posttoday

FETCO ชงรัฐบาลออกมาตรการปลายปีนี้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจถึงกลางปี 67

06 กันยายน 2566

FETCO แนะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ ชดเชยงบประมาณล่าช้าไป 1 ไตรมาส และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ช่วยพยุงเศรษฐกิจถึงกลางปี 67 ด้านดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย.66) พุ่ง 69.3% อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” รับจัดตั้งรัฐบาล

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลควรมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2566 หลังจากงบประมาณล่าช้าไป 1 ไตรมาส ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากมีมาตรการช่วยกระตุ้น จะทำให้พยุงเศรษฐกิจไทยได้ถึงกลางปี 2567 อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องเลือกมาตรการที่จะกระตุ้น เพื่อให้ให้งบประมาณที่มีจำกัดประมาณ 200,000 ล้านบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับมาตรการกระต้นเศรษฐกิจ อาทิ ด้านการท่องเที่ยว เช่น มาตรการฟรีวีซ่า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้อย่างรวดเร็ว และใช้งบประมาณน้อย, มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย, มาตราการค้ำประกันการเข้าถึงสินเชื่อของภาคท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเร่งโครงการลงทุนต่างๆ ที่มีการอนุมัติไว้แล้ว และการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาในประเทศไทย 

“ความกังวลต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะกระทบต่อนโยบายการเงินการคลังหรือไม่นั้น ต้องให้ทางรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหารือกันก่อน และยังต้องติดตามดูว่ารายละเอียดของนโยบายดังกล่าวจะออกมาอย่างไร โดยอันดับแรกรัฐบาลจะต้องไปแก้ไขในเรื่องของกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้รองรับกับการใช้จ่ายภาครัฐ และกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ ซึ่งต้องไปดูว่างบประมาณมีเพียงพอเท่าไหร่ และจะต้องหาเพิ่มเข้ามาอีกเท่าไหร่” นายกอบศักดิ์ กล่าว 

นอกจากนี้ FETCO เตรียมนำข้อเสนอ และนโยบายส่งเสริมตลาดทุนไปหารือกับรัฐบาล ซึ่งจะมีนโยบายหลาอย่าง เช่น การส่งเสริมการลงทุนระยะยาวของนักลงทุน, บทบาทของตลาดทุนในการช่วยเหลือรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไปถึงช่วยเหลือ SME พัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อมร่วมกับรัฐบาล

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2566) อยู่ที่ระดับ 141.27 ปรับขึ้น 69.3% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”  

โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล ปรับเพิ่ม 75.6% อยู่ที่ระดับ 165.00 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” กลุ่มนักลงทุนสถาบัน ปรับเพิ่ม 47.1% อยู่ที่ระดับ 147.06 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น 87.5% อยู่ที่ระดับ 125.00 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ คงตัวอยู่ที่ระดับ 112.50 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” 

FETCO ชงรัฐบาลออกมาตรการปลายปีนี้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจถึงกลางปี 67

ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว 

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจจีน รองลงมา คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และการประกาศจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Financial Transaction Tax: FTT)

ขณะเดียวกัน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

SET Index มีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งแรกของเดือน จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนตัวลง จากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับตัวสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลงและวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์จีน อีกทั้งการที่ Fitch ปรับลด Credit Rating ระยะยาวของสหรัฐ จากระดับ AAA เหลือ AA+ 

อย่างไรก็ตาม SET Index กลับมาปรับตัวในทิศทางบวกในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือน หลังการลงมติเลือก คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งสะท้อนแนวโน้มความมีเสถียรภาพทางการเมือง โดย SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566  ปิดที่ 1,565.94 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 58,579 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 14,755.28 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ของปีนี้ โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 132,936 ล้านบาท     

ทางด้านปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ หลังสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 5.25-5.50% และธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 3.75% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่ปี 2542 อีกทั้งจับตาภาวะเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนหลังบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ประกาศล้มละลาย 

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคตลาดทุน ภาคการส่งออกของไทยที่ยังติดลบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบัน สูงถึง 90.6% ของ GDP