คำต่อคำ:"พรอนงค์"เลขาธิการ ก.ล.ต.กับภารกิจ"ฟื้นเชื่อมั่น-ขจัดหุ้นโกง"
เปิดภารกิจ "พรอนงค์ บุษราตระกูล" เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 8 เดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน กำจัดหุ้นปั่น-หุ้นโกง พร้อมศึกษาแผนตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย
หลังจากรอมานานกับการเผยโฉมผู้คุมกฎ "เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 8" ผู้มีบทบาทสำคัญที่จะนำพาตลาดทุนฟันฝ่าวิกฤติหุ้นเชื้อร้าย พร้อมกอบกู้ความเชื่อมั่น แรงศรัทธาของนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง
วันนี้(10 ต.ค.2566) นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ถึงบทบาทหน้าที่ครั้งนี้ว่า นับตั้งแต่วันแรกของการทำงาน ในวันที่ 18 กันยายน 2566 เพียง 3 สัปดาห์เท่านั้นในการลุยงาน ก.ล.ต.มุ่งมั่นตั้งใจอย่างมาก ซึ่งส่วนตัวอยากให้มั่นใจต่อกระบวนการทำงาน หรือสิ่งที่เราจะดำเนินการที่จะเรียกความเชื่อมั่น หรือให้ความไว้วางใจกับบทบาทของการเป็นเรกูเลเตอร์ของ ก.ล.ต. ที่จะส่งเสริม ทั้งในเรื่องการพัฒนาและการกำกับตลาดทุน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ
สิ่งที่ ก.ล.ต. อยากเห็นก็คือในเรื่องของการใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือ ทั้ง การเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศผ่านการระดมทุน การเป็นเครื่องมือในการออมของภาคประชาชน ก.ล.ต.อยากเห็นตลาดทุนเป็นกลไกหลักกลไกหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกเหนือจากนั้นเชื่อว่าการสร้างความเชื่อมั่นมาจากการทำให้เห็นว่าเราทำอะไรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือตอบข้อกังขาของสิ่งที่สาธารณชนให้ความสนใจหรือไม่
คีย์เวิร์ดสำคัญ
การสร้าง "TRUST AND CONFIDENCE" คือ การทำให้คนเชื่อถือ เชื่อมั่นและความไว้วางใจ ก.ล.ต.ได้อย่างไร สิ่งที่ ก.ล.ต.ต้องทำ ก็คือ สร้างความเป็นมืออาชีพ โดยบุคลากร ก.ล.ต. ต้องเป็นมืออาชีพและมีความสามารถ, รักษาองค์กรให้เป็นอิสระและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สร้างสมดุล ทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ อาทิ ระบบเศรษฐกิจและเสถียรภาพของตลาดทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ การสื่อสาร ความร่วมมือ การรับฟัง ส่วนตัวมองว่าการฟังถือเป็นทักษะที่สำคัญมาก รวมถึงมองว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคณะกรรมการสร้างเสถียรภาพตลาดทุน
"อันไหนเป็นจุดแข็งก็อยากให้แข็งแรงยิ่งขึ้น อันไหนพัฒนาต่อได้ก็ทำต่อ ผลักดันจุดอ่อนให้ปิดลงเรื่อยๆ
ตลาดค่อนข้างใหญ่เราทำคนเดียวไม่ได้ จึงต้องร่วมมือกันเพื่อสร้าง ESG อย่างยั่งยืน การผลักดัน TRUST AND CONFIDENCE เราก็อยากเห็น และเราก็อยากเป็นที่รักจากทุกคน เป็นที่พึ่งเป็นกลไกหลักที่จะแข็งขันได้ ทำให้ตลาดทุนเสริม Well Being เป็นต้น"
ก.ล.ต.ในอีก 4 ปีข้างหน้า
งานของ ก.ล.ต. และงานในฐานะ เลขา ก.ล.ต. เป็นการให้บริการต่อสาธารณะ การกำกับ การพัฒนาของเรา เป็น Public Goods คือ ทำให้ระบบเศรษฐกิจมันมีการเดินไปด้วยความมั่นใจในตลาดทุนที่เป็นกลไกหลัก
ดังนั้นใน 4 ปีข้างหน้า ส่วนตัวเชื่อว่าผลลัพท์ยังเหมือนเดิมในสิ่งที่เราคาดหวัง ก็คือ ตลาดทุนเป็นกลไกหลักในการที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันในทุกภาคส่วน แต่การจะไปทำแบบนั้นได้ใน 4 ปีนี้ ตนเองอยากจะทำให้บทบาทชัดขึ้นก็จะเป็นเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยเป็นช่องทางในการระดมทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการแหล่งเงินทุนซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องอาศัยนวัตกรรม การพัฒนา หาช่องทางที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันในฝั่งนักลงทุน เราก็ไม่อยากเห็นตลาดทุนที่คนอาจจะมองว่าเป็นตลาดของคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ แต่จริงๆตลาดทุนสามารถเป็นแหล่งออมเงิน ในการลงทุนระยะยาว สามารถตอบโจทย์ของพวกสังคมสูงวัย (Aging Society) ได้ เราจะทำเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ทำบทบาทเหล่านี้ให้เป็นที่รับรู้และเป็นรูปธรรมมากขึ้น
