VGI-ADVANC วิ่ง รับข่าวขายหุ้น RLP ให้ “ไลน์แมน-ไลน์ คอมพานี”
ราคาหุ้น VGI-ADVANC วิ่ง รับข่าวขายหุ้น “แรบบิท-ไลน์เพย์” ที่ถือหุ้นทั้งหมดฝ่ายละ 33.33% ให้แก่ “ไลน์แมน (ประเทศไทย)-ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย)”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด เวลา 12.05 น. วันนี้ (1 ก.ย.) ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ปรับเพิ่มขึ้น 4.05% หรือเพิ่มขึ้น 0.12 บาท มาอยู่ที่ 3.08 บาท มูลค่าซื้อขาย 144.10 ล้านบาท ราคาปรับตัวขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 3.10 บาท และปรับตัวลงไปทำระดับต่ำสุดที่ 2.94 บาท
ราคาหุ้น บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ปรับเพิ่มขึ้น 0.46% หรือเพิ่มขึ้น 1.00 บาท มาอยู่ที่ 217.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 135.23 ล้านบาท ราคาปรับตัวขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 217.00 บาท และปรับตัวลงไปทำระดับต่ำสุดที่ 216.00 บาท
หลังจาก บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด (RPS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ VGI ได้เข้าลงทุนโดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จํากัด (RLP) ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.2559 เป็นต้นมา
โดยสัดส่วนการถือหุ้นใน RLP ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 ประกอบด้วย (1) RPS จำนวน 2,999,998 หุ้น คิดเป็น 33.33% (2) บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด จำนวน 2,999,998 หุ้น สัดส่วน 33.33% และ (3) บริษัท ไลน์ เพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 2,999,998 หุ้น สัดส่วน 33.33% รวม 8,999,994 หุ้น คิดเป็น 100%
ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2566 ของบริษัทได้มีมติอนุมัติให้ RPS จำหน่ายหุ้นทั้งหมดที่ RPS ถืออยู่ใน RLP ให้แก่บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งในประเทศไทยจำนวน 2 ราย ได้แก่ (1) บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 2,294,998 หุ้น สัดส่วน 25.50% และ (2) บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 705,000 หุ้น สัดส่วน 7.83% รวม 2,999,998 หุ้น คิดเป็น 33.33%
โดย RPS และผู้ซื้อทั้งสองบริษัทดังกล่าวได้ทำการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2566 และได้ทำการซื้อขายหุ้นจำนวน 2,999,998 หุ้น ดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 31 ส.ค.2566
บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด (mPAY) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้จำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดในสัดส่วน 33.33% ใน บริษัท แรบบิท-ไลน์เพย์ จำกัด (RLP) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ผ่านแอปพลิเคชัน ไลน์ ให้แก่ บริษัทไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด
ทั้งนี้ ADVANC ยังคงมีทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ โดยต่อยอดจากธุรกิจหลักของบริษัทและบริการอื่นๆ ที่มีอยู่ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงบริการในด้านต่างๆ ต่อไป
เชื่อมบริการ RLP เข้ากับระบบนิเวศของ LINE
นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai เปิดเผยว่า LINE MAN Wongnai และ LINE ประเทศไทย เข้าซื้อกิจการ Rabbit LINE Pay (RLP) จากผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด
โดยการซื้อหุ้นครั้งนี้ ทำให้ LINE MAN Wongnai กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ RLP ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมบริการของ RLP เข้ากับระบบนิเวศของ LINE มากขึ้น ได้แก่ LINE MAN, LINE SHOPPING, แอป LINE รวมถึงเครือข่ายร้านค้าบนแพลตฟอร์ม Wongnai สามารถทำธุรกรรมได้อย่างไร้รอยต่อ โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่จะช่วยเพิ่มนวัตกรรมของ RLP และสร้างประสบการณ์ที่ราบรื่นในการใช้บริการบนแพลตฟอร์ม LINE MAN Wongnai และระบบนิเวศของ LINE
ส่วนผู้ใช้งานจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น สามารถใช้จ่ายผ่านบริการของ RLP ได้ทุกช่องทางเช่นเดิม รวมทั้งการเชื่อมต่อกับระบบตั๋วรถไฟฟ้า BTS และการชำระค่าบริการ AIS
นายยอด กล่าวว่า RLP ดำเนินธุรกิจด้าน e-payment ในไทยมาอย่างยาวนาน ให้บริการครอบคลุมทั้งการจ่ายเงินออนไลน์และออฟไลน์ แต่เมื่อพฤติกรรมการใช้ e-payment ของคนไทยและตลาด Fintech ในไทยเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ก็ถึงเวลาที่ควรปรับบทบาทของ RLP ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นแบบใหม่
“เราต้องการใช้จุดแข็งจากการเชื่อมต่อผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคน บนแพลตฟอร์ม LINE MAN และ Wongnai รวมถึงร้านค้าอีกกว่า 5 แสนร้าน และไรเดอร์อีกมากกว่า 1 แสนคน เพื่อสร้างประสบการณ์ธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันได้อย่างราบรื่น เราเชื่อว่า RLP เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วย LINE MAN Wongnai อยู่ในสถานะที่โดดเด่นในการผลักดันเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” นายยอด กล่าว
