posttoday

ผ่าอนาคตรถ EV ไทย หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์?

28 ตุลาคม 2566

ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก "รถสันดาป" สู่ "รถยนต์ไฟฟ้า" ยอดจดทะเบียนพุ่งแรง คาดสิ้นปี 2566 แตะระดับ 70,000 คัน พร้อมวาดเป้าปี 2567 มีลุ้น 100,000 คัน ก้าวสู่เป้าหมายฮับรถ EV

     เมื่อรถไฟฟ้าในไทยมียอดใช้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และไม่ใช่เพียงแค่กระแสอีกต่อไป ด้วยแรงผลักดันและเอาจริงเอาจังจากภาครัฐที่เดินหน้าสนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ที่ปล่อยมลพิษเป็น 0 เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมถึงการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

     ล่าสุด "นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน" นั่งประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี)ชุดใหม่ พร้อมประชุมภายในสัปดาห์หน้า โดยวาระเร่งด่วนที่ต้องเอาเข้าสู่การพิจารณาคือเรื่อง “มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า 3.5 “EV Subsidy Package (EV 3.5)” หรือ “มาตรการอีวี 3.5” ซึ่งจะต้องมาใช้แทนมาตรการอีวี 3.0 ที่จะหมดอายุในปี 2566 

     ถือเป็นการเปิดฉากการเปลี่ยนผ่านเป็น "รถยนต์ไฟฟ้า EV" ที่อนาคตนับจากนี้ดูสดใสยิ่งกว่ารถยนต์สันดาป หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันด้วยซ้ำ

     "ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มากกว่า 6,000 คันต่อเดือน และตลอดช่วง 8 เดือน 2566 ที่ผ่านมา มีรถไฟฟ้าจดทะเบียนมากกว่า 43,000 คัน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดจดทะเบียน แตะระดับ 70,000 คัน" 

ผ่าอนาคตรถ EV ไทย หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์?      นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า สาเหตุที่ยอดใช้รถไฟฟ้า หรือ ยอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น คาดว่ามาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ในปีที่ 2565 บอร์ดอีวีให้ส่วนลด 150,000 บาทต่อคัน และ สรรพสามิต จาก 8 เหลือ 1-2% ทำให้ราคารถยนต์ลดลง ส่งผลให้ยอดซื้อเพิ่มขึ้น

     และ 2.ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นยอดใช้รถอีวีในไทยเพิ่มขึ้นนั่นเอง 

ปี67 ยอดรถ EV แสนคัน?

     ส่วนตัวตั้งเป้ายอดจดทะเบียนรถ EV ป้ายแดงปีหน้าไว้ที่ 1 แสนคัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ ซึ่งโอกาสการเติบโตของรถ EV อาจต้องรอดูนโยบายอีวี 3.5 ด้วยว่าจะอนุมัติช่วงไหน หากสามารถผลักดันมาตรการอีวี 3.5 ออกมาได้เร็วและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีในไทย รวมถึงช่วยสนับสนุนตลาดรถอีวีในประเทศ

ผ่าอนาคตรถ EV ไทย หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์?       "ตนเชื่อว่านโยบายอีวีจะช่วยสนับสนุนให้มีรถยนต์ไฟฟ้าหลายยี่ห้อเข้ามาในไทย และอาจจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยเพิ่มขึ้น เพราะเงื่อนไขมาตรการอีวี 3.0 และ 3.5 คือต้องผลิตในไทยในปีถัดไป ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโต จ้างงานเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้ประชาชน"

แนวทางผลักดัน EV ไทยจากนี้ต้อง..?

    1. สร้างบุคคลากรที่มีความรู้ด้านไฮเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ อำนวยผู้ที่จะมาตั้งโรงงานในไทย ทั้งเซมิคอนดัคเตอร์ ดิจิทัล ต่อไปรถยนต์ก็อาจจะพัฒนาไร้คนขับ รถเมล์ หรือ เพรเชอร์ โมบิลิตี้ รถยนต์ภายในอนาคต อาจจะนำมาใช้ในอนาคต 

    2. ตลาดต้องใหญ่พอจนทำให้เกิด Economies of Scale เพื่อดึงดูดการลงทุนในอนาคต เป็นต้น

     ขณะที่ มาตรการอีวี 3.5 หลายฝ่ายมองว่าจะมีการปรับลดเงินสนับนสนุนอีวี ในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและกระบะ จาก 70,000-150,000 บาท ในชุดมาตรการอีวี 3.0 เหลือ 50,000-100,000 บาท และยกเลิกเงินสนับสนุนในกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งอัตราส่วนของรถยนต์ที่ต้องผลิตภายในประเทศเพื่อชดเชยกับจำนวนรถยนต์ที่นำเข้าทั้งคัน จาก 1-1.5 เท่า อาจเพิ่มเป็น 2-3 เท่าเพื่อสนับสนุนการผลิตรถอีวีในประเทศ

ผ่าอนาคตรถ EV ไทย หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์?

รู้จักหุ้น EV Ecosystem ?

     เมื่อรถยนต์ EV เริ่มเติบโต หุ้นที่เกี่ยวเนื่องย่อมได้รับประโยชน์เช่นกัน จากการรวบรวมข้อมูลของ "ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์" พบว่า หุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม EV Ecosystem มีดังนี้คือ 

     1. กลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ซึ่งแบตเตอรี่ที่นิยมใช้ก็คือ "ลิเทียมไอออน" แบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ถูกคิดค้นเพื่อนำมาทดแทนแบบเดิมที่เป็นตะกั่วกรด เหมาะกับรถยนต์ไฟฟ้า มีน้ำหนักเบา และอายุใช้งานนาน  

     โดยหุ้นที่ลงทุนธุรกิจแบตเตอรีลิเธียมไอออนในไทยและเหมืองลิเทียมในต่างประเทศ อาทิ EA ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์รายใหญ่ในไทย ขนาดกำลังผลิต 1 GWh

     หุ้น BANPU และ BPP ซึ่งถือหุ้นบริษัทละ 50% ในบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด(Banpu NEXT) ล่าสุด Banpu NEXT ซื้อหุ้น 40% ในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด(SVOLT Thailand) ที่มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่(Module packFactory) เน้นการวิจัยและพัฒนา ดําเนินการผลิตและจัดจําหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนําเข้าและส่งออกแบตเตอรี่ บริการครบวงจร กําลังผลิตเริ่ม 60,000 ชุดต่อปีเริ่มส่งมอบไตรมาส 1/67 กลุ่มลูกค้าหลักเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เช่น GWM และ Hozon

     นอกจากนี้ หุ้น GPSC ร่วมทุน ARUN PLUS (ถือหุ้น 51% , GPSC ถือ 49%) ตั้งบริษัท NUOVO PLUS ลุยธุรกิจแบตเตอรี่ , DELTA และ BCPG เป็นต้น

     2. สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ทั้ง สถานีบริการน้ำมัน, ที่จอดรถห้างสรรพสินค้า, สถานีชาร์จไฟในโครงการอสังหาริมทรัพย์ บ้านหรือคอนโดฯ อาทิ PTT, OR, BCP, CPALL, FORTH, FSMART, EA, DELTA ขณะที่ SIRI และ BCP ลงทุนในบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SHARGE บริการ EV Charging Solution แบบครบวงจรทั้งด้านซอฟต์แวร์ฮาร์ดแวร์

     3. ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ อาทิ EPG , TKT, FPI, PACO, AH, HFT, PCSGH, TRU, STANLY ผู้ผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างยานยนต์ ได้แก่ หลอดไฟ ชุดโคมไฟ และแม่พิมพ์ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัท การผลิตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล และมาตรฐานของลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

     หุ้น GYT ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์และยางเครื่องบิน การหล่อดอกยางเครื่องบินสำหรับตลาดในประเทศและเพื่อการส่งออก เป็นต้น 

     4. ผู้ผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ KCE ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ PCB ซึ่งเป็นแผ่น Epoxy Glass ที่มีสื่อนำไฟฟ้า เช่น ตะกั่ว ทองแดงเคลือบอยู่ และผลิตแผ่น PCB หลายชั้น ซึ่งเป็นชิ้นส่วนพื้นฐานสำคัญในการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด , หุ้น HANA ให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิกส์แบบครบวงจร (Electronic Manufacturing Service-EMS) 

     และ หุ้น DELTA ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า (Power management solutions) รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ได้แก่ พัดลมอิเล็กทรอนิกส์ (DC Fan) อีเอ็มไอ ฟิลเตอร์ (EMI) และโซลินอยด์ มีฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้แก่ เอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้

     5. ผู้ประกอบรถโดยสาร EV Car อาทิ หุ้น NEX ประกอบรถไฟฟ้าทุกประเภท ทั้ง รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และรถหัวลากไฟฟ้า โดยมีโรงประกอบยานยนต์ไฟฟ้า กำลังผลิตสูงสุด 9,000 คันต่อปี เป็นต้น

     6. กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ในการตั้งโรงงานผลิตรถอีวี ทั้ง หุ้น WHA ล่าสุดฉางอาน ออโตโมบิลตกลงตั้งโรงงานฉางอานในนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จ.ระยอง หลังจากที่ฉางอานฯประกาศลงทุน 8,800 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง อีวี ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และ อีวีแบบขยายระยะทางวิ่ง (REEV) ในไทย โดยโรงงานฉางอาน มีกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปีเพื่อทำตลาดในประเทศและส่งออก 

     รวมถึง หุ้น ROJNA ขายที่ดินสำหรับก่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้แก่บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด(อรุณ พลัส ร่วมทุนกับ Hon Hai Technology Group (Foxconn))ในปีที่ผ่านมา บนพื้นที่ 313 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมผลิต EV สู่ตลาดภายในปี 2567

 

     การลงทุนมีความเสี่ยง ขอให้ศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ดี!!!