posttoday

IROYAL เคาะราคาไอพีโอ 6.50 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 24-25, 28 ต.ค. เทรด mai พ.ย.นี้

18 ตุลาคม 2567

“อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง” หรือ เคาะราคาขายหุ้นไอพีโอ 6.50 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 24-25 และ 28 ต.ค.นี้ คาดเทรด mai ภายใน พ.ย.นี้ วาง 7 กลยุทธ์สร้างการเติบโต ขยายโมเดลธุรกิจที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า พร้อมขยายไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ

          นางสาวนลิน วิริยะเสถียร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า บรัษัท อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ IROYAL ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 6.50 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) เท่ากับ 15.83 เท่า 

          ราคาดังกล่าวถือเป็นราคาที่เหมาะสมที่สะท้อนความแข็งแกร่งในการดำเนินงานของบริษัท และศักยภาพการเติบโตในการเป็นผู้นำธุรกิจด้านโซลูชั่นพลังงานไฟฟ้า และพร้อมขยายการให้บริการการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่ 24-25 และ 28 ต.ค.2567 คาดว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนและซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในเดือน พ.ย.2567 

          ทั้งนี้ IROYAL มีทุนจดทะเบียน 115 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 86 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 230 ล้านหุ้น โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 58 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็นไม่เกิน 25.22% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ 

          โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการประมูล และค้ำประกันผลงาน งานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายการรับงานของบริษัทในอนาคต และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

          นายภณภัทร เมฆาสุวรรณดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IROYAL กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งนับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรับโอกาสทางธุรกิจ และมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และระบบวิศวกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ที่จะสร้างความมั่นคง และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้า พร้อมด้วยการขยายไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก โดยมุ่งขับเคลื่อนไปสู่ธุรกิจที่สร้างความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ 

          ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 4 ราย เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ IROYAL ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

          นายภณภัทร กล่าวว่า บริษัทวางแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต ผ่าน 7 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. การขายโดยมุ่งเน้นการได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ให้บริการและการรับงานตรงจากลูกค้า โดยบริษัทให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการคัดสรรผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทจากผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ สำหรับการให้บริการ กลุ่มบริษัทให้บริการผ่านทีมงานขายที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทมีการประเมินความเสี่ยงของโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถส่งมอบงานได้ตามคุณภาพ ความถูกต้องครบถ้วนตามขอบเขตงาน และระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด 

          2. เป็น One Stop Service ด้านการบริการจัดหาอุปกรณ์และโซลูชั่นในโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ บริษัทให้ความสำคัญกับการสร้าง และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในการให้บริการรอบด้านและการตระหนักถึงการบริการที่จะสร้างประโยชน์แก่ลูกค้าอย่างยั่งยืนมากกว่าแค่การให้บริการทั่วไป 

          3. สร้างพันธมิตรทางธุรกิจเป็น Sole Distributors และ Exclusive dealers เนื่องจากผู้ผลิตเปรียบเสมือนหุ้นส่วนที่ต้องทำงานร่วมกันในระยะยาว โดยการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้ผลิต เน้นการสร้างความไว้วางใจ ให้คุณค่าต่อกัน 

          4. พัฒนาศักยภาพของบุคลากรทุกส่วนงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อธำรงไว้ซึ่งทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า 

          5. บริหารจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทไม่มีนโยบายในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ล่วงหน้า และไม่มีผลิตภัณฑ์รอจำหน่าย โดยให้ความสำคัญตลอดกระบวนการจัดหาและติดตั้ง เพื่อการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ 

          6. ด้านความยั่งยืน โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรเพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างคุณค่าด้านเศรษฐกิจ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในองค์กร และสังคม 

          7. สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน พร้อมต่อยอดการดำเนินธุรกิจให้บริการแบบครบวงจร  

          นางสาวประภาพรรณ ประภัทรโพธิพงศ์ กรรมการบริษัท IROYAL กล่าวว่า บริษัทถือเป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม เพื่อจัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยมีความเชี่ยวชาญในการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนานมากกว่า 40 ปี รวมถึงมีการบริหารสินค้าคงคลังในส่วนที่กลุ่มบริษัทจัดหาและจำหน่าย นอกจากนี้ มีบริษัทย่อยภายใต้ชื่อ บริษัท ซีนิท เพาเวอร์ ซิสเต็ม จำกัด (ZENITH) โดยถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับทิศทางของกลุ่มบริษัท 

