987) จำกัด เนื่องจาก “สมบัติ อนันตรัมพร” มีความตั้งใจว่าจะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย จึงทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไอที โดยเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำนักงาน อาทิ แผ่นดิสก์ ตลับผ้าหมึก เป็นต้น 

จากนั้น 2-3 ปีต่อมาหลังจากที่เริ่มทำธุรกิจ คอมพิวเตอร์ และรบบโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างๆ เริ่มพัฒนา ทำให้ "สมบัติ อนันตรัมพร" ศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีระบบสายสัญญาณ ก็คือ สาย UTP หรือ สาย LAN ซึ่งเห็นว่ามีการเติบโต และในขณะนั้นในประเทศไทยยังไม่มีใครทำ จึงนำเข้าสาย LAN มาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นรายแรกเมื่อปี 2535 รวมทั้งรับเหมาติดตั้งสายต่างๆ ที่จำหน่ายด้วย และเริ่มเห็นว่าธุรกิจนี้มีการเติบโต สามารถทำรายได้และกำไรได้ดี    

จนกระทั่งปี 2538 ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK และในปีเดียวกัน ได้มีการย้ายสำนักงาน จาก ทาวน์เฮ้าส์ มาเป็น ออฟฟิศใหม่ ที่รัชดาภิเษก รวมทั้งรับพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 คน จากเดิมที่มีเพียง 4-5 คน ซึ่งบริษัทมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นำ ILINK เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2547

หญิงแกร่ง ทายาทรุ่น 2 แห่ง ILINK นำพาองค์กร “เติบโต-ต่อเนื่อง-ยั่งยืน”

ปัจจุบันธุรกิจของ ILINK และบริษัทย่อย แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) 2.ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom) และ 3.ธุรกิจวิศวกรรมและโครงการพิเศษ (Engineering)

โดยย้อนไปในปี 2562 “วริษา อนันตรัมพร” บุตรสาวคนที่ 3 ของ “สมบัติ อนันตรัมพร” และ “ชลิดา อนันตรัมพร” ได้เริ่มเข้ามาสานต่อธุรกิจ ILINK    

“วริษา อนันตรัมพร” กรรมการ และผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เล่าให้ “โพสต์ทูเดย์” ฟังว่า บทบาทที่ได้รับในการเข้ามาในปี 2562 คือ “ทายาทรุ่น 2 สานต่อธุรกิจครอบครัว” ในตำแหน่ง “ผู้จัดการทั่วไป” ซึ่งในโครงสร้างบริษัทไม่มีตำแหน่งนี้ ทำให้ปรึกษากับคุณพ่อว่ามีตำแหน่งไหนที่จะสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อเข้ามาเรียนรู้ทุกบริษัทในกลุ่ม จึงได้รับตำแหน่งดังกล่าว

โจทย์ใหญ่ในฐานะทายาทรุ่น 2  

ได้รับโจทย์ใหญ่มากจากคุณพ่อว่า ภายใน 3 เดือนแรก จะต้องเรียนรู้งานทั้งหมดอย่างละเอียดตั้งแต่หน้าบ้านจนถึงหลังบ้านให้เรียบร้อย โดยเข้าไปลงมือทำจริงเสมือนเป็นพนักงาน 1 คน ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของ หรือทายาทรุ่น 2 ดังนั้นเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เป็นโอเปอเรเตอร์ ฝึกตอนรับลูกค้า ผู้มาติดต่อ รับสายโทรศัพท์และประสานงานต่อไปยังแผนกต่างๆ ทำให้ได้เห็นว่าบริษัทมีแผนกไหนบ้าง แต่ละแผนกมีใครบ้าง และลูกค้าต้องการอะไร

จากนั้นเริ่มไปเรียนรู้ระบบการจัดเก็บ การจัดการ การส่งของให้ลูกค้า ที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า 5 ภูมิภาค รวม 6 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ ได้แก่ ถ.รัชดาภิเษก สำนักงานใหญ่ และ ถ.กาญจนาภิเษก ส่วนต่างจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง และหาดใหญ่ จ.สงขลา  

เมื่อคุ้นเคยกับสินค้าที่บริษัทจัดจำหน่ายแล้ว จึงกลับเข้ามาออฟฟิศสำนักงานใหญ่ เพื่อกลับมาศึกษางานหลังบ้านเกี่ยวกับด้านบัญชีการเงิน ที่มีความถนัด เพราะเรียนจบมาโดยตรง รวมไปถึง HR ไอที ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามเป้าหมายได้เรียนรู้ทุกอย่างใน 3 เดือน

