posttoday

TIDLOR ปรับโครงสร้างฯ พร้อมจัดตั้งโฮลดิ้งส์ แลกหุ้น 1:1

12 มิถุนายน 2567

TIDLOR ปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ จัดตั้ง “ติดล้อ โฮลดิ้งส์” แลกหุ้น อัตรา 1 ต่อ 1 คาดจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/67 เพื่อเข้าตลาดหุ้นแทน

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (e-EGM) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2567 ได้อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ โดยมีการจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแห่งใหม่ คือ บริษัท ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR Holdings Public Company Limited) (ติดล้อ โฮลดิ้งส์) ขึ้น เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) 

ซึ่งหลังจากที่บริษัทได้รับการอนุมัติในเบื้องต้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ติดล้อ โฮลดิ้งส์ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แล้ว บริษัทจะดำเนินการให้ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทจากผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญของบริษัท ในอัตราการแลกหลักทรัพย์ 1 หุ้นสามัญของบริษัท ต่อ 1 หุ้นสามัญของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์

ทั้งนี้ ภายหลังการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เสร็จสิ้น คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2567 ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะยื่นขอนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งจะถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน โดย ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์เดียวกันกับบริษัท คือ TIDLOR

โดยการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัท มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • เพื่อลดความสับสนของนักลงทุนจากการจ่ายหุ้นปันผลและความสับสนของนักลงทุนเกี่ยวกับมูลค่าของกิจการ
  • เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจปัจจุบันของบริษัท เช่น ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยโดยเฉพาะ InsurTech และการขยายไปยังธุรกิจการอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความแข็งแกร่งให้กลุ่มบริษัท รวมทั้งโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทในระยะยาว
  • เพิ่มศักยภาพในการบริหารธุรกิจ และสามารถดึงดูดบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ความชํานาญตรงตามความต้องการของธุรกิจ เพื่อกําหนดกลยุทธ์ที่มีลักษณะเฉพาะและเหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ
  • เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการขององค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจของแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทให้มีบริษัทใหญ่ซึ่งประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินงานของกลุ่มบริษัท
  • เพื่อให้มีการแบ่งแยกการกํากับดูแลและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างชัดเจน โดยสามารถจํากัดความเสี่ยงและผลกระทบจากการดําเนินงานจากการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ให้อยู่ภายใต้บริษัทใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทในปัจจุบัน
  • โอกาสในการลดภาระทางภาษีในส่วนของผู้ถือหุ้นอันเนื่องมาจากการจ่ายหุ้นปันผลของบริษัท

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech ได้แก่ AREEGATOR และ heygoody รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ บริษัทใหม่ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech ในอนาคต (บริษัทใหม่) 

โดยภายหลังจากที่การโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech ดังกล่าวแล้วเสร็จ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะเข้าซื้อหุ้นในบริษัทใหม่ดังกล่าวในสัดส่วน 99.99% ภายหลังจากที่หุ้นสามัญของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัท

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TIDLOR เปิดเผยว่า ทิศทางสร้างการเติบโตของบริษัท และการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการในครั้งนี้ ถือเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาว เนื่องจากทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านสินเชื่อและนายหน้าประกันเพิ่มขึ้น การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มโอกาสขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการหรือการร่วมลงทุน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับภาพรวมธุรกิจของกลุ่มบริษัทได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันจะช่วยให้สามารถบริหารและจำกัดความเสี่ยงของแต่ละธุรกิจที่มีลักษณะต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย