"อัสสเดช" พร้อมปราบบอสปั่นหุ้น ฟื้นเชื่อมั่น ดันหุ้นไทยสู่ไฟแนนเชียลฮับ
คำต่อคำ : ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 "อัสสเดช คงสิริ" ย้ำจุดยืนตลาดหุ้นไทยต้องไร้หุ้นโกง-ไซฟ่อน เดินหน้าใช้ AI กรองข้อมูลปิดช่องโหว่บิ๊กบอสตัวร้าย ฟื้นเชื่อมั่น พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกสร้างความเท่าเทียมนักลงทุน กางโรดแมพหุ้นไทยก้าวสู่ "ไฟแนนเชียลฮับ"
"ตลอดการทำงานในช่วง 1 เดือนที่ผ่านในฐานะผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆมากมาย สิ่งหนึ่งที่ชัดคือยอมรับว่าทีมกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯขยันอย่างมาก ดังนั้นหากถามว่าหุ้นปั่น หุ้นโกง เคสต่างๆในอดีตจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ตอบได้เลยว่าเป้าหมายของผม คือ ต้องเท่ากับศูนย์ ต้องไม่เท่ากับหนึ่ง นั่นหมายความว่า "ต้องไม่มี"
หากแต่ในโลกความเป็นจริงต้องรับรู้ก่อนว่าจะป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน และบุคคลภายนอกมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯจะป้องกันให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาจะเห็นกฎเกณฑ์ต่างๆออกมาค่อนข้างเยอะ อย่าง Dynamic Price Band (DPB) เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้หุ้นหวือหวา หุ้นที่ปรับขึ้นแรง หรือหุ้นปั่นน่าจะทำได้ยากขึ้น หรือกรณีที่เราเห็นราคาหุ้นวิ่งขึ้นแรง ตลท.ชี้ไปที่บริษัทจดทะเบียนให้ออกมาชี้แจงและให้ข้อมูลทันที
ขณะที่การตกแต่งบัญชี , การไซฟ่อนเงินต่างๆที่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดทุนหายไปนั้น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต.ริเริ่มเรื่อง“แนวทางการป้องกัน 3 ชั้น (Three Lines of Defense)”เพื่อเรียกเชื่อมั่นกลับคืนมาซึ่งทาง ตลท.ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะการป้องกันที่ดีที่สุดต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น "นักลงทุน" หากมีข้อมูลหรือรู้เห็นอะไรสามารถชี้เบาะแสได้ "บริษัทจดทะเบียน" ต้องป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากเรื่องที่ไม่ดีเช่นกัน เราเข้าใจว่ามีกฎเกณฑ์ข้อบังคับทั้งหมดแต่การจะปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไม่ทำเรื่องพวกนี้ในอนาคตเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน"
"อัสสเดช คงสิริ" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 14 กล่าวยืนยันกับ "โพสต์ทูเดย์" พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุดังในอดีตว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯจะไม่หยุดพัฒนาเรื่องข้อมูล เพราะหากย้อนกลับไปในกรณีของเคสใหญ่ๆที่เคยเกิดขึ้น หากดูข้อมูลเชิงลึก แท้จริงต้องเห็นข้อมูลก่อนหรือไม่ ขั้นตอนการสอบถาม มีข้อสงสัย ขอข้อมูลเพิ่มเติมทางผู้บริหารต้องชี้แจงได้ อาจไม่ได้ล้วงลึกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อผู้บริหาร
อย่างกรณีตกแต่งบัญชี ตามจริงแล้วควรเห็นข้อมูลข้อเท็จจริงเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่งว่าทำไมทำธุรกิจเหมือนกันแต่ผลกำไรถึงแตกต่างกัน แต่กลับไม่มีการตั้งข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์ฯ , นักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญ , นักลงทุน , สถาบันการลงทุนชั้นนำต่างๆ กลับไม่มีการตั้งข้อสังเกตุใดๆ
นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดบ้านในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเรื่องข้อมูลการวิเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้เร็วขึ้นได้ ลดขั้นตอนการนำส่งข้อมูลทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนให้เร็วขึ้น จากที่ต้องนำส่งงบให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ , กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งอาจจะรวมข้อมูลต่างๆไว้ที่ศูนย์รวมข้อมูลเพียงจุดเดียวจะช่วยร่นระยะเวลาของบริษัทจดทะเบียนได้ ในทางกลับกันหากเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่ฝ่ายกำกับเอามาใช้หรือให้ AI ช่วยวิเคราะห์ความเชื่อมโยงได้เร็วขึ้นน่าจะช่วยจับสังเกตุเรื่องต่างๆได้เร็วขึ้น
ทำทันที!!
