RATCH กางแผนครึ่งหลังปี 67 ปรับกลยุทธ์การลงทุน หนุนเติบโตยั่งยืน
RATCH เปิดแผนครึ่งหลังปี 67 ปรับกลยุทธ์การลงทุน มุ่งเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ดึงพันธมิตรลุยพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ ขับเคลื่อนการเติบโต คาดรายได้ครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก รับรู้รายได้ตามแผน COD โรงไฟฟ้าอีก 40.03 เมกะวัตต์ และปิดดีล M&A
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการเติบโตนับจากนี้ มุ่งเน้นใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักและกระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยจะนำดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการติดตามการดำเนินงานและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น
2.พัฒนาโครงการในมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน 15 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,773 เมกะวัตต์ ให้เสร็จตามเป้าหมายภายในปี 2576 โดยตามแผนมี 4 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40.03 เมกะวัตต์ มีกำหนดจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในครึ่งหลังปี 2567 ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช 12.48 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย 12 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง 1 เวียดนาม 5.55 เมกะวัตต์ และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย 10 เมกะวัตต์
3.การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนมุ่งเน้นโครงการที่อยู่ในแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย และอินโดนีเซีย มีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ สปป. ลาว มีศักยภาพที่จะลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย ส่วนออสเตรเลียมีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
“บริษัทได้ทบทวนและกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยให้น้ำหนักกับการลงทุนประเภทกรีนฟิลด์เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 80% และ M&A สัดส่วน 20% จากเดิมมีสัดส่วนกรีนฟิลด์กับ M&A เท่าๆ กัน ที่ 50% เนื่องจากได้ทีมงานที่มีศักยภาพจาก สิงค์โปร์ ออสเตรเลีย เวียดนาม เข้ามา ทำให้มองโอกาสในการต่อยอด รวมทั้งยีลด์ของกรีนฟิลด์สูงกว่า M&A” นายนิทัศน์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ที่สามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพความสามารถของบริษัทที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต
ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) ในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม
รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular: SMR) ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 20-350 เมกะวัตต์ โดยได้ร่วมกับพันธมิตรทำการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้ หลังจากแผน PDP ฉบับร่าง ได้บรรจุโรงไฟฟ้า SMR ไว้ช่วงปลายแผนในปี 2580 เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าของไทย ขนาด 600 เมกะวัตต์
ดังนั้น บริษัทเชื่อมั่นว่าการดำเนินตามแนวทางแผนกลยุทธ์ที่วางไว้จะทำให้บริษัทเดินหน้าไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสามารถขยายธุรกิจสร้างการเติบโต ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2567 คาดว่ารายได้จะดีกว่าครึ่งปีแรก ที่มีรายได้รวม อยู่ที่ 22,351 ล้านบาท ตามการรับรู้รายได้จากโครงการที่มีกำหนด COD ในช่วงที่เหลือของปี 2567 อีก 40.03 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะสามารถปิดดีล M&A ซึ่งจะเป็นพลังงานทดแทนเป็นหลัก 5-6 ดีล ได้ภายในปีนี้ สนับสนุนกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในปี 2567 เพิ่มอีก 700 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายที่วางไว้
จากปัจจุบันบริษัทรับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน รวม 10,817.28 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 7,842.61 เมกะวัตต์ คิดเป็น 72.5% และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน รวม 2,974.67 เมกะวัตต์ คิดเป็น 27.5% โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทน เป็น 30% ได้ภายใน 2 ปีจากนี้ หรือในปี 2569 เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2573
ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 10,000 ล้านบาท หลักๆ ประมาณ 80% ใช้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 2 กำลังการผลิต 392.70 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนด COD ในปี 2568
นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า บริษัทสนใจเกี่ยวกับดาต้า เซ็นเตอร์ โดยปัจจุบันได้มีการเชิญผู้ลงทุนไปดูสถานที่ 2 แห่ง ในประเทศไทย อยู่ระหว่างรอทางผู้ลงทุนตัดสินใจ