          โดยบริษัทได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของตราผลิตภัณฑ์ชั้นนำในต่างประเทศ แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบต่างๆ มากกว่า 22 ตราผลิตภัณฑ์ จนเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มลูกค้าภาครัฐและเอกชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ IROYAL ให้บริการจัดหาและจำหน่ายจะเน้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนกระบวนการผลิตหรือการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงสามารถลดผลกระทบหรือแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ โดยปัจจุบันแบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

          1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบเผาไหม้ (Combustion System) เช่น อุปกรณ์กำจัดเขม่าควัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ จะมีอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนในระบบเผาไหม้ ทำหน้าที่ถ่ายเทความร้อนเพื่อเพิ่มพลังความร้อนที่ใช้ในระบบเผาไหม้ สามารถใช้ได้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงงานปิโตรเคมี 

          2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบจัดการของเสีย และไอเสีย (Flue Gas Management System) เช่น ระบบระบายอากาศ และพัดลมอุตสาหกรรม, อุปกรณ์ดักจับฝุ่นละอองชนิดไฟฟ้าสถิต อุปกรณ์ดักจับละอองน้ำ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบจัดการของเสียและไอเสียสามารถใช้ได้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ เป็นต้น

          3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger System) เช่น แผงระบายความร้อน ซึ่งอยู่ในหอหล่อเย็นที่ทำหน้าที่ลดอุณหภูมิน้ำและวนกลับไปใช้ในโรงงานหรือระบบต่างๆ เป็นต้น

          4. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบน้ำ เช่น เครื่องกรองอนุภาคระดับไมครอนในน้ำดิบปั๊มน้ำอุตสาหกรรม เป็นต้น และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน เช่น เครื่องสำรองไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่สามารถใช้ในกลุ่มโรงแรม อาคารขนาดใหญ่ อาคารโรงพยาบาล หรือศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่

          ขณะที่กลุ่มลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการทำงานของอุปกรณ์ เครื่องจักรตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมย่อมมีการเสื่อมสภาพลงตามการใช้งาน โดยบริษัทจะเข้าศึกษาระบบและอุปกรณ์ของลูกค้า เพื่อพิจารณาว่าระบบของลูกค้าเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ชนิดใด 

          แบ่งการให้บริการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. การให้บริการเชิงบำรุงรักษา เป็นการนำเสนออุปกรณ์ชนิดเดิมที่ลูกค้าใช้อยู่แล้ว โดยหากเป็นตราผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเป็นตัวแทน บริษัทจะจัดหาอุปกรณ์ชนิดเดิมและให้บริการติดตั้งตามรอบอายุการใช้งานเพื่อบำรุงรักษาและป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต 

          และ 2. การให้บริการเชิงพัฒนา เป็นการนำเสนออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์เดิม หรือนำเสนออุปกรณ์เสริมเพื่อติดตั้งเพิ่มเติมควบคู่กับอุปกรณ์เดิม รวมถึงการให้คำปรึกษา และร่วมกันพัฒนา ออกแบบ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในกระบวนการผลิต

        นายนฤดล รัศมี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน IROYAL กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) บริษัทมีรายได้รวม 196.78 ล้านบาท 116.98 ล้านบาท และ 280.38 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีกำไรสุทธิ 35.36 ล้านบาท 27.94 ล้านบาท และ 72.22 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 17.97%, 23.88% และ 25.76% ตามลำดับ 

          ส่วนผลการดำเนินงานในงวดครึ่งแรกปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 118.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 110.38 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 44.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 99.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 22.42 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิ 37.77% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 20.32% 

            นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ของ IROYAL ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินงาน และฐานะการเงินเพื่อรองรับการเติบโต พร้อมด้วยจุดเด่นที่สำคัญคือ ผู้บริหารเป็นผู้มีความรู้ และประสบการณ์ในธุรกิจมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี รวมถึงไม่มีคู่แข่งทางตรงที่ทำธุรกิจเหมือนกับกลุ่มบริษัท 

          โดยบริษัทสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ และบริการให้กับลูกค้าได้หลากหลายประเภทอย่างครบวงจร ขณะที่ผู้ให้บริการจัดหา และให้บริการรายอื่นจะเน้นให้บริการจัดหาผลิตภัณฑ์ประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่สำหรับ IROYAL มุ่งเน้นการจัดหาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงจากผู้ผลิตที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญในการผลิต โดยอาศัยเทคนิคเฉพาะทาง ประสบการณ์ และความน่าเชื่อถือ การส่งมอบตรงเวลา การบริการหลังการขายและราคาที่เหมาะสม