TRUE งบ Q2/67 โชว์ EBITDA โตติดต่อกัน 6 ไตรมาส ดันกำไรหลังปรับปรุงแตะ 2,398 ล้าน
TRUE แจ้งงบไตรมาส 2/67 โชว์ EBITDA เพิ่มขึ้น 9% แตะ 24,335 ล้านบาท โต 6 ไตรมาสติดต่อกัน หนุนกำไรภายหลังปรับปรุงทะลุ 2,398 ล้านบาท แต่มีบันทึกผลกระทบเชิงลบจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 4,277 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิ 1,879 ล้านบาท อัพเป้ารายได้บริการปีนี้ โต 4-5%
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 1,879 ล้านบาท เนื่องจากมีบันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย จำนวน 4,277 ล้านบาท
โดยหากไม่รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว กำไรสุทธิหลังหักภาษีจะอยู่ที่ 2,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,596 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน อยู่ที่ 802 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของ EBITDA และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ที่ลดลง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) สำหรับไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 6,112 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
“นับตั้งแต่การควบรวมกิจการเมื่อปีที่แล้ว ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างยั่งยืน เราให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ผลประกอบการไตรมาส 2 สอดคล้องกับแผนการควบรวมกิจการ โดยมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและ EBITDA แสดงการเติบโตเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน” นายมนัสส์ กล่าว
ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้วางแผนการเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างกำไรและคุณค่าอย่างยั่งยืนผ่านประสบการณ์ การเติบโต และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมภายในปี 2568 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำกำไรในปี 2567 มั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตที่มีกำไร ในขณะที่ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการทำกำไรอย่างยั่งยืนและการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า อุตสาหกรรม ตลาด และประเทศโดยรวม
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวถึงแผนการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าและการเตรียมพร้อมสู่อนาคตว่า บริษัทกำลังเร่งการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย โดยได้ดำเนินการพัฒนาไปแล้วกว่า 7,100 สถานี จากทั้งหมด 17,000 สถานี ส่งผลให้คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า (NPS) ดีขึ้น และได้จัดตั้งกลุ่มงานลูกค้าและ AI เพื่อยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย
“การพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยยังคงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด เรากำลังใช้กลยุทธ์แบบ 360 องศา ในระดับละเอียดเพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความเร็วสูงสุดของ 5G เป็น 2 เท่า ผ่านโครงข่ายที่เหนือกว่าและครอบคลุมกว้างที่สุด” นายชารัด กล่าว
ทรู คอร์ปอเรชั่น มีเจตนารมณ์ในการลงทุนสำหรับการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของระบบหลังบ้านแบบอัตโนมัติ (Back-end systems) เพื่อขับเคลื่อนการเป็นดิจิทัลทั่วทั้งองค์กร ทำให้ทรูก้าวล้ำในการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี จากเสาสัญญาณทั้งหมด 59,000 สถานี เราจะพัฒนา 17,000 สถานี โดยมีแผนพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป 10,000 สถานี ภายในปี 2567 และส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จในปี 2568
ในไตรมาส 2/2567 การให้ความสำคัญเชิงคุณภาพในการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 0.6 ล้านเลขหมาย หรือ 1.2% จากไตรมาสก่อน โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 50.5 ล้านเลขหมาย จำนวนผู้ใช้บริการระบบรายเดือนคงที่จากไตรมาสก่อนที่ 15.3 ล้านเลขหมาย ผู้ใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1% จากไตรมาสก่อน อยู่ที่ 3.7 ล้านราย
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวว่า EBITDA ในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 24,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.1% จากไตรมาสก่อน
ซึ่งหากปรับปรุงด้วยผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2/2566 EBITDA จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องมาจากการเติบโตของรายได้และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่การควบรวมกิจการที่ 58.6% สำหรับไตรมาส/2567
โดยหากนับตั้งแต่ควบรวมบริษัท EBITDA เพิ่มขึ้น 4,883 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน
ขณะที่รายได้รวมในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 51,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) อยู่ที่ 41,529 ล้านบาท เติบโต 5.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากการบริหารผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจ
รายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อยู่ที่ 32,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก ARPU เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน รายได้จากบริการออนไลน์ อยู่ที่ 6,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU อย่างต่อเนื่องที่ 9.6% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน
รายได้จากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (PayTV) อยู่ที่ 1,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากรายได้ที่สูงขึ้นจากธุรกิจดนตรีและบันเทิง อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าสมาชิกยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/2567
บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือ D&A) ลดลง 3.9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน หลังการปรับปรุงผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2/2566 โดยปัจจัยหลักมาจากประโยชน์ที่ได้รับจากการควบรวมกิจการ ต้นทุนเครือข่ายลดลง 7.6% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการประหยัดต้นทุนผ่านการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการลดอัตราราคาพลังงาน
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 14.2% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการในโครงการปรับปรุงด้านการค้าและการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย ทั้งนี้ บริษัทได้ผสานแนวคิดการมุ่งเน้นผลการดำเนินงานเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับปรุงแนวโน้มสำหรับปี 2567 โดยคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) เติบโต 4-5% จากปีก่อน เดิมคาดว่าเติบโต 3-4%, EBITDA จะเติบโต 12-14% จากปีก่อน เดิมคาดว่าเติบโต 9-11% ในขณะที่แนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) รวมถึงการลงทุนเพื่อการควบรวมกิจการยังคงอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ทั้งปี 2567 จะยังคงมีกำไรหากไม่รวมผลกระทบจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย