เปิดคำร้องฝากขัง ภรรยา-ลูก หมอบุญ ร่วมฉ้อโกงหมื่นล้าน ค้านประกัน
ตำรวจคุมตัว จารุวรรณ - นลิน ภรรยาและลูกสาว หมอบุญ ฝากขังคดีร่วมกันฉ้องโกง มูลค่าความเสียหายหมื่นล้าน พฤติการณ์ตามคำร้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อค้ำประกันอาวัลเช็คในสัญญาหุ้น THG พร้อมคัดค้านประกันตัวเกรงจะหลบหนี
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ต.คณัสนันท์ งามสง่า พนักงานสอบสวนสน.ห้วยขวาง คุมตัว น.ส.จารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี และ น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี ภรรยาและลูกสาวของ นพ.บุญ วนาสิน ผู้ต้องหา ในคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการหลอกลวงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,43 วรรคแรก พรก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4,5,16
พฤติการณ์ตามคำร้องฝากขัง
นพ.บุญ ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงพยาบาล.ในนามบริษัทธนบุรีแฮลแคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) เป็นผู้ถือหุ้นของTHG เผยแพร่ชื่อเสียงของตนเอง ผ่านสื่อต่างๆ ถึงความสำเร็จทางธุรกิจในฐานะผู้บริหาร ระดับสูงและได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในวงการ ธุรกิจต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารกิจการโรงพยาบาล และการพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าสูงหลายโครงการต่างๆ ซึ่งไม่มีอยู่จริงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ นักลงทุนทั่วไป ได้ชักชวนให้ผู้เสียหายหลายรายร่วมลงทุน โดยผ่านตัวแทน โบรกเกอร์ในรูปแบบต่างๆ เช่น
1.กู้ยืมเงินโดยไม่มีหลักประกัน (CLEAN LOAN) โดยนพ.บุญออกเช็คชำระหนี้ และให้บุคคลในครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดเป็นผู้อาวัลเช็ค และผู้ค้ำประกัน (กู้แบบไม่มีหลักค้ำประกัน) ให้ผลตอบแทนประมาณ .5 -15 % ต่อปี
2. กู้ยืมเงินโดยอ้างว่าจะนำหุ้น บริษัท ธนบุรีแฮลแคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) THG มามอบให้ผู้ให้กู้ (โอนหุ้นให้ผู้ให้กู้) ให้
ผลตอบแทนประมาณ 7. – 12 % ต่อปี
3. กู้ยืมเงินโดยอ้างว่าจะนำหุ้น หรือเช็คมาค้ำประกัน (จำนำหุ้น) ให้ผลตอบแทนประมาณ 7.0 - 12 % ต่อปี
4. กู้ยืมเงินโดยมีบุคคล หรือนิติบุคคลมาค้ำประกัน ให้ผลตอบแทนประมาณ 8.5 - 15 % ต่อปี
5.กู้ยืมเงินโดยนำใบหุ้นสามัญของ THG มาค้ำประกัน มอบให้ผู้ให้กู้ถือครองไว้ ให้ผลตอบแทนประมาณ .0 - 12 % ต่อปี
7.ร่วมลงทุนหุ้น IPO (หุ้นที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์) โดยอ้างว่าจะมอบหุ้นของบริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด ให้ผู้ให้กู้ให้ผลตอบแทนประมาณ 5.0 -8.0 % ต่อปี สำหรับแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (CLEAN LOAN)
โดยการเชิญชวนจะมีบุคคลในครอบครัวของนพ.บุญ เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกัน และลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค (อาวัล) เช่น น.ส.จารุวรรณ ภรรยานพ.บุญ นางณวรา อดีตลูกสะใภ้ของนพ.บุญ เป็นผู้ค้ำประกัน โดยแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่ารูปแบบที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สัญญากู้ยืมในแต่ละรายจะแตกต่างกัน มีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนใหญ่จะมีกำหนด 6 เดือน โดยตัวแทน หรือผู้ชักชวน จะได้ค่าตอบแทนประมาณ ร้อยละ 2 จากยอดกู้ ต่อการทำสัญญาหนึ่งครั้ง
โดยขั้นตอนในการลงทุน มีตัวแทนของนพ.บุญ นำเสนอการลงทุนในโครงการต่างๆ ร่วมลงทุนแบบให้กู้ โดยในการลงทุนครั้งแรก ตัวแทนจะไปพบหรือติดต่อนักลงทุน แนะนำ โน้มน้าว ให้ผู้ลงทุนในลักษณะที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากได้ค่าตอบแทนสูงกว่า รูปแบบอื่นๆ เมื่อผู้ลงทุนตกลงที่จะลงทุน
ตัวแทนจะดำเนินการจัดเตรียมเอกสารสำหรับใช้ในการลงทุน ซึ่งประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน, สัญญาค้ำประกัน และเช็คชำระหนี้เงินต้น และเช็คชำระดอกเบี้ย (แยกคนละฉบับ เช็คชำระเงินต้นสั่งจ่ายเมื่อครบสัญญา ส่วนดอกเบี้ย แบ่งชำระทุก 3 เดือน) ซึ่งผู้เกี่ยวข้องลงลายมือชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว นำมามอบให้ผู้ลงทุน โดยเงินที่ใช้สำหรับการลงทุน จะโอนเข้าบัญชีของนพ.บุญ โดยตรง
โดยฝ่ายผู้ให้กู้กับฝ่ายผู้กู้ และผู้ค้ำประกันไม่เคยพบกันแต่อย่างใด เว้นแต่ผู้ลงทุนจะไปพบนายแพทย์บุญฯโดยตรง สำหรับเช็คชำระเงินต้น และดอกเบี้ย นพ.บุญ จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัลพระราม 9 แต่เพียงผู้เดียว เมื่อครบสัญญาลงทุน (กู้ยืม) ตัวแทนหรือโบรกเกอร์ ก็จะมาโน้มน้าว ชักชวนให้ลงทุนต่อ โดยใช้เงินต้นเดิม และทำสัญญากู้ยืมใหม่ (เป็นการเปลี่ยนสัญญา) โดยโบรกเกอร์จะดำเนินการจัดทำเอกสารดังกล่าวข้างต้น มามอบให้ผู้ลงทุนเหมือนครั้งแรก
ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ผู้ลงทุนนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการ จ่ายเงิน ทำให้ได้รับความเสียหาย จำนวน 247 คน (จำนวน 1,032 คดี เช็คของกลางจำนวน 1,032 ฉบับ) รวมความ เสียหาย จำนวน 7,564,33,637 บาท
