16 ปีแห่งความหลัง! SCC ร่วงต่ำ มาร์เก็ตแคปเหลือ 2.3 แสนล้าน
เมื่อยักษ์ใหญ่ "ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)" ดำดิ่ง! จากราคาหุ้นที่เคยเฉิดฉายขึ้นไปทำไฮสุด 554 บาท วันนี้หลุดต่ำกว่า 200 บาท ร่วงต่ำกว่าช่วงโควิด-19 ด้านผลงาน 5 ปีเผชิญความท้าทายเศรษฐกิจถดถอยชัดเจน พร้อมความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ป่วนต้นทุนผันผวน
เห็นจะจริงกับคำพูดที่ว่า "ไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้า" เพราะใครจะเชื่อว่าบริษัทระดับบิ๊กคอร์ปของประเทศไทย ที่ใครๆต่างก็ต้องมีติดไว้ในพอร์ต ด้วยราคาที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญยังจ่ายเงินปันผลดีต่อเนื่อง อย่าง "บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC" หนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ในวันนี้ราคาหุ้นกลับร่วงแล้วร่วงอีก จนหลุดทำโลว์ต่ำกว่า 200 บาทในรอบ 16 ปี
16 ปีแห่งความหลัง!!
ความยิ่งใหญ่ของ "SCC" แทบจะไม่ต้องขยายความมาก ด้วยความจริงเป็นที่ประจักษ์ว่า "SCC" บริษัทที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ของไทย ก่อตั้งธุรกิจมา 111 ปี นับตั้งแต่ตั้งบริษัทในวันที่ 8 ธันวาคม 2456 จากนั้นนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 25 เม.ย. 2518 ด้วยราคาเสนอขาย 133 บาทต่อหุ้น พาร์ 100 บาท ต่อมาได้มีการแตกพาร์ต่อเนื่อง จวบจนวันที่ 24 เม.ย.2546 จากพาร์ 10 บาท เหลือ 1 บาทถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลา 49 ปีที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย กราฟราคา SCC แบบรายปี ราคาหุ้นขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 554 บาทในพ.ศ. 2558 ด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ที่ 6.64 แสนล้านบาท
แต่..ราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 9 ส.ค.2567 ร่วงลงมาปิดที่ 196.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 373.83 ล้านบาท Market Cap เหลือเพียง 235,800 ล้านบาท ราคาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน(Year to Date : YTD) ปรับลดลง -35.78%
และไม่ใช่ร่วงแค่แม่ SCC เท่านั้น แต่จับมือกันร่วงแบบยกแผง ตั้งแต่ต้นปีจนวันนี้ติดลบมากกว่า 30% โดยเฉพาะ "SCGP" หุ้นทรงดีที่ราคาขยับขึ้นต่อเนื่อง จากราคาเสนอขายไอพีโอ 35 บาท ขึ้นไปพีคสุดที่ 71.50 บาทในปีพ.ศ. 2564 แต่แล้วก็หลุดต่ำจองจนได้ หนำซ้ำยังทำจุดต่ำสุดตั้งแต่เข้าตลาด ในวันที่ 22 ต.ค.2563
ซึ่งตรงกันข้ามกับ "SCGD" ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาเสนอขายไอพีโอ 11.50 บาท ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเทรดในวันที่ 20 ธ.ค.2566 จนป่านนี้ยังไม่สามารถโผล่พ้นน้ำ ขึ้นมาเหนือจองได้!!
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ??