"นี่คือความคาดหวังที่กดดันตนเอง แต่ไม่เคลียดเพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการที่เราทำดี ถ้าเราตั้งใจดี เราทำและภายใต้การสอบทาน การแนะนำของทุกภาคส่วน ก็จะนำพาเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น อยากให้ติดตาม อาจจะยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ในระยะสั้น แต่อยากให้ดูที่ผลการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ความมุ่งมั่นของตัวเบอร์หนึ่ง ก็คือ เลขาฯ และทีมงานที่สอดคล้องกันในการมองภาระกิจร่วมกัน"
อัพเดทกรณี STARK - MORE ?
กรณีของหุ้น "บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)" และ "บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE)" ในบริบทของ ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯถือว่าได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่อยู่ในกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งสิ่งที่จะต่อเนื่องหลังจากนี้คงเป็นการสื่อสารไปยังสาธารณะถึงความคืบหน้าต่างๆ หลังจากนี้ได้ประสานกับตลาดหลักทรัพย์และ DSI ในการชี้แจงความคืบหน้าร่วมกัน
ซึ่งในส่วนของเคส STARK นั้น ทาง ก.ล.ต. มีการกล่าวโทษต่อ DSI ใน 3 เรื่อง คือ 1.การยื่นไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวนขายหุ้นกู้เป็นเท็จ 2.การตกแต่งบัญชี และ 3.การทุจริต ขณะที่ความผิดฐานสร้างราคาและการใช้ข้อมูลภายในยังเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่มีการกล่าวโทษผู้กระทำความผิด ขณะที่ ผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเราให้ส่งข้อมูลชี้แจงตามที่ตั้งข้อสงสัย และ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างตรวจสอบเชิงลึก หากมีหลักฐานเพียงพออาจขยายฐานความผิดอื่นเพิ่ม หรือ ผู้กระทำความผิดเพิ่ม
แก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์
อย่างไรก็ดี ก.ล.ต.อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯฉบับที่ 7 ซึ่งจะมีการให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนได้ จากเดิมที่ต้องส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน(ตำรวจ)เป็นผู้ดำเนินการ และเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.ในการกำกับดูแลสำนักงานผู้สอบบัญชี อาทิ การให้ใบอนุญาต หรือ บทลงโทษสำหรับบริษัทที่กระทำความผิด เป็นต้น
"วันนี้เป็นการมาแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราได้ดำเนินการมา และในบทบาทของตัวเองในสิ่งที่เข้าไปเร่งรัดและสิ่งที่มองว่าจะทำเพิ่มเติมในอนาคต อย่างกรณี หุ้น STARK และ หุ้น MORE ข้อสรุปที่เหมือนกันคือเราไม่ได้นิ่งนอนใจ กิจกรรมต่างๆที่ทำ เราไม่ได้รอว่าสิ่งที่เราทำแล้วเราหยุดและคนอื่นมารับลูกต่อเราไป เช่น DSI แต่เรายังทำงานร่วมกัน และเมื่อมีหลักฐาน มีเบาะแส หรือมีสิ่งใหม่ๆเข้ามา พอเรารับทราบประเด็น เราก็นำไปสู่การพิจารณาเพิ่มเติมว่าเราจะสามารถดำเนินการได้ด้วยมาตรการหรือสิ่งใดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานความผิด ขยายผู้กระทำผิด การกล่าวโทษเพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้ก็อยากให้มั่นใจว่า เราเดินอยู่ อาจจะใช้คำว่า เราทำอยู่ ทำต่อ ให้ความมั่นใจ
แต่สิ่งที่เราอาจจะเพิ่มเติมมากขึ้น ก็คือ ในเรื่องของการ Proactive ในการที่จะออกมาชี้แจง ซึ่งในอนาคตจะเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องใหญ่ๆแบบนี้ บางทีมันไม่ได้ดำเนินการด้วย ก.ล.ต. อย่างเดียว ที่ตกลงกันจะเห็นการร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์ฯ , ก.ล.ต. , หน่วยงาน DSI ที่จะมาแถลงร่วมกัน เพื่อที่จะเผยแพร่เพื่อให้เกิดความมั่นใจ อาจไม่ถึงต้องวางใจเรา แต่ให้มั่นใจว่าเราดำเนินการอยู่ ถ้ายังมีข้อสงสัยอะไรก็เป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการชี้แจงต่อไป"
กองทุนเยียวยาฯคืบหน้า ?
ปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ในขั้นตอนการศึกษา "กองทุนเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับจากบริษัทจดทะเบียน(บจ.)" ทั้ง แนวทาง, ข้อจำกัด, รูปแบบการดำเนินการ ฯลฯ เมื่อได้ข้อสรุปของการศึกษา ก็จะนำมาสู่การที่มาพิจารณาว่าเราจะดำเนินการอย่างไร
ทั้งนี้จากการติดตามและเร่งรัดอยู่ในการขมวดผลสรุปของการศึกษา ซึ่งเวลาที่เราจะทำอะไรที่เราไม่เคยดำเนินการก็ต้องมาศึกษาว่ามีแนวทางหรือทางเลือกอะไร และในแต่ละทางเลือกนั้นมีข้อจำกัด หรือความสุ่มเสี่ยงอะไร ต้องไปปรับแก้อะไรบ้าง เราจะเห็นความชัดเจนของข้อสรุป ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องได้ข้อสรุปก่อน โดยส่วนตัวก็อยากให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะคนที่เสียหายก็จะเป็นความหวังหนึ่ง ซึ่งจะได้หรือไม่ได้ มองว่าความชัดเจนที่ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ ก็จะช่วยได้ มันต้องรอผลการสรุปตัวนั้นก่อน
ถามว่าสิ้นปีนี้จะเห็นความชัดเจนหรือไม่นั้น ในแง่ของ ก.ล.ต. เชื่อว่าข้อสรุปคงเห็น แต่ส่วนตัวอยากเห็นบทสรุปปลายปีนี้ แต่ในแง่ความชัดเจนต่อสาธารณะ ยอมรับว่ามีหลายปัจจัยมากเพราะว่าบางเรื่องเราต้องดูภายใต้กฎหมายที่เรามี ภายใต้แหล่งเงินที่เราทำได้ แต่ให้มั่นใจว่า ก.ล.ต.กำลังดำเนินการ อยู่ในขั้นตอนการศึกษา และรอข้อสรุป
ที่มาเงินเยียวยา ?
