posttoday

เจ้าหนี้ 4.4 พันล้าน สะเทือน! ศาลรับคำร้อง JKN ขอฟื้นฟูกิจการ

09 พฤศจิกายน 2566

เจ้าหนี้ JKN กว่า 4.4 พันล้าน สะเทือน! ล่าสุดศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว นัดไต่สวน 29 ม.ค.67 ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจทวงหนี้..ยุติธรรมหรือไม่? ทั้งมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน และรู้ว่าภาระหนี้ แต่ลงทุนไม่หยุด จนลามสู่ปัญหาสภาพคล่อง

เหมือนปัญหาของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ของ คุณแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ จะไม่จบลงง่ายๆ เริ่มจากไม่สามารถจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ JKN239A มูลค่า 600 ล้านบาท ได้ ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอน วันที่ 1 ก.ย.2566 จนกระทั่งมีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอขยายเวลาไถ่ถอนออกไปเป็น 23 ก.ย.2567 ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้ได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาไถ่ถอนออกไป ดูเหมือนจะต่อลมหายใจให้กับ JKN ไปได้ 

โดยปัญหาที่ไม่มีเงินมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ JKN239A ส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนของ JKN แบบต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้จะเห็นได้ตั้งแต่ต้นปีมา JNK ลงทุนไปราว 1,600 ล้านบาท ทั้งการซื้อช่อง NEW18 กว่า 1,060 ล้านบาท และการเข้าลงทุนในธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาล หรือ Miss Universe Organization (MUO) มูลค่าราว 550 ล้านบาท  

ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามีภาระผูกพันที่จะต้องหาเงินมาใช้หนี้ คือ การจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ JKN239A ที่จะครบกำหนดดังกล่าว และยังมีหุ้นกู้อีก 6 รุ่น ที่จะครบกำหนดในปี 2567-2568 อีกกว่า 2,760 ล้านบาท

จนมาเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 JKN ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง แก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัท และล่าสุดวันที่ 9 พ.ย.2566 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว โดยได้กําหนดวันไต่สวนคําร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ม.ค.2567 

ก็ได้แต่ตั้งคำถามว่า การยื่นฟื้นฟูกิจการของ JKN ในฐานะลูกหนี้ ยุติธรรมกับเจ้าหนี้หรือไม่? เพราะเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของ JKN แล้วดังกล่าว จะทำให้เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจจัดการสินทรัพย์หรือทวงหนี้ เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครอง 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน JKN มีหนี้สินระยะสั้นจากหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566-2568 กว่า 3,000 ล้านบาท รวมทั้งเจ้าหนี้และตั๋วเงินจ่ายการค้าสุทธิ ณ สิ้นวันที่ 30 มิ.ย.2566 อีก 1,431.48 ล้านบาท รวมๆ แล้ว JKN มีเจ้าหนี้กว่า 4,400 ล้านบาท

ยังไม่นับรวมนักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้น JKN ซึ่งปิดการซื้อขาย วันที่ 9 พ.ย.2566 ปรับลงไประดับต่ำสุด (ฟลอร์) 0.76 บาท ลดลง 30.28% หรือลดลง 0.33 บาท ที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูกิจการของ JKN ในครั้งนี้  

ขณะเดียวกัน เมื่อมาพิจารณาเงื่อนไขการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งประกอบด้วย 1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ (inability to pay) 2. เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีของธุรกิจขนาดใหญ่ 3. หนี้จำนวนแน่นอนดังกล่าวจะถึงกำหนดชำระในทันทีหรือในอนาคตก็ได้ และ 4. มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 

แต่เมื่อดูงบการเงินของ JKN ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 กลับยังมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 12,161 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 7,398 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ถึง 4,756 ล้านบาท อีกทั้งยังมีกำไรมาตลอดตั้งแต่ปี 2562 และล่าสุดงบครึ่งแรก ปี 2566 ก็มีกำไร 121.48 ล้านบาท

“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ JKN เป็นการที่ลูกหนี้ขอยื่นฟื้นฟูเอง ซึ่งโดยปกติจะเป็นเจ้าหนี้จะเป็นผู้ยื่นขอมากกว่า ซึ่งเมื่อศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ JKN แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเหมือน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และหุ้นจะถูกขึ้นเครื่อง SP หลังจากนั้นจะมีช่วงที่เปิดให้มีการซื้อขายชั่วคราว 

JKN ก่อปัญหา แต่เจ้าหนี้เป็นผู้ที่ต้องรับปัญหาที่ไม่ได้ก่อ...คงได้แต่ทำใจ เพราะกระบวนการฟื้นฟูคงใช้เวลานานพอสมควร และยังมีความเสี่ยงว่ากิจการจะกลับมาได้หรือไม่!!