หากพิจารณาจากผลการดำเนินงานของ "SCC" ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ย่อมทราบคำตอบกันดีว่า ธุรกิจหลักทั้ง ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง , ธุรกิจเคมิคอลส์ และ ธุรกิจแพคเกจจิ้งนั้น ต่างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังทรงตัวระดับสูงกดดันอุปสงค์
โดยเฉพาะ "ธุรกิจปิโตรเคมี" อยู่ในวัฏจักรขาลงมาอย่างยาวนาน อีกทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์กระทุ้งต้นทุน Naphtha ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงความล่าช้าในการใช้ปีงบประมาณแผ่นดินกระทบความต้องการใช้ "ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง" ไม่เป็นไปตามคาด ที่สำคัญด้วยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากระทบความต้องการใช้ใน "ธุรกิจแพคเกจจิ้ง" เช่นเดียวกัน
อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญก่อนหน้านี้ ทั้ง เหตุการณ์ "รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งปรับ บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด (SCG Plastics) บริษัทย่อยของ SCC ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านจากการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐชำระค่าสินค้าที่ผลิตในอิหร่าน ช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2561" ซึ่งทาง SCG Plastics ต้องจ่ายเงินค่าประนอมยอมความให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต่อมาเกิด "เหตุการณ์เพลิงไหม้ถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+" ของ "บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (MTT)" ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ SCC ถือเป็นอีกหนึ่งมรสุมที่เข้ามาเพิ่มความกังวลต่อสถานการณ์ SCC ที่ต้องเผชิญปัญหาไม่หยุดหย่อนให้ทวีความหวั่นวิตกยิ่งขึ้น และยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง
แม้ที่ผ่านมา SCC จะมีการปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มความคล่องตัวในธุรกิจ ลดการบริหารงานแบบรวมจุดเดียว แต่การขยับที่อาจเชื่องช้ากว่าที่ควรจะเป็นสะท้อนผลลัพท์ภาพธุรกิจที่รอวันพลิกฟื้นเท่านั้น
อนาคตเติบโตแค่ไหน ?
แน่อนว่า หากธุรกิจหลักของ SCC กลับมาแกร่งเหมือนในอดีต นั่นคือความหวังที่ผลประกอบการจะฟื้นกลับมาได้ แต่ด้วยแนวโน้มตลาดเคมีภัณฑ์อาจไม่ได้ฟื้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยการเติบโตของอุปสงค์ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แสงสว่างปลายอุโมงค์จึงอาจจะยังน้อยนิด
นอกจากนี้ โครงการปิโตรเคมี ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (LSP) ในเวียดนาม ยังเลื่อนการเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ (COD) จากเดิมที่คาดจะเดินเครื่องในไตรมาส 2/2567 เลื่อนเป็นทดสอบช่วงเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน และ COD ในเดือน ตุลาคม 2567 แน่นอนว่าสร้างความกังวลในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะการแบกต้นทุนคงที่ต่อเนื่อง ซึ่งตลาดคาดว่าจะแบกรับต้นทุนราว 800-1,000 ล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว จากที่บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปแล้วในไตรมาส 2/2567 ถึง 2,200 ล้านบาท และสิ่งที่ต้องตามต่อ ก็คือ โครงการดังกล่าวจะเลื่อนไปอีกหรือไม่ เพราะหากเลื่อนไปเกินกว่าไตรมาส 1/2568 ย่อมกระทบผลประกอบการปีหน้าได้
ถามว่า.. วันที่ราคาหุ้นร่วง ใช่จังหวะ "ซื้อ" หรือไม่ ?
ก่อนที่จะตัดสินใจ "ซื้อ" หุ้นตัวไหนก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะ "หุ้น SCC"นอกจากพิจารณาความแข็งแกร่งของธุรกิจที่ต้องเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆแล้ว ยังต้องดูความสามารถในการทำกำไรในอนาคต รวมถึง ราคาหุ้นที่ต้องถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง พร้อมกับมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ประเมินอนาคตในเบื้องต้นแล้วนั้น
อีกสิ่งสำคัญ ต้องดู Risk Reward Ratio (RRR) นั่นก็คือ สัดส่วนที่เปรียบเทียบระหว่าง "ความเสี่ยง" เป็นจำนวนเงินที่ต้องสูญเสีย เทียบกับผลตอบแทนเป็น "จำนวนเงินที่จะได้รับ" ว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยงเข้าไปลงทุนในแต่ละครั้งหรือไม่
สิ่งที่อยากฝากไว้สักนิดกับคำกล่าวที่ว่า . . .
จง "กล้า" ในช่วงที่คนอื่น "กลัว" และ จง "กลัว" ในช่วงที่คนอื่น "กล้า" แล้วตอนนี้ "คุณ กล้า หรือ กลัว ?"
ผ่าอาณาจักร SCC ในมือ “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” เสี่ยงมรสุมเศรษฐกิจโลก
SCC กำไรไตรมาส 2/67 วูบหนัก 54% ธุรกิจปิโตรเคมีฉุดผลงาน
ล็อคเป้า! 20 หุ้นปันผลกลางปีสวย ยิลด์สูงกว่า 5%