นี่คือสิ่งที่กำลังรอข้อสรุป และคาดว่าแหล่งเงินน่าจะมาจากหลายทางเลือก หากถามว่าความเป็นไปได้ที่เงินจะมาจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) หรือ บริษัทหลักทรัพย์ หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่ามีหลายทางเลือก เพราะการศึกษาของเราเชื่อว่าต้องมีข้อสรุปมากกว่า 1 ทาง และในแต่ละทางต้องมีข้อดี-ข้อเสีย
ซึ่งตอนนี้ยังตอบรายละเอียดเงินเยียวยาไม่ได้ อาจต้องรอความชัดเจนก่อน
ความคืบหน้า พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล
ปัจจุบันตัวสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ภายใต้ "พ.ร.ก." ซึ่งภาพที่เรากำลังปรับ เรามองว่าอะไรที่เป็นสาระเดียวกันกับในเรื่องการลงทุนของฝั่งหลักทรัพย์ หุ้น และตราสารหนี้ เราก็จะปรับ พรบ.หลักทรัพย์ให้รวมพวกอินเวสเม้นท์ โทเคน หรือ พวก ยูทีลีตี้โทเคนไม่พร้อมใช้ เพราะเรามองเป็นเรื่องระดมทุนมันก็จะย้ายไปอยู่ในตัว พรบ.หลักทรัพย์ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ถ้าผ่านกฤษฎีกาก็จะไปในตัวสภาฯในการออกมาเป็นกฎหมายต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มองว่า มันต้องผ่านตัวกฎหมายแล้วถึงจะเป็นสาระอย่างที่เรามุ่งหวัง เพราะเรามองว่าระหว่างทางเราต้องทำอีโคซิสเต็มภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีความชัดเจนและก็เพิ่มประเด็นที่เรายังมองว่ายังมีความเสี่ยง เป็นการทำภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้ง สมาคม อันไหนลิสต์ได้หรือไม่ได้ , ผู้ประกอบธุรกิจ ทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง จะเป็นการที่ดูระนาบของตัวสากลและระนาบของตัวผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกัน
ความชัดเจนภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ก็น่าจะเห็นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เอกชนจะเซอร์ไพรส์ เพราะเราทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ในบางเรื่องต้องไปขออนุมัติกับคณะกรรมการในการแก้ไขเป็นต้น
ดังนั้นตนเองมอง 2 เรื่องคือ ระยะสั้นปรับอีโคซิสเต็มที่อยู่ใน พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ปลายปีเห็นความขัดเจน ส่วนในระยะยาว เป็นเรื่องการแก้กฎหมายอยู่ภายใต้การชี้แจงต่อกฤษฎีกา
มองนโยบายเงินดิจิทัล อย่างไร?
ส่วนตัวได้ติดตามความชัดเจนในนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ล่าสุดทราบในเรื่องของการแต่งตั้งคณะทำงานดิจิทัล และบอกว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ ทั้งนี้หากเราเห็นความชัดเจนในรูปแบบการดำเนินการ หรืออะไรต่างๆ เราจึงจะสามารถตอบได้ว่ามันมีบริบทของเราเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ณ ตอนนี้ตอบอะไรไม่ได้เลย
ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่ามาตรการทั้งหลายของภาครัฐที่เกี่ยวกับตลาดทุน ทั้งในเรื่องของการขยายเวลาเทรด , การโปรโมทโรดโชว์ เป็นนโยบายที่ได้รับการเผยแพร่ออกมา ทั้งหมดนี้ถ้ามองในแง่ตลาดทุนมันคือการกระตุ้น Growth ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรดโชว์ก็จะมีนักลงทุนที่ต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น เอาของที่เรามีอยู่ไปขายได้รับความสนใจได้มากขึ้น นี่คือการกระตุ้น Growth ขยายฐานนักลงทุน ถ้ามองในแง่การศึกษาการขยายระยะเวลาเทรด ถ้าเรามองเรื่องการซื้อขาย ถ้ามีตลาดที่เปิดได้ครอบคลุมเวลาได้มากขึ้น ก็อาจจะทำให้การซื้อขายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพวกนี้ก็ทำให้เกิดการ Growth กับพวกโบรกเกอร์
สิ่งที่อยากบอกก็คือในแง่ของตัวตลาดทุน เราอยากตอบรับในเชิงนโยบายที่ไปกระตุ้นในเรื่องของการที่จะเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่เราติดตาม แต่จะเป็นรูปแบบไหนยังไม่ทราบ
มั่นใจว่าจะสามารถกำจัด "หุ้นปั่น-โกง" ?
ณ ตอนนี้มั่นใจ แม้อาจจะยังไม่สามารถแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอกับทางคณะกรรมการ (บอร์ด)ก.ล.ต. แต่เชื่อว่าสิ่งที่เปิดเผยได้ก็คือเราเน้นในจุดเดียวกัน นั่นก็คือ "TRUST กับ CONFIDENCE" กิจกรรมก็จะตามมา
ดังนั้นพวก Action Planต่างๆก็ต้องไปในรูปแบบที่จะทำให้เกิด "TRUST กับ CONFIDENCE" ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้ามองว่าเป้าหมายเราถูกต้อง กิจกรรมเราสอดคล้อง ผลก็ต้องได้อย่างที่เราคาดหวัง นั่นจึงเป็นคำตอบที่ว่า "มั่นใจ"