posttoday

ส่องแนวโน้มกำไรกลุ่มแบงก์ Q2/66 ประเดิมประกาศงบพรุ่งนี้วันแรก

11 กรกฎาคม 2566

ลุ้นกำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2/66 เริ่มประกาศงบพรุ่งนี้วันแรก 3 โบรกฯ คาดภาพรวมกำไรทั้งกลุ่มโต 15-17% จากช่วงเดียวปีก่อน รับ NIM พุ่ง ยก BBL-KTB-SCB ขึ้น Top Pick

หลังจากปิดงบไตรมาส 2/2566 ไปเมื่อเดือน มิ.ย.2566 มาถึงตอนนี้เข้าสู่เทศกาลประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 กันแล้ว เริ่มจากงบของกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มแรก ซึ่งจะเริ่มประกาศงบในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) เป็นวันแรก 

ดังนั้น “โพสต์ทูเดย์” ได้รวบรวมคาดการณ์งบไตรมาส 2/2566 ของกลุ่มธนาคาร จาก 3 บริษัทหลักทรัพย์ ได้แก่ บล.กรุงศรี พัฒนสิน, บล.ทรีนีตี้ และ บล.เอเซีย พลัส มาให้ดูว่าภาพรวมกำไรทั้งกลุ่มธนาคาร และกำไรของแต่ละธนาคารเป็นอย่างไร ธนาคารไหนกำไรเพิ่มขึ้น หรือลดลงบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุน    

เริ่มจาก บล.กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินว่า กลุ่มธนาคาร 7 แห่ง ที่ศึกษา ได้แก่  BBL, KTB, SCB, KBANK, TTB, TISCO และ KKP จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 50,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน เพราะ 1) การเพิ่มขึ้นของ NIM จากการเพิ่มขึ้นของ yield on loan ตามทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น 

2) สินเชื่อรวมขยายตัว 0.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.7% จากไตรมาสก่อน หรือคิดเป็น เพิ่มขึ้น 0.1% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) จากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย และ 3) รับรู้กำไรจากการลงทุน (FVTPL) มากขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน กลบการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (OPEX) จากค่าใช้จ่ายทางด้านบุคลากร และค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL)

ส่วนประเด็นเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทรายใหญ่รายหนึ่ง ทาง KBANK และ SCB ตั้งสำรองแบบไม่นำหลักประกันมารวมเกือบ 100% ไปในไตรมาส 1/2566 ดังนั้นคาดว่าผลกระทบจากประเด็นนี้ในอนาคตจำกัด

ด้านคุณภาพสินทรัพย์มองว่าเป็นระดับที่ธนาคารจัดการได้ ธนาคารยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนั้นธนาคารขนาดใหญ่ใช้การตัดจำหน่ายหนี้สูญ (write-off) และขาย NPL อย่างต่อเนื่อง โดย NPL Ratio อยู่ที่ 3.78% เพิ่มขึ้นจาก 3.68% ในไตรมาส 1/2566 อีกทั้งมองว่าธนาคารมีความเพียงพอเรื่องการตั้งสำรองต่อพอร์ต Coverage Ratio ที่ 177% ใกล้กับไตรมาส 1/2566 ที่ 181%

ทั้งนี้ คาดธนาคารรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 เติบโตจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน คือ BBL ที่ 10,195 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 46% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน), KTB ที่ 10,300 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน), SCB ที่ 11,320 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน) และ KBANK ที่ 11,100 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน)  

ธนาคารรายงานกำไรสุทธิเติบโตจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน คือ TTB ที่ 4,200 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน) 

ธนาคารรายงานกำไรสุทธิลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน คือ TISCO ที่ 1,780 ล้านบาท (ลดลง 4% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 1% จากไตรมาสก่อน) และ KKP ที่ 1,900 ล้านบาท (ลดลง 7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 9% จากไตรมาสก่อน)

ส่องแนวโน้มกำไรกลุ่มแบงก์ Q2/66 ประเดิมประกาศงบพรุ่งนี้วันแรก

ขณะที่ภาพรวมกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารในไตรมาส 3/2566 คาดเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน ให้น้ำหนักการเพิ่มขึ้นของรายได้รวม ทั้งการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรวม NIM และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย สำหรับภาพรวมในปี 2566 คาดที่ 188,819 ล้านบาท เติบโต 14% จากปีก่อน ให้น้ำหนักการเติบโตมาจากด้านรายได้รวม รวมถึง ROE คาดขึ้นมาที่ 8.6% สูงกว่าปีก่อน ที่ 7.8%

ดังนั้น คงน้ำหนักการลงทุน Bullish สำหรับกลุ่มธนาคาร เพราะ 1) กลุ่มธนาคารขนาดกลาง-ใหญ่ ได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น 2) การเติบโตของสินเชื่อรวม จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นและการขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ผลักดันให้กำไรสุทธิปี 2566 คาดที่ 188,819 ล้านบาท เติบโต 14% จากปีก่อน รวมถึง ROE คาดขึ้นมาที่ 8.6% สูงกว่าปีก่อน ที่ 7.8% โดยคงให้ BBL และ KTB เป็น Top Pick 

