SCB แต่งตั้ง "วิรไท สันติประภพ" นั่งกรรมการอิสระ
"เอสซีบี เอกซ์ (SCB)" ประกาศแต่งตั้ง "วิรไท สันติประภพ" อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ มีผลตั้งแต่ 17 กันยายน 2567
นางศิริบรรจง อุทโยภาศ เลขานุการบริษัท บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาและมีมติอนุมัติแต่งตั้ง "นายวิรไท สันติประภพ" ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย นั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายวิรไท สันติประภพ ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของบริษัท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
ประวัติ "วิรไท สันติประภพ"
อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า "ดร.วิรไท" ศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน สามารถสอบเทียบจากชั้น ม.4 ไปเรียนชั้น ม.6 และสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับเหรียญทองทางด้านวิชาการ 4 เหรียญ ด้านช่วยเหลือกิจกรรมดีอีก 1 เหรียญ ได้รับพระราชทานทุนภูมิพลตลอดระยะที่เวลาที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ในวัยเพียง 18 ปีเศษ จากนั้นได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ ด้วยวัยเพียงแค่ 24 ปี โดยได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่องการเปิดเสรีทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Financial Liberization in Southeast Asia) กับดไวต์ เพอร์คินส์
ในปี พ.ศ. 2562 ได้รับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
การทำงาน
เริ่มต้นการทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตันดีซี รับหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจและวิกฤตสถาบันการเงิน ที่ครอบคลุมประเทศในเอเชียอย่าง ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา และทำงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารกลางและการดำเนินนโยบายการเงินในมิติต่าง ๆ เมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ได้ลาพักจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลับมาเป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีบทบาทหลักในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินสำคัญ อาทิ มาตรการเพิ่มทุนสถาบันการเงินตามโครงการ 14 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2541 การจัดการสถาบันการเงินที่ถูกทางการแทรกแซง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการมิยะซะวะ รวมทั้งเจรจากต่อรองกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศจำกัด
ในระหว่างปี พ.ศ. 2543-2551 ร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ปฏิรูปองค์กรขนานใหญ่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 อย่างการบริหารสภาพคล่อง การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน การกำหนดนโยบายสินเชื่อ การบริหารเงินลงทุน การจัดการกลุ่มธุรกิจการเงินผ่านบริษัทลูก ๆ ของธนาคาร และยังดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการบริหารความเสี่ยง ของบริษัททุนธนชาต
ในระหว่างปี พ.ศ. 2552-2556 ร่วมงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ปฏิรูปองค์กร โดยดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ได้ทำแผนพัฒนาตลาดทุนของประเทศ พัฒนางานวิจัยด้านตลาดทุนเชิงลึก ผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับการยอมรับในเวทีตลาดทุนโลกหลายเวที และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน
ธุรกิจอื่น เป็นกรรมการและกรรมการตรวจสอบของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กรรมการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และกรรมการของบริษัทอักษรเอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
ดร.วิรไท ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 20 สืบต่อจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558