นายชอง อิน ยัง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน LINE MAN Wongnai กล่าวว่า การที่ LINE ประเทศไทย และ LINE MAN Wongnai ร่วมกันเข้าซื้อ RLP มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อฐานผู้ใช้งานและแพลตฟอร์มร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยเข้าด้วยกันผ่านบริการชำระเงิน
ดีลครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ระหว่าง LINE Group หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ LINE MAN Wongnai หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์นของไทย โดยการเข้าซื้อกิจการต่อเนื่องของ LINE MAN Wongnai ตั้งแต่ธุรกิจ POS ก่อนหน้านี้ และ RLP ในครั้งนี้ ทำให้พวกเรามั่นใจว่าจะสามารถสร้างบริษัทเทคโนโลยีที่คนไทยภาคภูมิใจได้สำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้
นายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า การที่ LINE ประเทศไทย และ LINE MAN Wongnai ร่วมกันเข้าซื้อ RLP ซึ่งมีจุดแข็งในการผสานการชำระเงินแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน เป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แอป LINE โดยเชื่อมต่อเข้ากับ LINE MAN แพลตฟอร์มออนดีมานด์ และ LINE SHOPPING ผู้ให้บริการแชตคอมเมิร์ซ ซึ่งเติมเต็มความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกกลุ่ม
“เรายังสามารถนำจุดเด่นของแอปอย่างการแชท, LINE POINTS, LINE STICKERS มายกระดับประสบการณ์ให้กับผู้ใช้ได้อีกด้วย นอกจากนี้เราเชื่อมั่นว่าคุณยอดและทีมงานจะสามารถผลักดัน RLP ขึ้นไปอีกระดับเช่นเดียวกัน” นายพิเชษฐ กล่าว
เล็งบึกทึกกำไรจากการขาย RLP
บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.วีจีไอ (VGI) ประกาศขายการลงทุนใน RLP ซึ่งมีผลขาดทุนอยู่ เมื่อคืนนี้ RabbitPay System (RPS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ VGI ได้แจ้ง SET ว่าบริษัทได้ขายหุ้น 33.33% ใน Rabbit Line pay (RLP) ออกไปให้กับบุคคลที่สาม คือ Line Man (Thailand) และ Line Company (Thailand) โดย VGI ยังไม่ได้เปิดเผยว่าได้รับเงินจากการขายหุ้นดังกล่าวเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม VGI บอกว่าการขายหุ้นดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีกำไรประมาณ 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ มองว่าเป็นพัฒนาการด้านบวกสำหรับ VGI เพราะสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุดในปีนี้ คือการตัดบริษัทในเครือที่มีผลขาดทุนออกไปจากงบกำไรขาดทุนของบริษัท และพยายามพลิกกลับมาทำกำไรให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ประเมินว่า VGI จะบันทึกกำไรการขายหุ้นดังกล่าว 300 ล้านบาทในไตรมาส 2 งวดปีบัญชี 66/67 ซึ่งหมายความว่าผลขาดทุนของ VGI ในไตรมาส 2 นี้จะต่ำมาก หรืออาจจะถึงขั้นพลิกเป็นกำไรได้เลย จากที่ขาดทุนถึง 366 ล้านบาท ในไตรมาส 1 งวดปีบัญชี 66/67
นอกจากนี้คาดว่า VGI น่าจะได้รับเงินสดรวม 500 ล้านบาท จากการขายหุ้นรอบนี้ เรายังไม่ทราบว่า VGI จะใช้เงินก้อนนี้ทำอะไรบ้าง แต่การมีเงินเข้ามาจะทำให้สถานะกระแสเงินสดของ VGI แข็งแกร่งขึ้นแน่นอน เราคาดว่า RLP จะส่งผลขาดทุนมาที่ VGI 60 ล้านบาทในปีบัญชี 66/67 ดังนั้น การขาย RLP ออกไปจะทำให้ผลขาดทุนของ VGI ในปี 66/67 ลดลงจากประมาณการเดิมของเรา 60 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของประมาณการผลขาดทุนเต็มปีของเราที่ 1 พันล้านบาท
ดังนั้น ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” VGI และประเมินราคาเป้าหมายที่ 3.27 บาท ทั้งนี้ การขายหุ้น RPL ออกไปเป็นเพียงรายการแรกของการขายบริษัทที่มีผลขาดทุนออกไปเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะมีตามมาอีกเป็นระลอก เราชอบ VGI เพราะประเด็นของการ turnaround จากความพยายามแยก (de-consolidate) บริษัทที่มีผลขาดทุนออกไปจากงบรวมของบริษัท
บทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมอง “เป็นกลาง” ต่อการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท แรบบิท-ไลน์เพย์ (ADVANC ถือหุ้นทางอ้อม 33.3%) เพราะคาดจะไม่มีผลกระทบต่อประมาณการกำไรปี 2566-2567 และราคาเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ แม้ธุรกิจ e-wallet เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ยอดขาย 2 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ย 47% แต่ด้วยการแข่งขันที่สูง ก็ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ADVANC ยังรับรู้ผลขาดทุนตามสัดส่วนจากธุรกิจนี้ราว 52 ล้านบาท ในปี 2565 คิดเป็น 0.2%ของกำไรสุทธิปี 2565 ในขณะที่จากการสอบถามไปยัง ADVANC พบว่า แม้บริษัทไม่สามารถระบุมูลค่าการขายในครั้งนี้ได้ แต่ให้ข้อมูลเบื้องต้นจะมีรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนครั้งนี้ (ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 ประเมินมีต้นทุนเงินลงทุนตามส่วนได้เสีย 450-500 ล้านบาท) คงคำแนะนำ “BUY” โดยคงราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 264 บาท