posttoday

ถอดกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จ ทายาทรุ่น 2 อินเตอร์ลิ้งค์ กรุ๊ป

08 กันยายน 2567

เจาะกลยุทธ์ที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จ ของ “ณัฐนัย อนันตรัมพร” ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งอาณาจักรอินเตอร์ลิ้งค์ กรุ๊ป

“โพสต์ทูเดย์” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ณัฐนัย อนันตรัมพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ทายาทรุ่นที่ 2 ของ อินเตอร์ลิ้งค์ กรุ๊ป ซึ่งได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจว่า กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ ซี่งคุณพ่อ “สมบัติ อนันตรัมพร” เป็นคนสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2530 ในจุดเริ่มต้นทําธุรกิจซื้อมาขายไป คือ ซื้อสายสัญญาณ หรือสาย LAN มาแล้วก็ขายสาย LAN ให้กับลูกค้าทั่วไป เพื่อนำไปติดตั้งต่อ

ตนเองเข้ามาช่วยกิจการของ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ในปี 2554 เข้ามาทํางานในตำแหน่ง “ผู้จัดการทั่วไป” ก็มาช่วยคุณพ่อดูว่ามีโครงการขนาดใหญ่อะไรบ้างที่สามารถทําได้บ้าง พอเริ่มทําก็มองว่าบริษัทยังมีจุดที่ขยายได้ คือ การมีรายได้รายได้ประจํา หรือ Recurring จึงมีการคุยกันแล้วจัดตั้งบริษัท “อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม” ขึ้นมา เน้นในการทํา Recurring Business 

“อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม” ในวันแรกที่สร้างขึ้นมา มองว่าเราอยากจะสร้างธุรกิจที่เราเป็นโอเปอเรเตอร์ หรือเป็นผู้ให้บริการ เพราะรายได้จะได้มั่นคงซึ่งการจะเป็นผู้ให้บริการ จําเป็นที่จะต้องเริ่มจากการลงทุน จึงตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไฟเบอร์ออฟติกในเส้นทางรถไฟผสมกับเส้นทางถนน เพื่อให้มีความแตกต่างและเป็นจุดแข็งของบริษัทใช้เงินลงทุนไปทั้งหมด 1,800 ล้านบาท โดยในวันเริ่มต้น ILINK ช่วยสนับสนุนเงินต้น 300 ล้านบาท 

จากนั้นเมื่อบริษัทดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ต้องการจะขยายกิจการให้เติบโตมากขึ้น จึงผลักดัน “อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม” เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2559 ทำให้ในปัจจุบัน อินเตอร์ลิ้งค์ กรุ๊ป มี 2 บริษัท ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK และ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL 

ต่อมา ITEL ได้ย้ายเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2564 ด้วย 2 เหตุผลหลักๆ คือ 1.ขนาดของบริษัทใหญ่ขึ้น 2.กิจการที่ทําอยู่ เป็นกิจการที่อยู่ในเทรนด์ เราทําธุรกิจทางด้านการเชื่อมต่อข้อมูล ทําธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ ซึ่งมีหลายกองทุนอยากจะเข้ามาลงทุน มีต่างชาติหลายคนอยากเข้ามาเป็นลูกค้า แต่หนึ่งในจุดที่เขาอยากจะเห็นเป็นความมั่นใจของบริษัทเวลาเขาต้องใช้บริการ คือการที่อยู่ใน Main Stock Exchanges 

ด้านกลยุทธ์บริหารงานให้ประสบความสำเร็จ โดย กลยุทธ์แรก Give without Take คือการให้ก่อน การให้ในสิ่งที่เขาอยากได้จริงๆ แล้วกลับมาดูว่าเรามีอะไร พาร์ทเนอร์เรามีอะไร การทําแบบนี้ต่อมาจะเกิดเป็นแอคชั่นที่ทีมงานของบริษัททํา คือการ Customize หมายความว่า พอเราได้ความต้องการที่ลูกค้าต้องการจริงๆ แล้ว เราก็มาจัดสรรความต้องการนั้นให้เหมาะสม เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า

ข้อดี คือ 1.ลูกค้ารู้สึกว่าเราช่วยและเข้าใจกิจการของเขา 2.พาร์ทเนอร์ของเรา ก็รู้สึกว่าเราช่วยขายให้เขา เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะเป็นกลยุทธ์ที่ทําให้ลูกค้าและพาร์ทเนอร์มีความสุข ทำให้ช่วยกันผลักดันหรือปากต่อปาก บอกต่อทําให้ธุรกิจเติบโตขึ้น

