posttoday

เช็คลิสต์หุ้น "กลุ่ม SCC" ร่วงแรง..น่ารับ? กับอนาคตธุรกิจ

15 มิถุนายน 2567

"กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย (SCC)" กอดคอร่วงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ราคาดำดิ่งพีคสุดมากกว่า -20% หลังจากธุรกิจเข้ารอบดาวโรยตามภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นอย่างที่คิด

     เชื่อหรือไม่!! 

     ราคาหุ้น "กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย (SCC)" นับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน(Year to Date : YTD) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา กอดคอร่วงอย่างต่อเนื่อง จากการรวบรวมข้อมูลจาก SETSMART พบว่า ราคาหุ้น SCC ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 307 บาท และลดลงต่ำสุด 223 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลง -26.47%

     โดยมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ ถือหุ้น ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2567 เหลือเพียง 9.81% ซึ่งมีข้อจำกัดไม่เกิน 25%
 
    ราคาหุ้น SCGP แตะจุดสูงสุดที่ 37.50 บาท และลดลงต่ำสุด ที่ 26.50 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลง -7.64% โดยมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ ถือหุ้น ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2567 เหลือเพียง 4.18% ซึ่งจำกัดถือไม่เกิน 30%

     ราคาหุ้น SCGD ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 10.90 บาท และลดลงต่ำสุด ที่ 7.25 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลง -22.00% โดยมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ ถือหุ้น ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2567 เพียง 1.19% ข้อจำกัดถือไม่เกิน 30%

     ราคาหุ้น SJWD ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 16.70 บาท และลดลงต่ำสุด ที่ 12.70 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลง -14.94 % โดยมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ ถือหุ้น ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2567 เหลือเพียง 1.11% ซึ่งจำกัดถือไม่เกิน 49%

     ราคาหุ้น Q-CON ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 18.50 บาท และลดลงต่ำสุด ที่ 11.70 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลง -21.85% โดยมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ ถือหุ้น ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2567 เหลือเพียง 0.02% ซึ่งจำกัดถือไม่เกิน 30%

     ราคาหุ้น GLOBAL ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 17.40 บาท และลดลงต่ำสุด ที่ 14.80 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลง  -12.21% โดยมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ ถือหุ้น ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2567 เหลือเพียง 4.44% ซึ่งจำกัดถือไม่เกิน 49%

เช็คลิสต์หุ้น \"กลุ่ม SCC\" ร่วงแรง..น่ารับ? กับอนาคตธุรกิจ

 

     ถามว่า แปลกมั้ย ? ตอบเลยว่า ไม่!!!

     เพราะสิ่งที่ "บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC" เผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น "ธุรกิจปิโตรเคมี" เข้าสู่ช่วงวัฏจักรขาลงมาอย่างยาวนาน สะท้อนผลประกอบการปี 2565-2567 ที่ยังน่ากังวล อีกทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์กระทุ้งต้นทุน Naphtha ปรับตัวเพิ่มขึ้น

เช็คลิสต์หุ้น \"กลุ่ม SCC\" ร่วงแรง..น่ารับ? กับอนาคตธุรกิจ

     รวมถึงความล่าช้าในการใช้ปีงบประมาณแผ่นดินกระทบความต้องการใช้ "ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง"ไม่เป็นตามคาด ที่สำคัญด้วยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากระทบความต้องการใช้ใน"ธุรกิจแพคเกจจิ้ง"เช่นเดียวกัน

     แม้ที่ผ่านมา SCC จะมีการปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มความคล่องตัวในธุรกิจ ลดการบริหารงานแบบรวมจุดเดียว แต่การขยับที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ และผลลัพท์ที่ได้จะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาดีได้หรือไม่ อาจต้องรอพิสูจน์

     รู้จักธุรกิจ "กลุ่ม SCC" 

     "SCC" เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมา 111 ปี ก่อตั้งใน พ.ศ.2456 เดิมชื่อ "บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด" ทำธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้างที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและทดแทนการนำเข้า ต่อมาได้ขยายกิจการและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในวันที่ 25 เม.ย. 2518 

     ในปัจจุบัน "SCC" ดำเนินธุรกิจการลงทุน (Holding company) ใน 3 ธุรกิจหลัก ทั้ง ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง 

     ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจในธุรกิจง่ายขึ้น แยกธุรกิจเป็น 2 รูปแบบ โดย กลุ่มแรก คือ "กลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ" นำโดย "ธุรกิจแพคเกจจิ้ง" ภายใต้การดำเนินงานโดย "บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP" ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (ซึ่งมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก คือ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด) แบ่งออกเป็น 3 สายธุรกิจหลัก คือ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร, สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ และสายธุรกิจรีไซเคิล ซึ่ง SCC ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน SCGP จำนวน 3,095,882,660 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 72.12% 

     ล่าสุด SCGP เข้าซื้อหุ้น (Merger and Partnership: M&P) สัดส่วนร้อยละ 70 ใน Starprint Vietnam JSC (SPV) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้(Offset Folding Carton) ประเทศเวียดนาม

     ด้าน "ธุรกิจเอสซีจีเดคคอร์" ดำเนินงานโดย "บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD" โดยมี "บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด" เจ้าของวัสดุก่อสร้างแบรนด์ตราช้าง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ.2481 (บริษัทในเครือ SCC) ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 1,210,897,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 73.39%

     ขณะที่ "ธุรกิจเคมิคอลส์" ดำเนินงานโดย "บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC" ผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านเคมีภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน มีฐานการผลิตครอบคลุมทั้งในเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจปิโตรเคมีรายใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงบริการปลายน้ำ แม้ปัจจุบัน SCGC ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่แผนเดิมของ SCC คือต้องการ Spin-off หุ้นออกมาขายไอพีโอ

     อย่างไรก็ดี SCGC เดินหน้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดร่วมมือกับ BBGI และ QTC พัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio-Based Transformer Oil) จากน้ำมันปาล์มพร้อมส่งมอบ

     ส่วน กลุ่มที่สอง คือ "ธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย" นำโดย "ธุรกิจ เอสซีจี ซีเมนต์ แอนด์ กรีนโซลูชัน" ดำเนินงานโดย "บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG CBM)"

     ซึ่ง SCG CBM ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน "บริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่น โปรดัคส์ จํากัด (มหาชน) หรือ Q-CON" จำนวน 244,059,800 หุ้น คิดเป็น 61.01% อีกทั้งยังถือหุ้นใหญ่ "บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD" จำนวน 537,828,254 หุ้น คิดเป็น 29.70%

     ทั้งนี้ "SJWD" เกิดจากการรวมกิจการระหว่าง "บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SCGL" และ "บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD" โดย SJWD ให้บริการทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรภายในภูมิภาคอาเซียน การบริการของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.บริการโลจิสติกส์และซัพพลาย เช่น บริการจัดการคลังสินค้าและบริหารลานจอดพักรถยนต์ บริการขนส่งและกระจายสินค้า (B2B , D2C , Cross Border , Multimodal Transport) บริการโลจิสติกส์อื่นๆ และบริการโลจิสติกส์ต่างประเทศ 2.ธุรกิจอื่นๆ

     นอกจากนี้ ยังมี "ธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง" และ "ธุรกิจ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล" โดย "เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น" ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 หุ้น "บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL" ศูนย์จำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ต่อเติม ตกแต่ง บ้านและสวนแบบควบวงจร จำนวน 1,647,791,666 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 32.94% และ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของหุ้น SJWD จำนวน 238,978,047 หุ้น คิดเป็น 13.20%

     ภาพรวมธุรกิจการลงทุน SCC 

     ธุรกิจการลงทุน ดูแลด้านการลงทุนในกิจการต่างๆ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ Kubota, Yamato Kogyo, Aisin Takaoka Group, Nippon Steel, Toyota Motor เป็นต้น นอกจากนี้ยังดูแลธุรกิจที่ดินอุตสาหกรรมร่วมกับ Hemaraj Development 

      เช็คลิสต์หุ้น \"กลุ่ม SCC\" ร่วงแรง..น่ารับ? กับอนาคตธุรกิจ

เช็คลิสต์หุ้น \"กลุ่ม SCC\" ร่วงแรง..น่ารับ? กับอนาคตธุรกิจ

รีเช็คอนาคต SCC 

     สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจของ SCC ในไตรมาส 2/67 ในส่วนของ "ธุรกิจปิโตรเคมี" คาดฟื้นตัวดีขึ้นจากงวดไตรมาส 1/67 จากปริมาณการขายเม็ดพลาสติก Polyolefin (PE และ PP) ที่มีมากขึ้นหลังโรงงานระยองโอเลฟินส์กลับมาเปิดดำเนินงานอีกครั้งปลายเดือน มี.ค.67 และธุรกิจไวนิลจะมีปริมาณการขาย PVC มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ตึงตัวของวัตถุดิบ EDC ผ่อนคลายลง ทำให้โรงงาน PVC ของ SCC กลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตอีกครั้ง

     อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า ธุรกิจปิโตรเคมียังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลขาดทุนขึ้นอีกในไตรมาส 2/67 ภายใต้สถานการณ์ที่ Spread ผลิตภัณฑ์หลักทั้ง HDPE-Naphtha และ PP-Naphtha ในเดือน เม.ย.67 ยังอยู่ต่ำกว่า 400 USD/ton ถือเป็นต้นทุนที่เป็นเงินสด(Cash Cost)ของโรงงานโอเลฟินส์ทั่วไป แม้ว่า SCC จะมียอดขายจากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added : HVA) และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Green Polymer ซึ่งมี Spread สูงกว่าพลาสติกเกรดทั่วไป 100-150 USD/ton ทำให้ SCC มีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา,ดอกเบี้ยและภาษี(EBITDA)ที่เป็นบวก แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนคงที่ต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายคงที่จากโรงงาน Long Son Petrochemical(LSP)ประกอบด้วยค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยที่ต้องรับรู้เข้ามาประมาณ 600 ล้านบาทต่อเดือน

     สำหรับประเด็นที่โรงงาน LSP พบความผิดปกติในระหว่างการเดินเครื่องจักรทดสอบทั้งโรงงานในไตรมาส 1/67 และอยู่ระหว่างการแก้ไข คาดว่าจะสามารถกลับมาทดสอบเดินเครื่องทั้งโรงงานได้อีกครั้งประมาณเดือน มิ.ย.67 ล่าช้ากว่าแผนงานเดิมของ SCC ประมาณ 3 เดือน แม้จะทำให้ SCC ต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นของการเดินเครื่องโรงงาน LSP จะเป็นการผลิตสินค้าเกรดธรรมดา ซึ่งปัจจุบันมี Spread ต่ำกว่าจุดคุ้มทุน อีกทั้งการเลื่อนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงงาน LSP จะทำให้ SCC ชะลอการรับรู้ค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านบาทต่อไตรมาส ออกไปเป็นช่วงครึ่งปีหลัง

     ฝ่ายวิจัยคาดว่าภาพรวมธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์จะค่อยๆดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 บนความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ภายใต้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินมาเป็นนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทยอยกลับมาเพิ่มขึ้น อีกทั้งอุปทานใหม่ของปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์จะลดลงอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2567-2569 เทียบกับปี 2563-2566 ส่งผลให้แนวโน้ม Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะขยับขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ซึ่งเป็นจังหวะที่โรงงาน LSP เริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์พอดี

     "ธุรกิจปูนซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง(CBM)" แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจย่อย ได้แก่ 1.ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน 2.ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล และ 3.ธุรกิจเอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) โดยแนวโน้มผลประกอบการ CBM ช่วงไตรมาส 2/67 ประเมินว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับงวดไตรมาส 1/67 แม้โดยปกติไตรมาส 2 ของปีจะได้รับผลกระทบด้านฤดูกาลที่มีจำนวนวันหยุดมากกว่า แต่ปี 2567นี้คาดหวังโครงการลงทุนภาครัฐที่จะมีมากขึ้น หลัง พรบ.งบประมาณปี 2567 ได้รับการอนุมัติ 

     ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มเห็นการออกมาตรการกระตุ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่ยังเห็นโมเมนตัมในการฟื้นตัวต่อเนื่องในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม รวมถึงกัมพูชาที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในภาคเกษตรซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างในกลุ่ม Low-Medium

