คำต่อคำ: ผ่าอนาคต"การบินไทย"กับแผนทวงคืนเบอร์หนึ่งสายการบิน
"การบินไทย (THAI)" บินไกลกว่าเดิม เร่งเกมแปลงหนี้เป็นทุนตามแผน-ล้างขาดทุนสะสม-จ่ายปันผล พร้อมเคาะราคาหุ้นชัดเจนในสัปดาห์หน้า ชี้ราคาต้องยุติธรรม ก่อนกลับมาเทรดตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/2568
วันนี้ที่รอคอย!!
ใครจะเชื่อว่า "บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI" ที่มีอายุกว่า 60 ปี ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2503 ที่สำคัญเป็นสายการบินที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ กลับต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ จากวันนั้นจนวันนี้ใช้เวลากว่า 3 ปี ด้วยการเร่งปรับโครงสร้าง ลดต้นทุน ขายทรัพย์สินช่วยให้ผ่านวิกฤติต่างๆมาได้
ในวันนี้เข้าสู่กระบวนการออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังจากบรรลุเป้าหมายของแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่ ก.ค.2566 ถึง มิ.ย.2567 อยู่ที่ 29,292 ล้านบาท สูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง และ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัด
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า หลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามที่แผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และ นำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในไตรมาส 2/2568
และเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 การบินไทยยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี เพื่อขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์)จากปัจจุบันที่หุ้นละ 10 บาท เพื่อนำมาล้างขาดทุนสะสม ที่มีอยู่ราว 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 8 พ.ย.2567นี้ หากเจ้าหนี้เห็นชอบอนุมัติให้ลดพาร์ก็จะดำเนินการในเดือน ก.พ.2568 หลังงบปี 2567 ออกและเพิ่มทุนเสร็จสิ้นรองรับแผนนำหุ้นกลับมาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯและจะกลับมาจ่ายเงินปันผลได้
"เรื่องราคาหุ้นที่จะกลับมาเทรดนั้นตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของทางที่ปรึกษาการเงิน ซึ่งก็ต้องเป็นราคาที่ตั้งอยู่บนความยุติธรรม"
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลใน SETSMART พบว่า ราคาหุ้น THAI ปิดการซื้อขายครั้งสุดท้ายในวันที่ 17 พ.ค.2564 อยู่ที่ 3.32 บาท โดยมีปริมาณซื้อขายแบบ AOM จำนวน 153,957.60 พันหุ้น มูลค่าซื้อขายแบบ AOM ที่ 491.85 ล้านบาท
อนาคต THAI
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้แตะระดับ 180,000 ล้านบาท จากที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ทำได้ 90,000 ล้านบาท ด้วยในช่วงครึ่งปีหลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นธุรกิจ
รายได้ประจำของ "การบินไทย" คือ "ธุรกิจการบิน" แต่ที่มีรายการพิเศษเข้ามาก็มาจากการขายทรัพย์สินที่รับรู้เข้ามาเพียงครั้งเดียวราว 10,000 ล้านบาท แต่ตอนนั้นเราปรับโครงสร้างและต้องจ่ายชดเชยให้กับพนักงานที่จำเป็นต้องจากองค์กรนี้ไป และวันนั้นถ้าเราไม่ทำแบบนั้นเราก็ไม่สามารถจะเดินอย่างวันนี้ได้ เพราะเราไม่มีเงินที่จะไปจ่ายชดเชยให้พนักงานที่เสียสละจะไม่รับในวันนั้น ซึ่งพนักงานก็รับความเสี่ยงเช่นกัน
"ผมก็ไม่รู้หรอกว่า"การบินไทย"จะเดินมาถึงวันนี้หรือไม่ พนักงานก็แบกรับความเสี่ยงไว้ แต่วันนี้ทุกอย่างผ่านพ้นและจบไปแล้ว วันนี้เรามาเริ่มใหม่ ดังนั้นรายได้จากรายการพิเศษอย่างมีนัยยะสำคัญไม่มีแล้ว แต่อาจจะมีเพียงเล็กน้อยในการขายเครื่องยนต์หรือขายรถที่ไม่ใช้งานบางส่วนถือเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่มีสาระสำคัญ"
อย่างไรก็ดี แผนจากนี้คือ เดินหน้าเพิ่มจำนวนเครื่องบินจากนี้จนถึงปี 2572 แตะ 143 ลำ ส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 27% ซึ่งตามจริงต้องชิงแชร์ความเป็นสายการบินเจ้าบ้านมากกว่า 50% ส่วนในปี 2576 จำนวนเครื่องบินจะแตะระดับ 150 ลำ ซึ่งในปี 2567 นี้ มีเครื่องบินรวม 79 ลำ จากปัจจุบันมีอยู่ 77 ลำ พร้อมอัพเกรดสายการบิน การบริการ และเพิ่มช่องทางการขายตรงของบริษัท มากกว่าผ่านเอเจ้นท์หรือตัวแทนจำหน่ายต่างๆ พร้อมกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อตอบโจทย์ยุคปัจจุบัน
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า "คนชอบพูดเยอะมากว่าฟื้นฟูฯครั้งนี้ใครๆก็ทำได้เพราะมาจากการขายทรัพย์สินถึงได้เงินเยอะแยะ วันนี้เรามีเงินสด 82,000 ล้านบาท โดย 10,000 ล้านบาทมาจากการขายทรัพย์สินที่ไม่มีความจำเป็น และอีก 70,000 ล้านบาทที่อยู่ในบัญชีมาจากการประกอบการธุรกิจการบินและธุรกิจอื่นๆของบริษัท"
เงินบาทแข็งค่าเร็วส่งผลต่อ "การบินไทย" มากน้อยแค่ไหน ?