และจากการสืบสวนสอบสวนยังพบอีกว่า การออกเช็คของนพ.บุญ เป็นเพียงกลอุบายหลอกลวงผู้กล่าวหา และบุคคลทั่วไปโดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงิน ตามเช็คตั้งแต่ต้น การออกเช็คเป็นการหลอกลวงเพื่อทำให้ได้เงินไปจากผู้เสียหาย
โดยมีผู้เสียหายบางส่วนเห็นว่าการกระทำของนพ.บุญ กับพวก เป็นการทุจริตหลอกลวง เนื่องจากมีการปกปิดข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายมาแต่ต้น ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ และได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีผู้เสียหายรวมกัน 10 ราย จำนวนความเสียหาย รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,198,425,000 บาท
ระบุพฤติการณ์ ผู้ต้องหา1-2 เซ็นชื่ออาวัลเช็ค
ซึ่งจากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางบัญชี ธนาคารทหารไทยธนชาต สาขาเซ็นทรัลพลาซาพระราม 9 พบความเคลื่อนไหวของบัญชีชื่อนพ.บุญ ซึ่งเป็นบัญชีที่รับโอนเงินจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่ และเป็นบัญชีที่สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุน พบว่าหลังจากมีการรับโอนเงินจากผู้ลงทุนแล้ว ในวันเดียวกันหรือไม่เกิน 3 วัน จะยักย้ายเงินออกจากบัญชีดังกล่าวทันที โดยทำถอนเงินออกจากบัญชีด้วยเช็คสั่งจ่ายเข้าบัญชีอื่นของตนเอง
อีกทั้ง นพ.บุญ ยังมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค โดยเจตนาโยกย้ายเงิน และเพื่อปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คเพื่อไม่ให้ ผู้ลงทุนนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารได้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายได้รับชำระหนี้ ตั้งแต่ต้น จากการสอบสวนพบว่ากลุ่มผู้ต้องหา ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน โดย.นพ.บุญ เป็น ตัวการในการระดมทุน ผู้รับมอบเงินผู้ลงลายมือชื่อเป็น "ผู้กู้" ในสัญญากู้ยืม ผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค ทุกฉบับ และเป็นผู้รับเงินโดยตรงจากผู้เสียหายเข้าบัญชีโดยตรงและเป็นผู้ติดต่อชักชวนทำสัญญาโดยตรงกับผู้เสียหาย
และพบว่า น.ส.จารุวรรณ เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของหมอบุญ เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ เป็นผู้ลงลายมือชื่ออาวัลในเช็ค เป็นผู้ถือหัน THG ซึ่งนำมาค้ำประกันในสัญญากู้ต่างๆ และ น.ส.นลิน เป็นลูกสาวผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ เป็นผู้ลงลายมือชื่ออาวัลในเช็ค เหตุเกิดที่ธนาคารแห่งหนึ่ง สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า พระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพ
การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-2 เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,43วรรคแรก พรก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4,5,16 ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ฝากขัง คัดค้านประกันตัว
โดยพนักงานสอบสวนฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 2 จะครบกำหนดแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานอีก 10 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาทั้ง 2 ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ต้องหาที่ 1-2 ระหว่างการสอบสวน กำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 25พ.ย. – 6 ธ.ค. 2567
หากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และพนักงานสอบสวนและผู้เสียหายขอคัดค้านการให้ประกันตัว เนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายเป็นวงกว้าง ความเสียหายมีมูลค่าจำนวนมาก เกรงว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 จะหลบหนี และยากต่อการติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง รวมถึงไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับมีผู้เสียหายจำนวนมากที่ยังไม่เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน โดยมีตัวแทนผู้เสียหายคัดค้านการปล่อยชั่วคราวเช่นกัน
ทั้งนี้ ภายหลังศาลรับคำร้องฝากขัง น.ส.นลิน และน.ส.จารุวรรณ วนาสิน เเล้ว ผู้ต้องหาที่ 1-2 ยื่นคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 2 ล้านบาท โดยศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์และคำร้องคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เห็นว่า ตามคำร้องขออนุญาตปล่อยชั่วคราว มีเอกสารประกอบคำร้องที่ศาลต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก
จึงให้ไต่สวนคำร้องนี้ก่อนพิจารณาสั่งโดยสำเนาคำร้องของผู้ต้องหาทั้ง 2 ให้พนักงานสอบสวน และนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. โดยให้หมายขังผู้ต้องหาทั้ง 2 ในระหว่างสอบสวนไว้ก่อนและให้เบิกตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 มาในวันนัดไต่สวน โดยให้แจ้งพนักงานสอบสวน ทราบทางโทรศัพท์ก่อนล่วงหน้า