กลยุทธ์ที่ 2 ให้ความสําคัญในเรื่องของ Flexibility คือ ความยืดหยุ่น เช่น ลูกค้าบอกว่าอยากจะเลื่อน 1-2 เดือน เราก็พยายามจะช่วยหรือเรายอมเลื่อนให้เขา หรือแม้กระทั่งในช่วงโควิด-19 ลูกค้าหลายรายอยู่ในห้าง ถ้าเราไม่ยืดหยุ่นเลย กิจการของเขาอาจจะไปต่อลําบาก อันนี้คือสิ่งที่เราทํา เพราะฉะนั้น Flexibility เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ให้ความสําคัญ และเป็นหนึ่งใน Key Success Factor ของบริษัท

ส่วนโอกาสการเติบโตของ ITEL ในธุรกิจโทรคมนาคมนั้น กิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่ค่อนข้างใหญ่และกว้าง จะมีทั้งเรื่องของอินเทอร์เน็ต โมบาย และดาต้า เซ็นเตอร์ ซึ่งคือธุรกิจหลักที่บริษัทดำเนินการอยู่ แต่โลกในอนาคต ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น กิจการการเชื่อมต่อหรืออุปกรณ์ที่จะใช้เชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตจะมากขึ้น จะทําให้ปริมาณข้อมูลในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น พอข้อมูลเริ่มส่งก็ต้องมีที่เก็บ คือ ดาต้า เซ็นเตอร์ เมื่อเริ่มเก็บแล้วถ้าไม่ทําลายทิ้ง หรือไม่ลบทิ้ง สะสมไปเรื่อยๆ มันจะใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้นความต้องการ ดาต้า เซ็นเตอร์ จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นผลพลอยได้จากข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้น 

ในแง่ของผลการดำเนินงานของ ITEL ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท ในปีแรก มีรายได้ 100 ล้านบาท และมีผลขาดทุน 20 ล้านบาท ปีที่ 2 มีรายได้ 200 ล้านบาท และเริ่มกําไรประมาณ 4 ล้านบาท จนกระทั่งในปี 2559 ที่ TIEL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai มีรายได้ประมาณ 700 ล้านบาท และมีกําไรประมาณ 70 ล้านบาท และในปี 2566 บริษัทมีรายได้ 2,500 ล้านบาท และมีกําไรประมาณ 251 ล้านบาท 

“ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน บริษัทมีรายได้เติบโตเฉลี่ยประมาณ 30-40% ต่อปี มาจากตลาดโดยรวม และปริมาณความต้องการหรือดีมานด์ของลูกค้าเติบโต ทําให้บริษัทสามารถที่จะขายได้มากขึ้น และขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น ส่วนกําไรเติบโตเฉลี่ยประมาณ 20-25% ต่อปี ในขณะที่อัตรากําไรสุทธิ (มาร์จิ้น) ก็เติบโตขึ้นเป็น 11% ในปีก่อน จากเดิมประมาณ 7-8% ซึ่งแปรผันตามกิจการที่เราทําขยายขึ้น ยิ่งพอเราเริ่มมีการ Value Added คือขายบริการใหม่ๆ บนโครงสร้างพื้นฐานเดิม ทําให้ต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้เยอะมาก มาร์จิ้นก็จะดีขึ้น”

สำหรับแผนธุรกิจและเป้าหมายการเติบโตของรายได้ปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตรายได้ปีนี้ 3,500 ล้านบาท ขณะที่กําไร วางเป้าหมายเติบโตประมาณ 10% หรือประมาณ 320-330 ล้านบาท หลักๆ มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.การเติบโตแบบ Organic ด้วยปริมาณลูกค้า ปริมาณข้อมูล และปริมาณงานต่างๆ ที่มีมากขึ้น 

2.บริษัทมีการไปลงทุนในบริษัทย่อย “บลู โซลูชั่น” (BLUE) จะมีการรวมงบการเงิน เมื่อบริษัทย่อยเติบโต ย่อมทําให้ ITEL เติบโตด้วย และ 3.กิจการใหม่หรือกิจการอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการเริ่มเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพ ด้าน Healthcare ที่มองว่ามี Potential เพราะมองว่าธุรกิจทางด้านสุขภาพ น่าจะมีบทบาทสําคัญ จึงไปซื้อกิจการ “โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส” (GLS) และต้องการสร้างให้เติบโต เมื่อ GLS เติบโตก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทําให้รายได้รวมของ ITEL เติบโตไปด้วย 