พลิกฟื้นผลงานบริษัท 

พอมาในปี 2561 บริษัทมีวิกฤตขาดทุนครั้งใหญ่ จากงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มูลค่าว 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงแรงมาก จากเกือบ 20 บาท เหลือเพียง 3-4 บาท ภายในไม่กี่วัน ทำให้เมื่อเข้ามาเริ่มงานในปี 2562 โปรเจกต์และเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น คือ การกอบกู้ผลประกอบการของบริษัทกลับมาให้ได้ จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด หลังจากที่เรียนรู้ทุกอย่างแล้ว 

“ได้มีการเรียกทีมงานมาว่าเราจะกอบกู้ผลประกอบการของบริษัท เรียกความเชื่อมั่นของบริษัทกลับมากับทุกภาคส่วน ให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถเดินต่อได้ เราไม่เจ๊ง โดยปรับปรุงโครงสร้างการทำงานทั้งหมดใหม่ เพื่อให้บริษัททำรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปีหลังจากนี้ เพราะที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตมาตลอด”

โดยจากการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานดังกล่าว ใช้เวลาราว 2-3 ปี แก้ปัญหาโครงการจนสามารถส่งมอบโครงการได้ และสะท้อนมายังผลประกอบการของบริษัทสามารถเทิร์นอะราวด์ได้ในปี 2564 

หญิงแกร่ง ทายาทรุ่น 2 แห่ง ILINK นำพาองค์กร “เติบโต-ต่อเนื่อง-ยั่งยืน” สำหรับกลยุทธ์ที่นำไปเป้าหมายดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 

1.ทำความเข้าใจโครงสร้างการทำงานของแต่ละธุรกิจโดยละเอียด ซึ่งธุรกิจที่เกิดปัญหา คือ ธุรกิจวิศวกรรมและโครงการพิเศษ (Engineering) 

2.วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา จากนั้นเริ่มทยอยอุดรอยรั่วให้ได้มากที่สุด โดยเน้นไปที่รอยรั่วใหญ่ๆ ก่อนที่เป็นต้นทุนสูง จากนั้นมาเก็บรอยรั่วเล็กๆ เช่น ปัญหาการสื่อสารภายในระหว่างทีมออฟฟิศกับทีมหน้างาน
 
3.สร้างระบบการควบคุมภายใน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก รวมไปถึงการนำซอฟท์แวร์บริหารโครงการก่อสร้างเข้ามาช่วยติดตามกระบวนการทำงานในทุกจุด

สานต่ออุดมการณ์-ต่อยอดธุรกิจ

ขณะเดียวกัน ต้องการสานต่ออุดมการณ์ “เติบโต-ต่อเนื่อง-ยั่งยืนตลอดไป” เนื่องจากคุณพ่อก่อตั้ง ILINK มาด้วยอุดมการณ์ที่ชัดเจน คือ อยากให้กลุ่มบริษัทเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป ซึ่งบริษัทจะเติบโตต่อเนื่องได้ ทุกๆ ธุรกิจของ ILINK ต้องไม่หยุดพัฒนา ทุกโอกาสที่ดีต้องคว้าและพัฒนาต่อไป นำไปสู่ความยั่งยืน โดยในเรื่องความยั่งยืน ILINK ก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับ ESG มานานมากแล้ว

นอกจากนี้ พยายามมองหาเทรนด์ตลาดที่มาแรง และเป็นเทรนด์ในอนาคต แต่ไม่ใช่แค่กระแส เพื่อต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเข้าไปศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รองรับเทรนด์ดังกล่าว อย่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นโอกาสของตลาดพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดที่มีการเติบโตสูงมาก และเป็นเทรนด์ที่มีแรง และน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง 

บริษัทจึงเข้าไปศึกษา ค้นคว้า และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ สาย Solar หรือ PV1-F หรือจะเรียกว่า PV Cable เป็นสายไฟที่ออกแบบมาเพื่อระบบโซล่าเซลล์โดยเฉพาะ แปลงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในบ้าน 

หญิงแกร่ง ทายาทรุ่น 2 แห่ง ILINK นำพาองค์กร “เติบโต-ต่อเนื่อง-ยั่งยืน”

ล่าสุด อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์สาย EV เป็นสายที่ใช้สำหรับเชื่อมที่ชาร์จรถ EV เนื่องจากเห็นโอกาสในธุรกิจ EV โดยคาดว่าจะสามารถออกและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ภายในปี 2567 

แรงกดดันจากความคาดหวังสู่ความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาสานต่อธุรกิจฃองครัวครอบ ก็มีความท้าทายในเรื่องของแรงกดดันจากความคาดหวังที่สูงมาก ทั้งจากครอบครัว พนักงาน คนภายนอก และตัวเราเอง ที่จะต้องดำเนินธุรกิจที่ครอบครัวก่อตั้งให้ประสบความสำเร็จกว่าเดิมและไกลกว่ารุ่นคุณพ่อทำเอาไว้ 