ด้าน บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า แนวโน้มกำไรกลุ่มธนาคาร (6 ธนาคาร) ในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 47,810 ล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่เติบโต 15% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยมีปัจจัยบวกหลัก มาจาก NIM ที่ปรับตัวดีขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 

ขณะที่ปัจจัยกดดันมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่น โดยเฉพาะกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนที่อาจลดลงตามภาวะตลาดเงินและตลาดทุน  

สำหรับสัดส่วน NPL ของกลุ่มธนาคาร คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคารที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น บวกกับอาจเห็นการไหลของลูกหนี้บางส่วนที่หมดมาตรการช่วยเหลือมาเป็น NPL อย่างไรก็ตาม คาดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ของกลุ่มธนาคารลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากในไตรมาส 1/2566 ธนาคารต่างตั้งสำรองส่วนเกิน อีกทั้งยังมีบางธนาคารที่ต้องตั้งสำรองลูกหนี้รายใหญ่ 

โดยคาด BBL มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,062 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 45% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 1% จากไตรมาสก่อน), KBANK มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,609 ล้านบาท (ลดลง 2% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 1% จากไตรมาสก่อน), KTB มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,391 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน)

SCB มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,758 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน) TTB กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,202 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน) และ TISCO กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,787 ล้านบาท (ลดลง 3% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อน) 

ส่องแนวโน้มกำไรกลุ่มแบงก์ Q2/66 ประเดิมประกาศงบพรุ่งนี้วันแรก

ส่วนภาพรวมปี 2566 มองกำไรกลุ่มธนาคาร อยู่ที่ 183,611 ล้านบาท เติบโตได้ดีราว 16% จากปีก่อน โดยหลักมาจากปัจจัยบวกด้าน NIM ที่ปรับตัวดีขึ้น และอาจเห็นการฟื้นตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง จากฐานต่ำในครึ่งปีแรก ด้านค่าใช้จ่ายสำรองหนี้แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน แต่ยังเป็นระดับสูง เนื่องจากยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคที่กดดันให้ธนาคารต้องเพิ่มสำรองส่วนเกินอยู่ โดยให้ BBL, KTB และ SCB เป็น Top Pick

ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า กำไรสุทธิกลุ่มธนาคาร (8 ธนาคาร) งวดไตรมาส 2/2566 ในมุมมองฝ่ายวิจัยอยู่ที่ 59,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน) แรงส่งจาก NIM ของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ โดยคาด KTB รายงานกำไรเด่นสุดในกลุ่มธนาคาร เพิ่มขึ้น 5.7% จากไตรมาสก่อน ส่วน BBL ขยายตัวสูงสุดในกลุ่มธนาคาร เพิ่มขึ้นราว 52% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน  

ทั้งนี้ หากกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2/2566 ตามคาด จะทำให้กำไรสุทธิกลุ่มธนาคาร งวดครึ่งปีแรก อยู่ที่ 118,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน) คิดเป็นสัดส่วน 55.4% ของประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารปี 2566 ของฝ่ายวิจัยที่ 210,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8.4% จากปีก่อน) และ 53% ของประมาณการกำไรปี 2566 ของ Bloomberg Consensus ณ 30 มิ.ย.2566 

สำหรับการลงทุนหุ้นในกลุ่มธนาคาร ทางพื้นฐาน เรียงตามความชอบ ดังนี้ KTB (Outperform : ราคาเป้าหมาย 20.30 บาท) > BBL (Outperform : ราคาเป้าหมาย 217.40 บาท) > SCB (Outperform : ราคาเป้าหมาย 132 บาท) > KBANK (Neutral : ราคาเป้าหมาย 140 บาท) ส่วนธนาคารพาณิชย์เล็ก เลือก TISCO (Neutral ราคาเป้าหมาย 108 บาท) > KKP (Underperform ราคาเป้าหมาย 73 บาท) 

ขณะที่ในเชิงกลยุทธ์ภายใต้การเมืองที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นช่วงต้นไตรมาส 3/2566 จึงลุ้นโอกาสการไหลกลับของ Fund Flow ต่างชาติ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่ถูก NVDR (NVDR Limit ที่ 25%) ลดน้ำหนัการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาหุ้นยัง Laggard กลุ่มธนาคาร อย่าง KBANK สัดส่วน NVDR จากสิ้นปี 2565 ที่ 18.8% เหลือ 12.5% ณ สิ้น มิ.ย.2566 หรือ SCB สัดส่วน NVDR จากสิ้นปี 2565 ที่ 6.2% เหลือ 6.0% ณ สิ้น มิ.ย.2566 ช่วงสั้นมี Risk to reward น่าสนใจมากกว่า ธนาคารพาณิชน์ที่ให้ผลตอบแทนชนะตลาดช่วงก่อนหน้านี้