ดังนั้นแผนการทำงานในช่วงระยะสั้น ที่เรียกได้ว่าสามารถ "ทำทันที" ข้อแรก ก็คือ การเพิ่ม “Value Up” บริษัทจดทะเบียน ผลักดันบริษัทที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ให้เติบโตขึ้นพร้อมดึงบริษัทใหม่เข้ามาเทรด
ข้อสอง คือ การต่อยอดใช้เทคโนโลยี AI ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด ทันทีที่ตรวจพบความเชื่อมโยงที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายก็จะดำเนินการในทันที
ข้อสาม คือ การพัฒนาสินค้าใหม่ๆเพื่อความหลากหลายและรองรับความต้องการนักลงทุน
และ ข้อสี่ คือ เดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดทุน ซึ่งแผนฟื้นความเชื่อมั่นที่ดีคือต้องไม่เกิดกรณีหุ้นปั่นหุ้นโกงการตกแต่งบัญชีนับจากนี้ในอีกหลายปีข้างหน้า หากไม่เกิดขึ้นอีกเชื่อว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา ซึ่งตอนนี้มองว่าเริ่มฟื้นมาเกือบ 100% แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เกิดขึ้นหากดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารหรือตอบสนองในทันทีย่อมดีกว่า และตลาดหลักทรัพย์ฯในฐานะต้นน้ำของข้อมูลต้องหาทางร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้สามารถร่นระยะเวลาหรือลดขั้นตอนการทำงานให้กระชับขึ้น ความรวดเร็วในการสื่อสารมากขึ้น
"ความท้าทายของผม ตามหลักการที่ได้นำเสนอตั้งแต่วันแรกที่สมัครเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จวบจนวันนี้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นยังเหมือนเดิม นั่นก็คือ "ทำเพื่อส่วนรวม และ สร้างความเท่าเทียม" ซึ่งคำว่า "ความเท่าเทียม" ที่ว่านั้นหมายความว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงตลาดทุนไทยได้ เข้าถึงข้อมูลและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่มีคุณภาพได้เหมือนกัน"
ถามว่า อนาคตตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเฉิดฉายเหมือนตลาดหุ้นสหรัฐฯได้หรือไม่ ?
นี่คือแผนระยะยาวที่กำลังคิดอยู่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นศูนย์รวมการระดมทุนให้กับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไหน หรือจะมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมใด เพราะในเมืองไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในทวีปที่เป็นศูนย์รวมดีหรือไม่ นี่คือสิ่งที่วิเคราะห์กันอยู่
อีกทั้งยังวางแผนว่านอกจากตลาดหลักทรัพย์ฯจะให้การสนับสนุนแล้ว ทางองค์กรรัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องจะช่วยดึงเข้ามาทําเป็นแผนภาพรวมให้กับประเทศชาติได้อย่างไร จากที่ประชุมกันมาสิ่งหนึ่งที่พยายามสนับสนุนเต็มที่ก็คือ "ไฟแนนซ์เชียลฮับ" ของกระทรวงการคลัง ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นคือ "ความตั้งใจเรามีชัดเจน" และด้วยเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯต้องสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งภาพจะเห็นชัดเจนในการแถลงแผนของตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้