posttoday

ทำไม ? "การบินไทย" กำไรไตรมาส 2/67 วูบหนัก 86.5%

09 สิงหาคม 2567

ผ่างบ "บมจ.การบินไทย (THAI)" ไตรมาส 2/2567 มีกำไร 306 ล้านบาท ลดลง 86.5% ฉุดกำไรงวดครึ่งปีแรกลดลง 81.6% ทำได้ 2,716 ล้านบาท สวนทางรายได้รวมแตะระดับ 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 6,600 ล้านบาทขานรับจํานวนเที่ยวบินพุ่ง

     "การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า" สโลแกนที่ติดตราตรึงใจคนไทยมานานแสนนาน จากสายการบินแห่งชาติที่บินสูงเหนือใคร กลับประสบปัญหาขาดทุนหนักต่อเนื่องจนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านมาได้ 3 ปีแล้ว คงได้แต่เอาใจช่วยให้ "THAI" กลับมาเฉิดฉายในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง...ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่!!

     วันนี้(9 ส.ค.67) "บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI" แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/67 บริษัทและบริษัทย่อย มีกําไรสุทธิ 314 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,959 ล้านบาท แบ่งเป็นกําไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ จำนวน 306.13 ล้านบาท ลดลง 86.5% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 2,261.90 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนปี 67 มีกำไร 2,715.68 ล้านบาท ลดลง 81.6 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรถึง 14,775.85 ล้านบาท

ทำไม ? \"การบินไทย\" กำไรไตรมาส 2/67 วูบหนัก 86.5%

     เกิดอะไรขึ้น ?

     แน่นอนว่า สาเหตุหลักคือ THAI มีค่าใช้จ่ายรวม(ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว)เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 9,251 ล้านบาท คิดเป็น 32.1% ตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่ง จํานวนเที่ยวบิน จุดบิน และ ผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้น ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลให้ "ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศสูงขึ้น"

     นั่นจึงเป็นเหตุให้ THAI และบริษัทย่อย มีกําไรจากการดําเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 5,925 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 2,651 ล้านบาท หรือ 30.9% ส่วนต้นทุนทางการเงิน(ซึ่งเป็นการรับรู้ต้นทุนทางการเงินตาม มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 : TFRS 9) จํานวน 4,796 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 829 ล้านบาท ราว 20.9%

     "รายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท เกิดจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ แม้จะมีกําไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนแบ่ง กําไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และกําไรจากการขายสินทรัพย์"

     รายได้ไตรมาส 2/67 พุ่ง!

     ด้านรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ในไตรมาส 2/67 บริษัทและบริษัทย่อยทำได้ 43,981 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% รับรู้รายได้จากกิจการขนส่งที่เพิ่มขึ้น 5,323 ล้านบาท ราว 15.2% จากจํานวนเที่ยวบินและเส้นทางบินที่ให้บริการเพิ่มขึ้น โดยวันที่ 30 มิ.ย.67 บริษัทมีเครื่องบินที่ใช้ทําการบิน ทั้งสิ้น 77 ลํา ในไตรมาส 2/67 มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเฉลี่ย 13.1 ชั่วโมง ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 21.1% และปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปรับตัวลดลงจาก 79.2% ในงวดเดียวกันของปีก่อน เป็น 73.2%

ทำไม ? \"การบินไทย\" กำไรไตรมาส 2/67 วูบหนัก 86.5%

     อีกทั้งมีรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) อยู่ที่ 3.07 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 3.4% และจํานวนผู้โดยสารที่ทําการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.81 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 13.7%

     "ไตรมาส 2 เป็นช่วงที่ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารต่ำที่สุดของปี ขณะที่ในปี 66 อุตสาหกรรมการบินยังอยู่ในระยะฟื้นตัวจากปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารคงค้าง การเปิดประเทศของจีน และการผ่อนคลายและยกเลิกข้อจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor)ในไตรมาส 2 ของปีก่อนอยู่ในระดับสูงกว่าภาวะปกติ"