     ด้านต้นทุนการผลิต มีปัจจัยบวกจากราคาถ่านหินที่ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้การเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทน (AFR) ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสิ้นปี 2566 ที่มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทน 40% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด เพิ่มเป็น 47% ในไตรมาส 1/67 และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2567 รวมถึงการลงทุนติดตั้ง Solar Cell เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 1/67 SCC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ 263 MW เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่มี 229 MW และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 400-500 MW ภายในสิ้นปี 2567 จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มอัตรากำไรให้กับกลุ่มธุรกิจนี้

     "ธุรกิจ Packaging (SCGP)" ในไตรมาส 2/67น่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/67 จากผลกระทบด้านฤดูกาลที่ประเทศไทยมีเทศกาลสงกรานต์เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียที่มีวันหยุดยาวในเทศกาล อีฎิ้ลฟิตริ หลังเดือนรอมฏอน ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตอยู่บ้าง นอกจากนี้ธุรกิจ Fibrous Chain จะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ที่ขอนแก่นที่ถูกเลื่อนมาจากงวดไตรมาส 1/67 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ คาดจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นประมาณ 100 ล้านบาท

     แม้ฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองว่าธุรกิจปิโตรเคมีได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2566 โดยอุปทานเกิดใหม่ของธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2567-2569) เปรียบเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงเวลาที่ธุรกิจปิโตรเคมีจะก้าวออกจากช่วงวัฏจักรขาลงกลับใช้เวลานานกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ล่าช้า อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันระยะสั้นในด้านต้นทุนที่ราคา Naphtha ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะมีผลขาดทุนต่อเนื่องไปอีก 1-2 ไตรมาส ทำให้ฝ่ายวิจัยพิจารณาปรับลดประมาณการกำไรปี 2567-2568 ลง 31% และ 18% ตามลำดับ โดยคาดปี 2567 SCC จะมีกำไรสุทธิ 17,131 ล้านบาท ลดลง 34%YoY และปี 2568 คาดกำไรสุทธิ 27,040 ล้านบาท เติบโต 58%YoY จากฐานที่ต่ำในปี 2567

กำไรปกติฟื้นนานกว่าคาด

     ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) คงคำแนะนำ “ถือ” ที่ราคาเป้าหมายใหม่ปี 2024E ที่ 250 บาท (เดิม 270 บาท) อิงวิธี SOTP ฝ่ายวิเคราะห์มีมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อแนวโน้มกำไรปกติของบริษัท โดยตอนนี้ฝ่ายวิเคราะห์เชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจปิโตรเคมีจะยังคงถูกกดดันจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ (olefins spread) ที่ทรงตัวต่ำใน 2H24E สะท้อนอุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่ฝ่ายวิเคราะห์คาดก่อนหน้านี้ อีกทั้งอุปทานใหม่ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น HoH สำหรับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ฝ่ายวิเคราะห์เชื่อว่าจะยังคงเห็นรายได้ที่อ่อนตัว YoY ใน 2Q24E ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจจะทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐล่าช้าออกไป

     ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่าโครงการ LSP Petrochemical Complex จะยังสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายใน 2H24E (บริษัทตั้งเป้าในเดือน ส.ค. 2568) ฝ่ายวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรปกติ พ.ศ.2568 ลง 19% เป็น 1.67 หมื่นล้านบาท และ พ.ศ.2569 ลง 16% เป็น 2.01 หมื่นล้านบาท หลักๆเพื่อสะท้อนผลประกอบการ 1Q24 ที่อ่อนแอ, สมมติฐาน olefins spread ที่ลดลง และรายได้ของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้างที่ต่ำลงราคาหุ้น underperform SET -18% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสะท้อนแนวโน้ม olefins spread ที่ทรงตัวต่ำและการประกาศการเลื่อน COD ของโครงการ LSP Petrochemical Complex ออกไปก่อนหน้านี้ราคาปัจจุบันสะท้อน 2024E PBV ที่ 0.69x (ประมาณ -2.6SD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PBV 5 ปีย้อนหลัง)

     ทั้งนี้ แม้ valuation จะไม่แพงแต่ฝ่ายวิเคราะห์เชื่อว่าหุ้น SCC ขาดปัจจัยผลักดันในระยะสั้นและคาดว่า olefins spread จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปใน 2H24E ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิเคราะห์เชื่อว่าบริษัทจะสามารถ COD โครงการ LSP Petrochemical Complex และเห็นปริมาณขายปิโตรเคมีที่สูงขึ้นได้