posttoday

EA ไม่หมดหวัง! เงินหนา กระแสเงินสดแน่น ไร้ปัญหาคืนหนี้หุ้นกู้

02 กรกฎาคม 2567

"สมโภชน์ อาหุนัย" ควงคู่ "อมร ทรัพย์ทวีกุล" คอนเฟิร์มสถานะการเงินแกร่ง Adderโรงไฟฟ้าหมดแต่ไม่ใช่จุดจบเหตุมีรายได้จากค่าไฟฐานไหลเข้าต่อเนื่อง ไร้ปัญหาคืนหนี้หุ้นกู้ พร้อมเดินหน้าธุรกิจแบตเตอร์รี่-ยานยนต์ไฟฟ้า

     หลังจากราคาหุ้น EA โหมกระหน่ำซัมเมอร์เซลลงมาอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องยาวนาน จากราคาหลัก 100 บาท สู่ราคาหลัก 10 บาท ถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีทีเดียว พร้อมกระแสข่าวลือมากมาย หนึ่งในนั้นคือ "สถานะการเงิน" ของ "บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA" ที่สั่นคลอนหลังจากค่า Adder ของโรงไฟฟ้าทยอยหมดลง นั่นหมายความว่าผลประกอบการของ EA จะลดลงอย่างน่าใจหาย 

     แม้ทางผู้บริหารของ EA จะออกมาคอนเฟิร์มว่า "ราคาหุ้นที่ร่วงแรงขนาดนั้นไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่, ยานยนต์ไฟฟ้า , พลังงานทดแทน ที่ยังเป็นเมกะเทรนด์"

     แต่ดูเหมือนว่าความกังวลเรื่อง Adder ยังไม่จบ!

     นั่นจึงเป็นเหตุให้ในวันนี้(2 ก.ค.2567) "นายสมโภชน์ อาหุนัย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ควงคู่ "นายอมร ทรัพย์ทวีกุล" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ตั้งโต๊ะแถลงข่าวอีกครั้ง โดยยืนยันว่า บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เรื่อง Adderไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อยากให้เข้าใจตรงกันว่า "สัญญาขายไฟ" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ "รายได้จากค่าไฟฐาน และ Adder 6.50 บาท" 

     แม้ Adder ที่กำลังจะหมดลงจะทำให้รายได้ส่วนนี้หายไป แต่จะยังคงเหลือรายได้จากค่าไฟฐาน และแม้ว่าจะไม่มีระบบ Adder แต่ยังมีราคาที่ดีกว่า FiT (feed in tariff) และที่สำคัญสัญญาที่ได้รับนั้นไม่มีวันหมดอายุ ขณะที่ระบบ FiT มีอายุ 25 ปีเท่านั้น 

     ปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่ Adder จะหมดลงก็คือโรงไฟฟ้าโซลาร์ จังหวัดลำปาง พ.ศ.2569 , โรงไฟฟ้าโซลาร์ จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ.2570 , โรงไฟฟ้าลมที่ภาคใต้ พ.ศ.2571 และ โรงไฟฟ้าลม จังหวัดชัยภูมิ

     ถามว่า Adder ที่ทยอยหมดลงไปกระทบรายได้เท่าไหร่ ? 

     Adder ที่เริ่มหมดลงตั้งแต่ปีหน้า รายได้ 9,000 ล้านบาทจะทยอยหมดลงในพ.ศ.2572 แต่ EA ยังมีรายได้อยู่ที่ 5,000 ล้านบาทและบริษัทต้องทำสัญญาต่ออายุสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคราวละ 5 ปี นั่นหมายความว่า "แม้ Adder จะหมดลง แต่ไม่ได้หมายความว่ารายได้ในส่วนนี้จะหายไปหรือกลายเป็นศูนย์ เพราะบริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯตามปกตินั่นเอง" 

     ที่สำคัญ EA ขยายการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะจังหวัดภูเก็ต กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน พ.ศ.2569 พร้อมกับเซ็น PPP ตั้งศูนย์จัดการขยะบนพื้นที่เกาะล้าน โดยมีสัญญา 5 ปี

     และด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง กระแสเงินสดเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ บริษัทจึงไม่มีปัญหาการขยายธุรกิจ หรือ การชำระคืนหนี้หุ้นกู้แต่อย่างใด ทั้งนี้บริษัทมั่นใจว่าสามารถจ่ายดอกเบี้ยและชำระหนี้หุ้นกู้ได้ตรงตามกำหนดอย่างแน่นอน

    "ยืนยันว่าต่อให้การลงทุนใน NEX หรือ  BYD ต้องหยุดกิจการ บริษัทยังสามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ครบถ้วนแน่นอน"

      ส่วนความกังวลเกี่ยวกับความสามารถการแข่งขันของโรงงานแบตเตอรี่หลังจากราคาแบตฯปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วนั้น บริษัทและพันธมิตรได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี และได้ทำการศึกษาพร้อมกับปรับปรุงเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิต จนขณะนี้ทำให้ต้นทุนปรับลดลงอยู่ใกล้เคียงระดับที่สามารถแข่งขันได้

     ด้านรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท ไทยสมายบัส จำนวน 2,000 คัน ได้ให้บริการมีผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยจำนวนผู้โดยสารราว 350,000 คนต่อวัน เชื่อว่าภายใน 1 ปีจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้

     ส่วนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ "บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX" ถือเป็นผู้นำตลาดของเมืองไทยที่มีคู่ค้า พันธมิตร ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ให้การยอมรับ และพร้อมที่จะมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและใช้บริการของ NEX และขอยืนยันว่า EA ได้เตรียมเงินสดไว้เพียงพอสำหรับการเพิ่มทุนของ NEX ในครั้งนี้ เพื่อช่วยให้ NEX มีฐานทุนที่แข็งแรงสำหรับการขยายธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตต่อไปได้ 

     นอกจากนี้ หุ้นเพิ่มทุนที่ขาย PP ให้กับ "นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEX" ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะใส่เงินเพิ่มทุน เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกับ EA

     อย่างไรก็ตาม EA มีแผนขับเคลื่อนธุรกิจสอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก ทั้ง การลงทุนแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับมี Product Champions ทั้งการจับมือพันธมิตรแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) , ความร่วมมือกับ CRRC Dalian ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ผู้นำธุรกิจรถไฟความเร็วสูงของจีน ร่วมผลิตหัวรถจักรไฟฟ้า , เป็นผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (Commercial EV) และสถานีชาร์จของบริษัทได้รับการจดสิทธิบัตร ultra-fast charge ในระดับโลก มีหัวชาร์จมากกว่า 2,000  จุดครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ

     "ตลอดระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา EA เป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจใหม่และเป็นกระแสโลกเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่รวมถึงเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านับตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน, การประกอบ รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้า เรือไฟฟ้า , สถานีชาร์จที่มีครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ นับเป็นความภูมิใจที่เป็นบริษัทของคนไทยที่สามารถพิสูจน์ต่อสายตาชาวโลกว่า "คนไทยทำได้"

     ซึ่งนักอุตสาหกรรมต่างชาติต่างชื่นชมเราว่าทำเป็นรายแรก โดยไม่ได้รับการสนับสนุนการภาครัฐยังทำมาได้ขนาดนี้ จึงอยากขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐให้เห็นความสำคัญต่อการส่งเสริมเพื่อให้ธุรกิจของคนไทยไปแข่งขันในเวทีโลกได้  รวมถึงขจัดปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจให้หมดไป"