     ส่วนการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) เพิ่มขึ้น 23.5% และปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) เพิ่มขึ้น 24.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 51.5% ใกล้เคียงกับงวดเดียวกัน ของปีก่อน ด้านปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น 4,963 ล้านบาท คิดเป็น 15.9% และมีรายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท คิดเป็น 9.4% นอกจากนี้บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากกิจการอื่นเพิ่มขึ้น 724 ล้านบาท คิดเป็น 37.3% และมีรายได้อื่นๆเพิ่มขึ้น 553 ล้านบาท คิดเป็น 115%

     แผนฟื้นฟูยังดำเนินต่อ

     THAI ยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง ทั้ง "การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและขยายเส้นทางบิน" โดยรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 จำนวน 3 ลำ แบบโบอิ้ง 787-9 จำนวน 1 ลำ รองรับการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเมืองสำคัญ เช่น ซิดนีย์ ไทเป โตเกียว(นาริตะ) คุนหมิง เฉิงตู และภูเก็ต เป็นต้น การกลับไปให้บริการในเส้นทางเพิร์ท โคลัมโบ มิลาน และออสโล โดย มิลาน และออสโลเริ่มทำการบินวันที่ 1กรกฎาคม 2567 นอกจากนี้ยังเปิดเส้นทางบินใหม่ไปเมืองโกชิ และเพิ่มเที่ยวบินช่วงเทศกาลพิเศษ เช่น เพิ่มความถี่เที่ยวบินในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์และให้บริการเที่ยวบินพิเศษขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ไปยังราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

     รวมถึง "การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ" โดย จำหน่ายเครื่องบินแบบแอร์บัส A340-600 จำนวน 1 ลำ และแบบโบอิ้ง 777-200 จำนวน 1 ลำ เครื่องยนตอ์ะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งาน จำนวน 2 เครื่องยนต์ และทรัพย์สินอื่นๆ

     อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 บริษัทและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจํานวน 270,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 จํานวน 31,535 ล้านบาท คิดเป็น 13.2% หนี้สินรวม จํานวน 310,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 จํานวน 28,823 ล้านบาท คิดเป็น 10.2% ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อย ติดลบจํานวน 40,430 ล้านบาท ติดลบลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 จํานวน 2,712 ล้านบาท

ทำไม ? \"การบินไทย\" กำไรไตรมาส 2/67 วูบหนัก 86.5%

     เที่ยวบิน-ผู้โดยสารพุ่งหนุนผลงานครึ่งปีแรก

     ผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจำนวน 17,001 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,608 ล้านบาท คิดเป็น 21.3% รายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,047 ล้านบาท คิดเป็น 14% ผลจากรายได้กิจการขนส่ง เพิ่มขึ้น 8,261 ล้านบาท คิดเป็น 11.1% โดยมีรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกิน เพิ่มขึ้น 12.9% จากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) สูงกว่าปีก่อน ขณะที่รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ ลดลง 2.9% จากรายได้พัสดุภัณฑ์เฉลี่ยต่อหน่วยที่ลดลง 21.9% แม้ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) จะสูงขึ้น 24.6%ก็ตาม นอกจากนี้มีรายได้จากกิจการอื่นเพิ่มขึ้น 35% เกิดจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารของสายการบินลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

     ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 72,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,655 ล้านบาท คิดเป็น 27.3% เกิดจาก ค่าน้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 4,372 ล้านบาท คิดเป็น 19.6% จากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการใช้น้ำมันสูงกว่าปีก่อน ราคาน้ำมันเฉลี่ยสูงกว่าปีก่อน 1.1% และเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ค่าน้ำมันเมื่อคำนวณเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนที่แปรผันตามปริมาณการผลิต/การขนส่งเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายคงที่เพิ่มขึ้น 26.2% จากค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานที่เพิ่มขึ้น 18.5% และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น 55.1% 

     ทั้งนี้บริษัทและบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ถึงแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมกำไรจากการขายสินทรัพย์และกลับรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตาม TFRS 9 โดยในงวดครึ่งปีแรกของปี 2567 มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวม 4,847 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,057 ล้านบาท คิดเป็น 81.5% โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,716 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.24 บาท ต่ำกว่าปีก่อน 5.53 บาทต่อหุ้น

     EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวน 18,402 ล้านบาท ลดลง 4,959 ล้านบาท

ทำไม ? \"การบินไทย\" กำไรไตรมาส 2/67 วูบหนัก 86.5%