RATCH ชูธงพลังงานทดแทนครึ่งปีหลังดันกำลังผลิต 10,000 MW
RATCH วาง 5 กลยุทธ์ลุยครึ่งปีหลังดันกำลังผลิต 10,000 เมกะวัตต์ เดินหน้าโครงการพลังงานทดแทนในฟิลิปปินส์-ออสเตรเลีย พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า การดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในพอร์ตของ NREI และ RAC รวม 9 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,116.98 เมกะวัตต์
โดย 4 โครงการ ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของบริษัทฯ ประกอบด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง และโครงการพลังงานลมบนชายฝั่ง และในทะเล อีก 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 550 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโครงการพลังงานน้ำและลมในเวียดนามอีก 2 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 65.15 เมกะวัตต์
และอีก 3 โครงการในออสเตรเลีย ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 502 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทได้แสวงหาโอกาสต่อยอดการลงทุนและประสานความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจชั้นนำในการขยายฐานธุรกิจในตลาดเดิม ได้แก่ ไทย สปป.ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย ทั้งในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและนอกภาคการผลิตไฟฟ้า โดยพิจารณาการลงทุนผสมผสานทั้งโครงการประเภท Greenfields หรือ Brownfields รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้ว เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสมดุลและอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
“ในปีนี้บริษัทประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ โดยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์คาลาบังก้า กำลังการผลิตติดตั้ง 74 เมกะวัตต์สูงสุด อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำหนดจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 67 ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ร้อยละ 85 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทในเครือของ AboitizPower, AP Renewables และ Aventenergy นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์สูงสุด รวมทั้งโครงการพลังงานลมบนชายฝั่งอ่าวซานมิเกล และโครงการพลังงานลมในทะเล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 400-450 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 68 ปี70 และ ปี71 ตามลำดับ
ส่วนในออสเตรเลียได้เริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์สูงสุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 68
นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินการศึกษาเพื่อหาลู่ทางการลงทุนในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพสามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ ตลอดจนโครงการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก กอปรกับบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอยู่หลายแห่งจึงถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ อีกทั้งยังจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ.2593)ได้เป็นอย่างดี” นางสาวชูศรี กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการบริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ เพื่อสร้างการเติบโตและความมั่นคงของรายได้ โดยกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่นในประเทศไทย ได้มุ่งเน้นด้านการตลาดเพื่อเพิ่มลูกค้าอุตสาหกรรมซื้อไฟฟ้าและไอน้ำให้เต็มกำลังการผลิตที่มีอยู่ ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ จะเน้นที่การรักษาประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายรองรับคำสั่งเดินเครื่องของลูกค้า บริหารจัดการเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำและติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเมินความเสี่ยงและบริหารการผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามสัญญา ปัจจุบัน โครงการที่กำลังพัฒนาและก่อสร้าง ซึ่งจะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 66-76 รวม 20 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 2,933.39 เมกะวัตต์
ด้านการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกในปีนี้ บริษัทกำหนดแผนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี 3 แนวทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การขยายการลงทุนในธุรกิจสีเขียว และการชดเชยและซื้อ-ขายคาร์บอน ซึ่งแต่ละแนวทางได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางในปี 2030 ไว้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย การลดปริมาณความเข้มข้นของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้า (GHG Intensity) ให้ได้ 15% เทียบกับปีฐาน 2566 การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้ถึง 30% และเป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากป่าไม้ (คาร์บอนเครดิต) ให้ได้ 1% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด โดยบริษัทฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว
อนึ่ง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรก (วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566) เป็นเงินปันผลจ่ายระหว่างกาลจำนวน 1,740 ล้านบาท คิดเป็น 0.80 บาทต่อหุ้น ตามกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลระหว่างกาล (Record Date) ในวันที่ 4 กันยายน 2566 โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 กันยายน ศกนี้