posttoday

เปิดสเปก "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯคนที่ 14" ต้องแบบนี้ ?

31 มีนาคม 2567

นับถอยหลังรับสมัคร"ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ"สิ้นสุด 30 เม.ย.นี้ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร"เปรยใจขอคนที่เป็นกระบอกเสียง อยู่เคียงข้างนักลงทุนทุกระดับชั้นอย่างเท่าเทียม แนะการพัฒนาตลาดหุ้นดีขึ้นได้ต้องให้พื้นที่นักลงทุนร่วมมีบทบาทในบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ

     ผ่านมา 7 วันทำการหลังเปิดรับสมัคร "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14" ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้นที่จะสิ้นสุดการรับสมัครในวันที่ 30 เมษายน 2567 จากนั้นจะมีกระบวนการคัดสรรอีกครั้ง ซึ่งผู้จัดการคนใหม่จะมารับหน้าที่แทน "ภากร ปีตธวัชชัย" ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯคนปัจจุบันที่จะครบวาระช่วงกลางเดือนกันยายนนี้

     ด้วยคุณสมบัติ "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ" ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความเข้าใจในตลาดทุน รวมถึงมีความมุ่งมั่นในการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนตลาดทุนไทย ภายใต้สถานการณ์ที่มีความท้าทาย เพื่อตอบโจทย์ทั้งที่เป็นพันธกิจตามกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ และวิสัยทัศน์ขององค์กร “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ตลาดทุนเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนไทย

     นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังจะต้องมีทักษะและคุณสมบัติ (Competencies & Personal Attributes) ที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น มีทักษะในการสื่อสาร มีความสามารถในการบริหารจัดการและสานประโยชน์กับองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดทุน เป็นต้น รวมทั้งจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวกับตลาดเงินและตลาดทุนเป็นอย่างดี เพื่อพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน

     นั่นคือคุณสมบัติตามกำหนดที่ตลาดต้องการ แต่ใช่คนที่ตรงใจคนในวงการลงทุนหรือไม่ ??

     ผู้สื่อข่าว "โพสต์ทูเดย์" ได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับ "สเปกผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่" ของคนในแวดวงนักลงทุน และ นักวิเคราะห์ฝีปากกล้าว่าต้องการคนแบบไหนอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สะดวกแสดงความคิดเห็น เนื่องด้วยมองว่าคุณสมบัติต่างๆได้ประกาศชัดเจน อีกทั้งด้วยภาระหน้าที่ต่างๆจึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ

     แต่.. ความพยายามอยู่ที่ไหน ผู้กล้าย่อมอยู่ที่นั่น!!! 

     "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า(Value Investing) เปิดใจกับ "โพสต์ทูเดย์" ถึง "สเปกผู้จัดการตลาด"ว่า คุณสมบัติแรกก็คือต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ประกาศรับสมัคร และต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การลงทุน เพราะบางครั้งหรือหลายครั้งไม่ได้มาจาก Background แบบนี้

     ซึ่งผมคิดว่า จริงๆ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเป็นคนที่ดูทุกมุม เกี่ยวข้องกับคนทุกกลุ่ม ซึ่ง Stakeholder(ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย)ทุกกลุ่มควรได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นแบบดู Stakeholder ที่มี Power เป็นคนที่ถือหุ้น แต่ในส่วนของนักลงทุนไม่ค่อยได้อยู่ในการตัดสินของตลาดฯมากนักซึ่งตอนนี้ผมว่ามันจำเป็นเหมือนกัน

     เพราะนักลงทุนไม่มีเสียง เวลาทำอะไร เวลาคิดอะไร เสียงมันไม่สะท้อนเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่าไหร่ แต่จริงๆเขาคือ Stakeholder ที่สำคัญ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะพัฒนาหรือจะคึกคักก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุน ซึ่งอาจต้องให้ความสำคัญนักลงทุนมากขึ้น ตรงนี้ต้อง Seriously เพราะนักลงทุนทุกคนเป็นตัวจ่ายสำคัญมากทีเดียว ไม่งั้นคุณจะมีตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าไม่มีคนมาลงทุน ทุกอย่างมาจากลูกค้าคือคนสำคัญ ไม่ใช่มาจากผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว หรือจากคนที่มีอำนาจในการควบคุมอะไรอย่างเดียว

     "เรารู้สึกเหมือนกันว่าหลายๆครั้งนักลงทุนถูกทอดทิ้ง หรือว่าบางทีเรามีมุมมองอะไรบางอย่าง เขาก็ไม่ค่อยได้ฟัง หรืออาจจะฟังแต่อาจจะไม่ได้ตรวจสอบซีเรียสมาก อยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งในเรื่องนโยบายต่างๆที่ออกมา หรือการควบคุมอะไรต่างๆต้องสะท้อนมุมมองของนักลงทุนเยอะขึ้น อย่างเช่นก่อนหน้านี้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯตัดการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 0.5%ออก ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนอยากได้ เราก็รู้สึกว่าตัดการเปิดเผยรายชื่อออกทำไมเพราะเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องการทราบ แต่ล่าสุดได้มีการกลับมาเปิดเผยรายชื่อเหมือนเดิมก็ถือเป็นเรื่องที่ดี"

     หรือแม้กระทั่งอย่าง "กรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ" ก็ไม่มีชื่อของนักลงทุนร่วมด้วย มีเพียงชื่อที่มาจาก ก.ล.ต. และ บริษัทหลักทรัพย์ฯ แต่ไม่มีจากฝั่งนักลงทุน ถ้าอย่างที่ใจผมคิดคือ ต่อไปนี้หากจะทำอะไรต้องดู Stakeholder ให้ครบ และเหมาะสม ไม่ใช่ว่านี่เป็นเพียง Minor Stakeholder ไม่สำคัญไม่ต้องอะไร 

     "อย่างที่บอกว่าถ้าจะให้ตลาดหลักทรัพย์ฯดีขึ้น ตรงส่วนนี้ต้องปรับ คุณอย่าไปคิดว่าไม่ได้ นักลงทุนจะเป็นกรรมการได้อย่างไร หรือจะมองว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ มันเป็นอะไรที่ผมคิดว่านี่ควรปรับเปลี่ยน ถ้าจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับตลาดฯ ทาง ก.ล.ต.เป็นคนกำหนด ซึ่งคุณก็ต้องนำเสนอว่าควรจะมีกรรมการที่เป็นสายนักลงทุนด้วยใช่หรือไม่"

      อย่างไรก็ดี "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ" ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยตลาดหุ้นไทยได้ แม้อาจไม่ใช่ปัจจัยผลักดันที่ใหญ่ที่สุด เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นโอเปอเรเตอร์ที่จะพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นหมายความว่าอะไรก็ตามที่จะทำขึ้นมาที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนก็ต้องดึงนักลงทุนเข้ามามีบทบาทโดยตรงเช่นกัน อยากฝากมุมมองนี้ให้กับผู้จัดการตลาดคนใหม่"

     และนี่คือหนึ่งมุมมองของนักลงทุน VI ระดับตำนานที่นักลงทุนต่างยกให้เป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์"เมืองไทยที่ฝากถึงผู้จัดการตลาดฯคนใหม่ด้วยความหวังเห็นสิ่งที่ดีขึ้น 

     ไม่แน่ว่าเสียงนี้อาจจะดังจนสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญ และในอนาคตอาจเห็น "นักลงทุน"มีบทบาทร่วมพัฒนาตลาดหุ้นไทยให้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง...ก็เป็นได้!!!