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนนำ “บลู โซลูชั่น” เข้าตลาดหุ้น หลังจากที่บริษัทให้บริการลูกค้า แต่ลูกค้ามีความต้องการทางด้านอุปกรณ์ หรือฮาร์ดแวร์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่บริษัทถนัด บริษัทจึงมองว่าพาร์ทเนอร์ที่ทําได้ดีในเรื่องของอุปกรณ์ และได้ไปเจอ “บลู โซลูชั่น” พอเริ่มทํางานด้วยกัน เริ่มขายบริการต่างๆ ให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ก็มองว่า “บลู โซลูชั่น” เป็นบริษัทที่ดี อยากจะได้เข้ามาอยู่ในพอร์ตของบริษัท เพื่อทําให้มันครบวงจรมากขึ้นในการให้บริการ 

จึงมีการเจรจาซื้อกิจการในปี 2565 โดยการแลกหุ้น ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ซึ่งในปีนั้นบริษัทมีกําไรประมาณ 30 ล้านบาท Valuation ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น คือประมาณ 10 เท่า หรือ 300 ล้านบาท ก็มองว่าหลังจากได้ “บลู โซลูชั่น” มาแล้ว ก็เริ่ม Cross Selling หรือขายข้ามกันมากขึ้น เกิด Synergy ในกิจการมากขึ้น กระทั่งในปี 2566 “บลู โซลูชั่น” มีกําไรประมาณ 72 ล้านบาท มองว่าถึงจังหวะเวลาที่ “บลู โซลูชั่น” จะต้องไปเติบโตด้วยตัวเอง จึงผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai 

ความคืบหน้าในการนำ “บลู โซลูชั่น” เข้าตลาดหุ้น ได้ผ่านขั้นตอนการยื่นไฟลิ่ง ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดําเนินการ และอัพเดทไฟลิ่ง จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการของการเรียกพบ Research กําหนดราคาต่างๆ และเปิดจองซื้อ คาดว่าแผนที่วางไว้ประมาณปลายเดือน ก.ย. ไม่เกินเดือน พ.ย.2567 น่าจะเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai 

ในส่วนของ Business Blueprint ของ ITEL เน้น “ทําวันนี้ให้ดีที่สุด” ในทุกๆ เรื่องที่ทํา เริ่มตั้งแต่แนวคิดในการออกมาจัดตั้ง ITEL การทําวันนี้ให้ดีที่สุด คือ บริษัทมีรายได้ที่ประจํา หรือ Recurring 

พอเราเริ่มมาจัดตั้ง ITEL ทําวันนี้ให้ดีที่สุด คือ ต้องการทําให้โครงข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนไปมีความแตกต่าง จึงเลือกลงทุนในเส้นทางรถไฟผสมกับเส้นทางถนน

เมื่อเริ่มขายบริการให้กับลูกค้า ทําวันนี้ให้ดีที่สุด คือ การเน้นทําอย่างไรจะเข้าใจ และช่วยลูกค้าได้มากที่สุด

และเมื่อส่งมอบบริการไปแล้ว ทําวันนี้ให้ดีที่สุด คือ การดูแลบริการของลูกค้าให้ดีที่สุด เพื่อหวังว่าเขาจะได้อยู่กับบริษัทระยะยาว

จากนั้นเมื่อไปซื้อกิจการ ทําวันนี้ให้ดีที่สุด คือ ซื้อกิจการมาแล้วทํากิจการให้ดี หวังว่าอนาคตจะเติบโต

สุดท้ายเวลาจะไปซื้อกิจการใหม่ๆ เข้ามา ทําวันนี้ให้ดีที่สุด คือ ต้องมีการพิจารณากิจการที่ดี กิจการที่สนใจ และอยากทํา เพราะถ้าไม่อยากทํา เมื่อไปซื้อมาก็จะไม่มี Passion ในการทํา 

“เพราะฉะนั้น Business Blueprint คือ ทําวันนี้ให้ดีที่สุด ในทุกๆ โอกาสที่เราสามารถทําได้ ก็จะเป็นคีย์หลักที่เราดําเนินการอยู่ในปัจจุบัน และเชื่อว่าจะเป็นคีย์หลักในการดําเนินการต่อในอนาคตเช่นกัน” 

ลิงก์เฟซบุ๊ก
https://www.facebook.com/share/v/94LBgfuYMhs2ZjQj/?

ลิงก์ยูทูป
https://www.youtube.com/watch?v=ZMuQq_fb7bc