รวมทั้งยังเรื่องของการพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวยอมรับ เพื่อมีอำนาจในการตัดสินใจกำหนดทิศทางธุรกิจ และการพิสูจน์ให้ผู้บริหาร และพนักงานยอมรับ เพื่อให้ทำงานเป็นทีมเดียวกัน และไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้

สำหรับการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว คือ ความสม่ำเสมอ โดยในช่วงแรกรู้สึกว่าทำยังไงให้เกิดการยอมรับ จึงลงไปทำงานเองทุกอย่าง คลุกคลีกับพนักงานเหมือนเป็นพนักงาน 1 คน ทำทุกงานให้สำเร็จไปพร้อมกับพนักงาน และที่สำคัญที่สุด คือ ไม่สวมบทบาทในความเป็นเจ้าของ หรือเจ้านาย ทำให้ทุกคนเชื่อใจและยอมรับว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ

“ผ่านไป 2-3 ปี เราเริ่มเห็นว่ามีโอกาสอื่นๆ ที่เป็นงานใหญ่และยากขึ้น เราก็ขอไปร่วมทำด้วย ทำให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มเห็นศักยภาพและความทุ่มเทของเรา จึงไว้ใจให้เราตัดสินใจในงานสำคัญ และปล่อยให้ลุยเอง รวมถึงการกำหนดทิศทางธุรกิจ กลยุทธ์บริษัทตั้งแต่ปี 2564” 

ปี 66 รายได้-กำไร ออลไทม์ไฮต่อเนื่อง

“วริษา” กล่าวว่า ปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้และกำไร ทำออลไทม์ไฮต่อเนื่อง โดยมีรายได้ไม่น้อยกว่า 7,400 ล้านบาท เติบโต 6-10% จากปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 8% ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีทองของบริษัท เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนค่อนข้างมาก 

หญิงแกร่ง ทายาทรุ่น 2 แห่ง ILINK นำพาองค์กร “เติบโต-ต่อเนื่อง-ยั่งยืน”

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารของภาครัฐและภาคเอกชน โดยหลังโควิด-19 มีเข้ามามากขึ้น ทำให้มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจำนวนมาก รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วย อีกทั้งบริษัทเห็นโอกาสในกลุ่มสินค้าใหม่ เช่น สาย Solar และสาย EV พร้อมทั้งเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น โรงแรม และรีสอร์ท    

โดยหากแยกเป็น 3 ธุรกิจ 1.ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) ตั้งเป้าหมายมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2,700 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 9% 2.ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom) ตั้งเป้าหมายมีรายได้ 3,500 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 9% และ 3.ธุรกิจวิศวกรรมและโครงการพิเศษ (Engineering) ตั้งเป้าหมายมีรายได้ 1,200 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 8%

ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่ 1,900 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ปี 2566 ประมาณ 55% ส่วนที่เหลือรับรู้รายได้ในปี 2567 ประกอบกับบริษัทยังมีงานก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มูลค่า 1,800 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่ารอประกาศผลอย่างเป็นทางการ คาดประกาศในช่วงไตรมาส 3/2566 และงานระบบสายส่ง พัทยา จ.ชลบุรี มูลค่า 95 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างรอลงนาม คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน มิ.ย.นี้ นอกจากนี้ยังมีงานที่รอประมูลช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 500 ล้านบาท เน้นงานที่กำไรและมีความเชี่ยวชาญ 

หญิงแกร่ง ทายาทรุ่น 2 แห่ง ILINK นำพาองค์กร “เติบโต-ต่อเนื่อง-ยั่งยืน”

ทำความรู้จัก “วริษา อนันตรัมพร”

สำหรับประวัติของ “วริษา อนันตรัมพร” อายุ 31 ปี เป็นบุตรคนที่ 3 จากทั้งหมด 4 คน ของ “สมบัติ อนันตรัมพร” ประธานกรรมการ ILINK และ “ชลิดา อนันตรัมพร” รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ILINK

จบปริญญาตรี สาขาวิชา บัญชีบัณฑิต หลักสูตรภาษาอังกฤษ (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโท สาขาวิชา บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) University of Michigan เมือง Ann Arbor, ประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนประวัติการทำงาน เคยเป็น Associate ที่ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC Thailand) ในปี 2556-2559, Consultant ที่ Fourth Valley Concierge Corporation กรุงโตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2561 

ก่อนเข้ามาเป็น ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ในปี 2562 และเข้ารับตำแหน่งกรรมการ / กรรมการบริหารความเสี่ยงและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ILINK เพิ่มเติมในปี 2565