นายชาย กล่าวว่า จากตัวเลขในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา "การบินไทย" ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 6,000 ล้านบาท ซึ่งในอดีตถามว่ามีผลกระทบหรือไม่ ยอมรับว่ามีแต่น้อยมาก เพราะที่ผ่านมา "การบินไทย" ทำ FX Exchange บริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไว้ในอดีต
แต่พอเข้าแผนฟื้นฟูฯเราโดนบังคับให้ปิดสัญญาเหล่านั้นออกทั้งสิ้น เนื่องจากสถานะภาพของบริษัทไม่ได้อยู่ในสถานะภาพที่คู่ค้ารับได้ โดนบังคับด้วยกฎหมาย แต่ปัจจุบันทางผู้บริหารแผนฯได้มีนโยบายให้บริษัทเข้าไปบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้แต่เราทำไปแล้ว เพราะอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่ไม่ได้เกิดจากผลประกอบการ แต่มีผลต่อกำไรสุทธิของบริษัท
แผนลดต้นทุนและเพิ่มสัดส่วนการตลาด ?
นายชาย กล่าวว่า เราลดต้นทุนตั้งแต่ช่วงเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยต้นทุนหลักของงานบริหาร คือ "บุคลากร" และอีกตัวอย่าง คือ ต้นทุนทางด้านการตลาด ต้นทุนการขายที่ลดน้อยลง ด้วยการเน้นขายตรงของบริษัทมากขึ้น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการบริการที่เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น User friendly ลดสัดส่วนการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายอื่นๆ
ถามว่าในอนาคตจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะสามารถคงสภาพการแข่งขันทางด้านต้นทุนได้ ในระยะยาวส่วนตัวตอบได้ว่าตอนนี้เราวางรากฐานโพรดักส์ เซอร์วิส เราวางรากฐานระบบไว้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งในระยะยาวอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อความยุติธรรมกับท่านผู้วางแผน และทีมบริหารชุดนี้ ผมคงตอบไม่ได้เพราะไกลเกินไปที่จะตอบ เป็นหน้าที่ของผู้ถือหุ้น และ คณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลบริษัทให้อยู่รอดปลอดภัยเหมือนกับปัจจุบันนี้ต่อไป พวกเราต้องคอยเฝ้าดู คอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท
ส่วนเรื่องสัดส่วนการตลาด ด้วยความที่ยื่นไฟลิ่งไปแล้วอาจจะลงลึกในรายละเอียดไม่ได้ แต่ตัวเลขคราวๆคือเราจะพยายามทำให้ใกล้เคียงกับในอดีตที่ผ่านมา
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า มันจะเป็นครั้งแรกที่ส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยจะค่อยๆเพิ่มขึ้นใน 10 ปีข้างหน้าหลังจากที่เราลดมาโดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่อีก 10 ปีจากตัวเลขถือว่ายังต่ำกว่ามากกับช่วงที่ผมยังเป็นดีดีการบินไทย เพราะว่าตลาดโตขึ้นเยอะมาก แต่ "การบินไทย" ไม่ได้โตนำ
การแทรกแซงจากนโยบายรัฐบาลจะไม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ?
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นอย่างกระทรวงการคลัง , เจ้าหนี้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน สถาบันการเงิน หุ้นกู้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน ฯลฯ ที่จะต้องเลือกกรรมการที่ดีเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ในลักษณะที่คล้ายกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อย่าให้มันกลับไปเป็นอย่างเดิม เพราะสมัยก่อนต้องยอมรับว่ามันมีการลดระเบียบปฎิบัติเยอะแยะของภาครัฐต้องปฏบัติตามขั้นตอนการขออนุมัติต่างๆ การตัดสินใจทำได้ช้า
และมีการแทรกแซงที่ปฏิเสธไม่ได้เลย มีการแทรกแซงโดยการโยกย้าย แต่งตั้งในโอกาสต่างๆ แต่ "การบินไทย" เป็นบริษัทที่แข่งขันสูงมาก ดังนั้นหากได้คนไม่ดีขึ้นมาบริหาร บริษัทไปไม่ได้แน่ ไปสู้กับคู่แข่งอื่นๆไม่ได้ แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อื่นที่รัฐถือหุ้นอาจมีการแทรกแซงบ้างหรืออาจจะให้คนไม่ดีขึ้นมาบริหารได้บ้าง เพราะเขามีกิจการที่ผูกขาด แต่ "การบินไทย" ไม่มีผูกขาดเลย โดยเฉพาะภายใต้นโยบายของรัฐที่เป็นน่านฟ้าเสรีมาเป็นเวลากว่า 20 ปี
ผลกระทบความรุนแรงด้านภูมิรัฐศาสตร์มีผลต่อ THAI หรือไม่ ?
นายชาย กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปัจจุบันนี้การบินไทยไม่มีเที่ยวบินเข้าตะวันออกกลางเลยแม้แต่ไฟรท์เดียว มีใกล้เคียงที่สุดคือปากีสถาน , ตุรกี และบินข้ามไปยุโรป แม้กระทั่งสงครามย่อยระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตลในช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีผลกระทบบ้างเล็กน้อยในช่วงแรกในเรื่องความมั่นใจของผู้โดยสาร แต่หลังจากนั้นพอเหตุการณ์เริ่มคงที่และผ่อนคลายลงก็ไม่มีผลต่อการเดินทาง สถานการณ์ในครั้งนี้ก็เช่นกัน การบินไทยไม่ได้บินไปตะวันออกกลางแต่บินข้ามไปบนความสูงกว่า 30,000 ฟุต ดังนั้นผมจึงคิดว่าไม่มีผลต่อเที่ยวบินและความมั่นใจของผู้โดยสาร
โอกาสที่ THAI กลับมาคงสถานะรัฐวิสาหกิจ ?
นายพรชัย ฐีระเวช คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความกังวลว่าการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นของ "การบินไทย" จะทำให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งนั้น จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างทุนได้แสดงเจตจำนงค์ในการแปลงหนี้เป็นทุน ขึ้นอยู่ว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 นั่นก็คือกระทรวงการคลังถูกบังคับให้แปลงหนี้ 100% ท้ายที่สุดเมื่อสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและกองทุนรวมวายุภักษ์ เมื่อเปรียบเททียบกับกลุ่มผู้ถือหุ้นอื่นๆซึ่งมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว สัดส่วนเจ้าหนี้อื่นจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น "โอกาสที่การบินไทยจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจโดยโครงสร้างต่างๆน่าจะเป็นไปได้ยาก"
"หลังจากที่ "การบินไทย"ออกจากแผนฟื้นฟูฯถ้าตามโครงสร้างการถือหุ้นที่ได้พูดคุยกัน "การบินไทย"จะเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งจะอยู่ในระดับเดียวกับสายการบินอื่น มาตรการเรื่องของการดูแลไม่แตกต่างกัน และตามที่คุณชายได้ฉายภาพคือ ต่อไป "การบินไทย" จะเป็นจ้าวบ้านมีสัดส่วน 40-50% สะท้อนให้เห็นว่าเราจะเข้าสู่เวิลด์ไวด์สแตนดาร์ด ดังนั้นโอกาสที่เราจะเป็นในเรื่องของแต้มต่อจะไม่มี แต่เราจะแข่งกับ เวิล์ดคลาส สแตนดาร์ด ดังนั้นผมว่าลืมเรื่องเก่าๆดีกว่า"
คลังมีนโยบายขายหุ้นในพอร์ต มีโอกาสขายหุ้น THAI หรือไม่ ?
นายพรชัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะผมอยู่ "สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)" ไม่ได้อยู่ "สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)" ถ้าเกิดเป็นเรื่องของ สคร.น่าจะมีการหารือร่วมกับผู้ที่ดูแลนโยบายนี้โดยตรง ผมไม่แน่ใจเรื่องนี้ ขออนุญาติไม่ตอบคำถามนี้เพราะไม่ทราบจริงๆ
แผนปรับโครงสร้างทุน
นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ บริษัทต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือ กระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100% ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50% ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด
นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ได้ในสัดส่วนที่ต้องการแต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้ตามแผนฯ ของตน
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และ เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของมูลหนี้เท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น และ เพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
"หลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายสามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นที่ตนถูกห้ามขาย"
สำหรับกระบวนการถัดไปในเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 59.01% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ก่อนการปรับโครงสร้างทุน (โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) พนักงานของการบินไทย และ บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรแต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น
โดยได้มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 และ คาดว่า จะมีการออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรม โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2567 ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 และ เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป